ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๙๗] ธมฺมรต
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ธมฺมรต ”
โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย
ธมฺมรต อ่านตามภาษาบาลีว่า ดำ - มะ - ระ - ตะ มาจากคำว่า ธมฺม (สิ่งที่มีจริง, คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) กับคำว่า รต (ผู้ยินดีแล้ว) รวมกันเป็น ธมฺมรต แปลว่า ผู้ยินดีแล้วในธรรม เป็นอีก ๑ คำที่แสดงถึงความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมฝ่ายดี คือ กุศลธรรมทั้งหลายที่เห็นประโยชน์ของพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีการฟัง มีการศึกษา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกและประพฤติตามพระธรรม ย่อมเป็นผู้เจริญในธรรม ไม่เสื่อมจากพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ดังนี้
ภิกษุมีธรรมเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในธรรม ใคร่ครวญอยู่ซึ่งธรรม ระลึกถึงธรรมอยู่ ย่อมไม่เสื่อมจากพระสัทธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้วก็ทรงแสดงพระธรรมเกื้อกูลแก่สัตว์โลก เพื่อให้สัตว์โลกได้เข้าใจอย่างถูกต้องในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง ละความไม่รู้ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดอกุศลต่างๆ มากมาย เพราะว่าอกุศลทั้งหลายเพิ่มขึ้นในแต่ละขณะที่ไม่รู้ เมื่อมีความเข้าใจถูก คือ ปัญญา ก็สามารถรู้ว่าสิ่งใดเป็นอกุศลซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดี และธรรมที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ไม่ดี คือความดีนั้นเป็นอย่างไร ธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล เนื่องจากว่าชีวิตประจำวันก็มีทั้งอกุศลและกุศล และอกุศลก็เกิดมากด้วย ซึ่งเป็นธรรมดาของผู้ที่ยังมีกิเลส เต็มไปด้วยกิเลสประการต่างๆ เป็นการยากมากที่จะฟันฝ่าคลื่นของอกุศลไปได้ จึงสำคัญอยู่ที่ความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ
ปัญญาเป็นเหมือนแสงสว่างที่จะนำไปสู่ทางของกุศล ห่างไกลจากอกุศลซึ่งเคยมีมากมาย แต่ว่าห่างทันทีไม่ได้เลย ต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป คล้อยตามความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้น ปัญญาไม่ได้นำโทษใดๆ มาให้เลย ทางของปัญญาเป็นทางที่จะทำให้กุศลทั้งหลายเจริญขึ้น
ตามความเป็นจริงแล้ว คำสอนใดก็ตามที่นำไปสู่ความอยากหรือความต้องการ นั่นไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่คำสอนใดที่จะทำให้เข้าใจถูกต้องในสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ได้ นั่นเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคำสอนที่มีค่าอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าเป็นวาจาสัจจะ เป็นคำจริงที่จะทำให้เกิดความเข้าใจสิ่งที่มีจริงซึ่งไม่เคยรู้เลย ถ้าเปรียบเทียบความไม่รู้กับความรู้ ก็จะเห็นได้ว่า ความไม่รู้ มีมากมายมหาศาล จะมีตัวตนที่จะไปเร่งรัดที่จะไปทำให้ความไม่รู้หมดสิ้นไป ทำให้โลภะหมดสิ้นไป ทำให้โทสะหมดสิ้นไป ทำให้กิเลสทั้งหลายหมดสิ้นไป ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
สำหรับข้อความที่ว่า “ผู้ยินดีแล้วในธรรม” นั้น คำว่าความยินดีในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงความติดข้องต้องการอย่างโลภะ แต่เป็นความพอใจ เป็นความปรารถนา เป็นความประสงค์ที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมแล้วประพฤติตามด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งย่อมจะมีแต่ความเจริญ ด้วยคุณความดีและปัญญา และผลสูงสุดของความเป็นผู้ยินดีในธรรม คือรู้แจ้งความจริงดับกิเลสตามลำดับขั้นจนถึงความเป็นพระอรหันต์ ดับกิเลสทั้งปวงได้หมดสิ้น ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย ความยินดีในอย่างอื่น เช่น ยินดีในทรัพย์สินเงินทอง เป็นต้น เป็นความติดข้องยินดีพอใจ มีแต่จะพอกพูนกิเลสอกุศลให้มากขึ้นต่อไปอีก ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิดต่อไปไม่สิ้นสุด ซึ่งจะต่างกันกับความยินดีในธรรมอย่างสิ้นเชิง เพราะความยินดีในธรรม ทำให้ปัญญาเจริญขึ้น จนสามารถดับกิเลสได้ในที่สุด สิ้นทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ได้
ควรอย่างยิ่งที่แต่ละคนจะเป็นผู้มีความเคารพในพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ด้วยความไม่ประมาท ด้วยความละเอียดรอบคอบ เพราะเหตุว่าตนเองเต็มไปด้วยความไม่รู้และกิเลสทั้งหลายที่ได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ถ้าไม่เริ่มฟังไม่เริ่มศึกษาไม่เป็นผู้ยินดีในธรรมเลย แล้วความเข้าใจถูกเห็นถูกจะเจริญขึ้นได้อย่างไร นับวันมีแต่จะพอกพูนความไม่รู้ให้มากขึ้นต่อไป และที่สำคัญ พระธรรมทุกคำลึกซึ้งอย่างยิ่งซึ่งสามารถทำให้เกิดปัญญารู้สิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริงได้ เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง
หนทางที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อละความไม่รู้และกิเลสทั้งหลาย มีหนทางเดียว เท่านั้น คือ ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความเป็นผู้ยินดีในธรรม เห็นประโยชน์ของพระธรรม ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ ปลูกฝังความเข้าใจในความเป็นจริงของธรรมทีละเล็กทีน้อย ปัญญาที่ได้สะสมในขณะนี้ ไม่สูญหายไปไหน สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ และจะมีกำลังเพิ่มมากยิ่งขึ้นถ้าได้ฟังได้ศึกษาพระ ธรรมต่อไปอีก
ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..