เมื่อกิเลสรึงรัดแล้ว ปัญญาก็หยั่งไม่ถึง
[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้า 647
หริตจชาดก
[๑๒๔๖] ข้าแต่มหาพรหม โยมได้ยินเขาพูดกันว่า พระหาริตดาบสบริโภคกาม คำนี้ไม่เป็น จริงกระมัง ท่านยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่แลหรือ?
[๑๒๔๗] ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระองค์ได้ทรงสดับถ้อยคำ มีแล้วอย่างใด ถ้อยคำนั้น ก็เป็นจริงอย่างนั้น อาตมภาพเป็นผู้หมกมุ่น อยู่ในอารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งความหลง เดินทางผิดแล้ว.
[๑๒๔๘] ปัญญาที่ละเอียด คิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นเครื่องบรรเทาราคะ ที่เกิดขึ้นแล้วของท่าน มีไว้เพื่อประโยชน์อะไร ท่านไม่อาจบรรเทา ความคิดที่แปลกได้.
[๑๒๔๙] ข้าแต่มหาบพิตร กิเลส ๔ อย่างเหล่านี้ คือ ราคะ โทสะ โมหะ มทะ เป็นของมี กำลังกล้า หยาบคายในโลก เมื่อกิเลสเหล่าใด รึงรัดแล้ว ปัญญาก็หยั่งไม่ถึง.
[๑๒๕๐] โยมได้ยกย่องท่านแล้ว อย่างนี้ว่า หาริตดาบสเป็นพระอรหันต์ สมบูรณ์ด้วยศีล ประพฤติบริสุทธิ์ เป็นบัณฑิต มีปัญญาแท้.
[๑๒๕๑] ข้าแต่มหาบพิตร วิตกอันลามก เป็นไปด้วยการยึดถือนิมิตว่างาม ประกอบด้วย ความกำหนัด ย่อมเบียดเบียนแม้ผู้มีปัญญา ผู้ยินดีแล้ว ในคุณธรรมของฤๅษี.
[๑๒๕๒] ความกำหนัดนี้ เกิดในกาย เกิดขึ้นมาแล้ว เป็นของทำลายวรรณะของท่าน ท่านจงละความกำหนัดนั้นเสีย ความเจริญย่อมมีแก่ท่าน ท่านเป็นผู้อันชนหมู่มาก ยกย่องแล้วว่า เป็นคนมีปัญญา.
[๑๒๕๓] กามเหล่านั้น ทำแต่ความมืด ให้มีทุกข์มาก มีพิษใหญ่หลวง อาตมภาพจักค้นหามูลราก แห่งธรรมเหล่านั้น จักตัดความกำหนัด พร้อมเครื่องผูกเสีย.
[๑๒๕๔] ครั้นพระหาริตฤๅษี กล่าวคำนี้แล้ว มีความบากบั่นอย่างแท้จริง คลายกามราคะได้ แล้ว ได้เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก.
จบ หริตจชาดกที่ ๕