อัชฌัตตพหิทธาอารมณ์ มีตัวอย่างเช่นไร และเหตุใด อิสสาเจตสิกและอัปมัญญาเจตสิก จึงไม่เข้าประกอบ

 
ตั่งชิงชัน
วันที่  12 ธ.ค. 2567
หมายเลข  49090
อ่าน  142

กราบเรียนถามว่า อัชฌัตตพหิทธาอารมณ์ มีตัวอย่างเช่นไรบ้างคะ และเหตุใด อิสสาเจตสิกและอัปมัญญาเจตสิก จึงไม่เข้าประกอบคะ

กราบขอบพระคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 14 ธ.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง แต่เมื่อได้ศึกษา ค่อยๆ พิจารณาไตร่ตรองในความเป็นจริง ก็จะค่อยๆ เข้าใจได้

ถ้ากล่าวถึง อารมณ์ หรือ อารมฺมณ แล้ว หมายถึง สิ่งที่จิตและเจตสิกรู้ อารมณ์มีทั้งอารมณ์ภายในและอารมณ์ภายนอก (อัชฌัตตพหิทธารมณ์), อารมณ์ภายใน (อัชฌัตตารมณ์) ก็คือ สิ่งที่อยู่กับตนเอง ภายในตน เป็นของของตน ส่วน อารมณ์ภายนอก (พหิทธารมณ์) ก็คือ สิ่งที่เป็นของคนอื่น หรือ จะกล่าวอีกในนัยหนึ่งก็ได้ว่า ขันธ์ของตน เป็นอารมณ์ภายใน ส่วน ขันธ์ของคนอื่น เป็นอารมณ์ภายนอก

ทีนี้ก็มากล่าวถึง อิสสาเจตสิก กับ อัปปมัญญาเจตสิก
อิสสาเจตสิก ได้แก่ สภาพที่ทนไม่ได้เมื่อผู้อื่นได้ดี มีความสุข
ส่วน อัปปมัญญาเจตสิก ได้แก่เจตสิก ๒ ประเภท คือ กรุณา กับ มุทิตา, กรุณาเจตสิก เป็นสภาพที่สงสารหรือทนไม่ได้ เมื่อเห็นผู้อื่นมีทุกข์เดือดร้อน มุทิตาเจตสิก เป็นสภาพที่ยินดีปลาบปลื้มด้วยเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีมีความสุข

ดังนั้น จึงพิจารณาได้ว่า อิสสา หรือ ริษยา นั้น จะริษาทั้งของของตนและของของคนอื่นได้ไหม? คำตอบคือ ย่อมไม่ได้ เพราะเหตุว่า อิสสา ย่อมมีเฉพาะของของคนอื่นเป็นที่ตั้งเท่านั้น กล่าวได้ว่า อิสสา ย่อมมีอารมณ์ในภายนอกเท่านั้น คือ พหิทธารมณ์ โดยนัยเดียวกัน กรุณากับมุทิตา จะมีอารมณ์ทั้งภายในและภายนอกไม่ได้ ต้องมีอารมณ์ได้เฉพาะอารมณ์ที่เป็นภายนอกเท่านั้น กล่าวคือ กรุณาต้องมีสัตว์บุคคลอื่น เป็นอารมณ์ มุทิตา ก็มีสัตว์บุคคลอื่นเป็นอารมณ์เช่นเดียวกัน ดังนั้น ทั้งกรุณาและมุทิตา (อัปปมัญญาเจตสิก) จึงมีอารมณ์ที่เป็นอารมณ์ภายนอก (พหิทธารมณ์) เท่านั้น ครับ

... ยินดีในกุศลของคุณตั่งชิงชันและทุกๆ ท่านด้วยครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 14 ธ.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ตั่งชิงชัน
วันที่ 14 ธ.ค. 2567

กราบขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ