ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๙๖] เมตฺตาปารมี
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “เมตฺตาปารมี ”
โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย
เมตฺตาปารมี อ่านตามภาษาบาลีว่า เมด - ตา - ปา - ระ - มี มาจากคำว่า เมตฺตา (ความเป็นมิตรเป็นเพื่อนหวังดี ไม่หวังร้าย) กับ ปารมี (ธรรมที่ทำให้ถึงฝั่งแห่งการดับกิเลส, บารมี) รวมกันเป็น เมตฺตาปารมี เขียนเป็นไทยได้ว่า เมตตาบารมี แปลว่า ธรรมที่ทำให้ถึงฝั่งแห่งการดับกิเลสคือเมตตา แปลทับศัพท์เป็น เมตตาบารมี แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมฝ่ายดีที่เกิดขึ้นเป็นไป มีความเป็นมิตรเป็นเพื่อนหวังดี ไม่หวังร้ายต่อผู้อื่น มุ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น
ข้อความในปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ได้อธิบายความหมายของเมตตาบารมีไว้ ดังนี้
ชื่อว่า เมตตาบารมี ด้วยอัธยาศัยเกื้อกูลในสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ได้แสดงความเป็นจริงของเมตตาบารมีไว้ว่าเป็นสภาพธรรมที่เปรียบเสมือนน้ำ ดังนี้
ธรรมดาน้ำ ย่อมแผ่ความเย็นไปเสมอกัน ทั้งในคนดีและคนชั่ว ย่อมพัดพาซึ่งมลทินคือธุลีไป แม้ฉันใด ท่านจงแผ่เมตตาไปสม่ำเสมอ ในคนที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลและชนที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ฉันนั้นเหมือนกัน ท่านถึงฝั่งแห่งเมตตาบารมีแล้ว ก็จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้
การที่กุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง จะเกิดขึ้นจะเจริญขึ้น เป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง เพราะเป็นการทวนกระแสของกิเลสที่ได้สะสมมาอย่างมากและเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อรู้ความจริง เห็นคุณของกุศล เห็นโทษของอกุศล รู้สิ่งที่ควรทำและรู้ในสิ่งที่ไม่ควรทำ จึงเป็นสิ่งที่มีอุปการะเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน
เมื่อกล่าวถึงเมตตาแล้ว เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เป็นสภาพจิตที่ดีงามที่เกิดขึ้นในขณะที่มีความเป็นมิตร มีความเป็นเพื่อน มีความหวังดี มีความปรารถนาดี ไม่มีความหวังร้ายหรือมุ่งร้ายต่อผู้อื่น ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ การที่เมตตาจะมีหรือจะเกิดขึ้นจนมีกำลังยิ่งขึ้นในจิตใจของแต่ละบุคคลได้นั้น ต้องอาศัยการศึกษาพระธรรมและค่อยๆ อบรมให้เจริญขึ้น ในเบื้องต้นต้องเห็นโทษของความโกรธ และเห็นคุณของความไม่โกรธ ประการที่สำคัญ คือ การได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว การที่บุคคลใดจะมีเมตตาเพิ่มมากยิ่งขึ้นได้นั้น ก็เป็นเพราะผู้นั้นอบรมเจริญปัญญารู้ว่า สภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งสมมติบัญญัติเรียกชื่อไปตามอาการที่ปรากฏต่างๆ กันเท่านั้น แต่โดยลักษณะที่แท้จริงแล้วเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างแต่ละประเภทที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป สืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ ในชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นผู้มีเมตตาแล้ว ก็จะทำให้กุศลอีกหลายประการเกิดได้ แต่ข้อสำคัญต้องเป็นผู้ตรงจริงๆ เมตตาจึงเป็นธรรมเครื่องอยู่ที่ประเสริฐ ทำให้เป็นผู้อยู่ด้วยคุณความดี มีความเป็นมิตรเป็นเพื่อนหวังดี ถึงแม้ว่าจะมีใครกล่าวร้าย ว่าร้าย หรือว่ามีกิริยาอาการที่ไม่เหมาะสมประการใดก็ตาม บุคคลผู้นั้นก็ไม่หวั่นไหวได้
เมตตา ความเป็นมิตรเป็นเพื่อน เป็นสภาพธรรมที่เป็นประโยชน์ในทุกที่ทุกสถาน การที่จะมีเมตตา มีได้ทุกขณะเลยในขณะที่ไม่โกรธหรือว่าไม่ขุ่นเคืองใจ เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ที่จะรู้ว่าตัวเองมีเมตตาเพิ่มขึ้นหรือไม่ ก็จะสังเกตได้ว่าขณะใดที่โกรธ ขณะนั้นไม่มีเมตตา ขณะใดที่ขุ่นเคืองใจ แม้เพียงเล็กน้อย ขณะนั้นก็ไม่มีเมตตาต่อผู้อื่นแล้ว ถ้ารู้ตัวอย่างนี้ความโกรธก็จะลดลง เมตตาก็จะเพิ่มขึ้นแทนความโกรธได้ ให้อภัยได้ทันที ใจไม่เป็นทุกข์ไม่มีความเดือดร้อน หรือแม้กระทั่งมีผู้ที่เข้าใจพระธรรมวินัยผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง กระทำในสิ่งที่ผิดมากมาย ทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องไปโกรธเขา เนื่องจากว่าขณะที่โกรธ โทษเกิดแล้วที่ตนเอง เพราะเหตุว่าเป็นธรรมดาที่เมื่อเขาไม่รู้เขาก็ทำสิ่งที่ผิดเป็นอย่างนี้เสมอไป ไม่ว่าที่ไหนทั้งสิ้น หนทางเดียวที่จะช่วย ก็คือ มีความเป็นมิตรเป็นเพื่อนหวังดี ให้เขาได้เข้าใจพระธรรมวินัยถูกต้องแล้วเขาก็จะรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด หน้าที่ของเราก็คือ ขอให้เราได้มีส่วนทำให้เขาได้มีความเข้าใจถูกต้องในพระธรรมวินัยซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเขาต่อไป
เมตตา ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน ความหวังดี จึงเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เป็นบารมีที่ควรอบรมเจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ตนเองแล้วยังเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อบุคคลอื่นอีกด้วย ขณะที่กุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไปนั้น เป็นมิตรแท้ เป็นเพื่อนที่แท้จริง ที่คอยจะนำแต่ประโยชน์เกื้อกูลมาให้ ไม่นำความทุกข์ความเดือดร้อนมาให้เลยแม้แต่น้อย เพราะฉะนั้นแล้ว เกิดมาแล้วทุกคนต้องละจากโลกนี้ไปด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครรอดพ้นจากความตายไปได้ แม้แต่ตัวเราเองก็จะต้องตายเหมือนอย่างคนที่ตายไปแล้วนั่นแหละ จึงควรอย่างยิ่งที่จะสะสมกุศลธรรมเป็นที่พึ่งต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก ที่เจริญขึ้นจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน ไม่ขาดการฟังพระธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เมื่อปัญญาเจริญขึ้น กุศลธรรมประการต่างๆ มี เมตตาบารมี เป็นต้น ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามระดับขั้นของปัญญาด้วย ซึ่งเป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสของตนเองโดยตลอด เป็นประโยชน์เกื้อกูลสำหรับชีวิตอย่างแท้จริง
ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..