เรื่องยัญ

 
สารธรรม
วันที่  18 ธ.ค. 2567
หมายเลข  49124
อ่าน  95

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ถ้าชนเหล่านั้นประกอบในการบูชาด้วยยัญทั้งหลาย ไม่ข้ามพ้นชาติ และชราไปได้ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นดังนี้ ใครเล่าในเทวโลก และมนุษย์โลกได้ข้ามพ้นชาติ และชรา


ไม่ใช่เฉพาะคำสอนอื่นเท่านั้นที่มีเรื่องของการบูชายัญ แต่สัตว์โลกไม่ว่าจะเป็นลัทธิศาสนาใด พระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงของสัตว์โลกทั้งปวงที่ประพฤติเป็นไป คำว่า "ยัญ" ได้แก่ ไทยธรรมของที่จะให้ซึ่งแสวงหา ไม่ว่าจะเป็นการเสาะหา สืบหา หรือว่าการจัดแจง หรือว่าการให้ ก็ย่อมชื่อว่า บุคคลต่างๆ เหล่านั้นย่อมแสวงหายัญ

ขุททกนิกาย จุฬนิทเทส ปุณณกมาณวกปัญหานิทเทส มีข้อความว่า

ยัญคืออะไร ในพระไตรปิฎกมีคำอธิบายว่า

ไทยธรรม คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย เภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป ท่านเรียกว่า ยัญ ในอุทเทศว่า ยญฺญมกปฺปึสุ ปุถูธ โลเก

คำว่า ทักขิเนยยบุคคล ไม่ได้หมายความถึงผู้ที่เป็นพระอริยสาวก แต่หมายความถึง บุคคลผู้รับซึ่งเป็นบุคคลที่ผู้ให้มีความเลื่อมใส บุคคลนั้นจึงเป็น ทักขิเนยยบุคคลของผู้ให้

ข้อความต่อไป

หรือพระทักขิเนยยบุคคลนั้นมากอย่างไร (ผู้ซึ่งเป็นที่เลื่อมใสของแต่ละบุคคลที่จะให้กระทำบูชายัญนั้น)

พระทักขิเนยยบุคคลนั้นมาก คือ สมณะ พราหมณ์ ยาจก วณิพก สาวกหรือพระทักขิเนยยบุคคลนั้นมากอย่างนี้

ข้อความต่อไปมีว่า

ความว่า หวัง คือ หวังได้รูป หวังได้เสียง หวังได้กลิ่น หวังได้รส หวังได้โผฏฐัพพะ หวังได้บุตร หวังได้ภรรยา หวังได้ทรัพย์ หวังได้ยศ หวังได้ความเป็นใหญ่ หวังได้อัตภาพในสกุลกษัตริย์มหาศาล หวังได้อัตภาพในสกุลพราหมณ์มหาศาล หวังได้อัตภาพในสกุลคฤหบดีมหาศาล หวังได้อัตภาพในเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา หวังได้อัตภาพในเทวดาชั้นดาวดึงส์ หวังได้อัตภาพในเทวดาชั้นยามา หวังได้อัตภาพในเทวดาชั้นดุสิต หวังได้อัตภาพในเทวดาชั้นนิมมานรดี หวังได้อัตภาพในเทวดาชั้น ปรนิมมิตวสวัตตี

ข้อความต่อไป

ปุณณกพราหมณ์กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ถ้าชนเหล่านั้นประกอบในการบูชาด้วยยัญทั้งหลาย ไม่ข้ามพ้นชาติ และชราไปได้ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นดังนี้ ใครเล่าในเทวโลก และมนุษย์โลกได้ข้ามพ้นชาติ และชรา

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์จงตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์

ปุณณกพราหมณ์มีความสงสัยว่า เมื่อทุกคนบูชายัญอยู่ จะมีผู้ใดที่ข้ามพ้นชาติชราได้

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร ปุณณะ เราย่อมกล่าวว่า ความหวั่นไหวในโลกไหนๆ มิได้มีแก่พระอรหันตขีณาสพใด เพราะทราบฝั่งนี้ และฝั่งโน้นในโลก พระอรหันตขีณาสพนั้นเป็นผู้สงบ ขจัดทุจริตเพียงดังควัน ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง ได้ข้ามแล้วซึ่งชาติ และชรา ญาณ ปัญญา ความรู้ทั่ว ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ

ตรัสว่า "สังขา" ในอุทเทสว่า สงฺขาย โลกสฺมึ ปโรปรานิ

ซึ่งคำอธิบาย สงฺขาย โลกสฺมึ ปโรปรานิ มีว่า

คำว่า ปโรปรานิ ความว่า มนุษย์โลก ตรัสว่า ฝั่งนี้ เทวโลก ตรัสว่า ฝั่งโน้น กามธาตุ ตรัสว่า ฝั่งนี้ รูปธาตุ และอรูปธาตุ ตรัสว่า ฝั่งโน้น กามธาตุ รูปธาตุ ตรัสว่า ฝั่งนี้ อรูปธาตุ ตรัสว่า ฝั่งโน้น

คำว่า สงฺขาย โลกสฺมึ ปโรปรานิ ความว่า เพราะทราบ คือ รู้ เทียบเคียง พิจารณาให้แจ่มแจ้ง ทำให้ปรากฏซึ่งฝั่งนี้ และฝั่งโน้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร และอื่นๆ โดยไม่มีอุบายเครื่องสลัดออกได้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เพราะทราบฝั่งโน้น และฝั่งนี้ในโลก

นี่เป็นปัญญา เป็นญาณที่จะต้องรู้ ที่จะต้องเทียบเคียง ที่จะต้องพิจารณาให้แจ่มแจ้ง ที่จะต้องให้ปรากฏโดยความไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นโรคเป็นต้น

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร พราหมณ์ ท่านมีมานะเปรียบดังเครื่องหาบ มีความโกรธเปรียบเหมือนควัน มีการพูดเท็จเปรียบเหมือนเถ้า มีลิ้นเปรียบเหมือนทัพพี หฤทัยของสัตว์ทั้งหลายเปรียบเหมือนสถานที่บูชายัญของท่าน ตนที่ฝึกดีแล้ว เป็นกำเนิดของบุรุษ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอนจบของพระสูตรนี้ว่า

เราย่อมกล่าวว่า ความหวั่นไหวในโลกไหนๆ มิได้มีแก่พระอรหันตขีณาสพใด เพราะทราบฝั่งนี้ และฝั่งโน้นในโลก พระอรหันตขีณาสพนั้นเป็นผู้สงบ กำจัดกิเลสเพียงดังควัน ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง ได้ข้ามพ้นแล้วซึ่งชาติ และชรา

พร้อมด้วยเวลาจบคาถา ท่านพระปุณณกะบรรลุธรรมจักษุ เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา นั่งประนมอัญชลี นมัสการพระผู้มีพระภาค ประกาศว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ฉะนี้แล

ข้อความเรื่องยัญ แต่ว่าผู้ฟังบรรลุธรรมเป็นพระอริยสาวกในขณะที่จบพระ ธรรมเทศนา เพราะฉะนั้น การฟังธรรม ไม่ว่าเรื่องใดๆ ทั้งสิ้นเป็นประโยชน์เกื้อกูลที่จะทำให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจความละเอียดของสภาพธรรม เพื่อสติจะได้ระลึกตรงลักษณะที่ปรากฏถูกต้องตามความเป็นจริง อกุศลธรรมก็เป็นอกุศลธรรม กุศลธรรมก็เป็นกุศลธรรม สภาพธรรมแต่ละอย่างนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าสติระลึกตรงลักษณะ รู้ชัดในสภาพธรรมนั้น สภาพธรรมนั้นก็ปรากฏความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ก็จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน

ขอเชิญรับฟัง

ปุณณกมาณวกปัญหานิทเทส เรื่องยัญ


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ