ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๙๒] สภาวธมฺม

 
Sudhipong.U
วันที่  2 ธ.ค. 2567
หมายเลข  49030
อ่าน  52

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “สภาวธมฺม

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

สภาวธมฺม อ่านตามภาษาบาลีว่า สะ - บา - วะ - ดำ - มะ มาจากคำว่า สภาว (มีภาวะความเป็นจริงของสิ่งนั้น , มีความเป็นจริงอย่างนั้น) กับคำว่า ธมฺม (สิ่งที่มีจริง) รวมกันเป็น สภาวธมฺม เขียนเป็นไทยได้ว่า สภาพธรรม หรือ สภาวธรรม หมายถึง สิ่งที่มีจริงๆ มีภาวะความเป็นจริงของสิ่งนั้น เช่น เห็น มีจริงๆ มีความเป็นจริงของเห็น ได้ยินมีจริงๆ มีความเป็นจริงของได้ยิน ความไม่รู้มีจริงๆ มีความเป็นจริงของความไม่รู้ โทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจมีจริงๆ มีความเป็นจริงของโทสะ เป็นต้น ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น กล่าวโดยรวมได้ว่า เป็นสภาพธรรม หรือ สภาวธรรม ซึ่งก็คือ สิ่งที่มีจริงๆ ที่เป็นจริงอย่างนั้น ทรงไว้ซึ่งความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริงนั้นๆ ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้

ตัวอย่างของสภาพธรรมที่มีจริง ยกตัวอย่าง โทสะ ตามข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์ มีดังนี้

“ที่ชื่อว่า โทสะ โดยความหมายที่เป็นธรรมที่ประทุษร้าย หรือเป็นเหตุให้ประทุษร้าย โทสะนั้นมีความดุร้าย เป็นลักษณะราวกับอสรพิษที่ถูกตี”


ก่อนการศึกษาพระธรรมยังไม่ได้เข้าใจอะไรเลย จนกระทั่งได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ จึงเริ่มที่จะเข้าใจพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียดโดยประการทั้งปวง โดยคำหรือพยัญชนะต่างๆ ก็เพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลสัตว์โลกให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง แม้แต่คำว่าสภาพธรรม หรือ สภาวธรรม ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นคำที่ใช้แทนกันได้ เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก มีความหมายครอบคลุมถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ได้แก่ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร) และนิพพาน (สภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ) มีลักษณะเฉพาะของตนๆ เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ไม่พ้นไปจากนามธรรมและรูปธรรม นามธรรมและรูปธรรม เป็นสภาพธรรม หรือ เป็นสภาวธรรม ที่มีจริง ซึ่งก็คือสิ่งที่มีจริงอย่างนั้น สภาพที่เป็นจริง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ทรงสภาพความเป็นจริงของแต่ละธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ไม่ได้เลย

สิ่งใดที่มีจริง ซึ่งดูเหมือนธรรมดาเหลือเกินในชีวิตประจำวัน แต่ธรรม คือ ธรรมดาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ทั้งหมด ตั้งแต่เกิดมามีใครมีอะไรบ้าง นอกจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก เมื่อวานนี้ ปีก่อน หรือเมื่อใดชาติไหนก็ตาม แต่จะพ้นจาก ๖ ทางนี้ไม่ได้เลย คือ เพราะมีตา จึงเห็น มีหู จึงได้ยิน มีจมูก จึงได้กลิ่น มีลิ้นจึงลิ้มรส มีกายจึงกระทบสัมผัสสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วใจก็คิดนึกถึงแต่เรื่องที่เห็น คิดถึงเรื่องที่ได้ยิน คิดถึงกลิ่น คิดถึงรส คิดถึงสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย นี่คือความเป็นจริง

จะเห็นได้ว่าสภาพธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงนั้น ก็เป็นปรมัตถธรรมด้วย หมายความว่าไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพนั้นได้เลย แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าพระองค์จะไปแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ ทรงไม่สามารถเปลี่ยนโลภะให้เป็นโทสะ ทรงไม่สามารถเปลี่ยนเห็น ให้เป็นอย่างอื่นได้ เป็นต้น แต่ว่าทรงได้ตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงอย่างไร ก็ทรงแสดงอย่างนั้นตามความเป็นจริง

บุคคลผู้ที่เข้าใจธรรมก็จะรู้ว่า สภาพธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงๆ นั้นเป็นปรมัตถธรรม และเป็นอภิธรรม ด้วยเพราะเหตุว่าเป็นการกล่าวถึงเรื่องสภาพธรรมทั้งหมด โดยละเอียดยิ่งที่ปฏิเสธความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลอย่างสิ้นเชิง ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาสภาพธรรมได้เลย สภาพธรรมใดที่เกิดขึ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เหตุปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมในขณะนั้นเกิดขึ้นเป็นไปทุกๆ ขณะ ด้วยเหตุนี้ธรรมหรือสภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น เป็น อนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครสามารถดลบันดาลได้ นี่คือความเป็นจริงของธรรม สิ่งใดที่จริง สิ่งนั้นไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้ จากไม่มี แล้วก็เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ไม่เหลือเลย

ต้องพิจารณาด้วยว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเรื่องของสิ่งที่มีจริงตามปกติ ตามธรรมดา แต่ทรงตรัสรู้สภาพที่แท้จริงของธรรมนั้นๆ ซึ่งทรงแสดงไว้ว่า สภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นปรมัตถธรรมมี ๔ อย่าง ไม่มากเกินกว่าที่จะศึกษา ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เพียงแต่ว่าแต่ละคน หรือบางคน ก่อนศึกษาธรรม ก็ไปแสวงหาธรรม เหนือจรดใต้ก็มี แต่พอรู้จักธรรมแล้ว หนีธรรมไม่พ้น เพราะทุกขณะของชีวิต มีแต่สิ่งที่มีจริงทั้งนั้นเลย เป็นธรรมทั้งหมด อย่างเช่น ทางตาที่กำลังเห็น ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่ว่าจะเป็นใครที่เห็น เมื่อเอารูปร่างออกหมด เห็น เป็น เห็น เห็นเป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ต้องมีจักขุปสาท (ตา) มีสีที่กระทบตา มีเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตเห็น และมีกรรมเป็นปัจจัยทำให้จิตเห็นเกิดขึ้น ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่มีทางที่เข้าใจอย่างถูกต้องได้เลย จะเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ก็ต่อเมื่อได้ฟังพระธรรม พิจารณาไตร่ตรองในความเป็นจริงของธรรม ถึงแม้ว่าเป็นสภาพธรรมที่มีอยู่จริง แต่ก็ต้องอาศัยผู้ที่ทรงตรัสรู้ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงแสดงจากการตรัสรู้ จึงจะทำให้เราสามารถเข้าใจทุกอย่างที่มีจริงเพิ่มขึ้นว่า ธรรมทั้งหลาย ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ นั้น เป็นอนัตตา ทุกอย่างบังคับบัญชาไม่ได้เลย หาสัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่ได้ จึงต้องอาศัยการฟังการศึกษาพระธรรมต่อไป เพราะทุกครั้งที่ได้ฟังพระธรรม ประโยชน์อยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกในความเป็นจริงของธรรมแต่ละหนึ่ง เป็นการค่อยๆ ฝังความไม่ใช่เราให้มั่นคงยิ่งขึ้นว่า ไม่ว่าจะได้ฟังได้ศึกษาในส่วนใดหรือคำใดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องว่าธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ทุกขณะเป็นธรรม ไม่มีเราเลยแม้แต่น้อย จึงขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย

ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..

บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ธ.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ