การระลึกถึงความตาย
"การระลึกถึงความตาย"
การระลึกถึงความตายเนืองๆ บ่อยๆ ย่อมมีประโยชน์แก่การเจริญสติปัฏฐาน เมื่อระลึกได้ว่าอาจจะตายเย็นนี้ หรือพรุ่งนี้ก็ได้ก็จะเป็นเหตุปัจจัยเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะผู้ที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นอริยบุคคลนั้น เมื่อจุติแล้ว ก็ไม่แน่ว่าจะปฏิสนธิในสุคติภูมิหรือทุคติภูมิ จะมีโอกาสได้ฟังพระธรรมและเจริญสติปัฏฐานอีกหรือไม่.
"ความเป็นเรา"
ความตาย พรากทุกอย่างจากชาตินี้ไปหมดสิ้น ไม่มีอะไรเหลืออีกเลยแม้แต่ความทรงจำ. เหมือนเมื่อเกิดมาชาตินี้ ก็จำไม่ได้ว่าชาติก่อนเป็นใคร หมดความเป็นบุคคลในชาติก่อนโดยสิ้นเชิง ฉันใด ชาตินี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเคยทำกุศลกรรม อกุศลกรรมอะไรมาแล้วเป็นบุคคลใด...ในชาตินี้ ก็จะต้องหมดสิ้น ไม่มีเยื่อใยหลงเหลือเกี่ยวข้องกับภพชาตินี้อีกเลย หมดความผูกพันยึดถือทุกขณะในชาตินี้ว่า "เป็นเรา" ฉันนั้น
"การประจักษ์แจ้ง"
การประจักษ์แจ้งลักษณะที่แท้จริงของปรมัตถธรรมจะพรากจากการยึดถือสภาพธรรมที่เกิดขึ้นว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน แม้แต่ความทรงจำที่เกิดขึ้นแล้วดับไปแล้วนั้น ก็เป็นเพียงแต่"นามธรรม"ประเภทหนึ่งเท่านั้น.
สติ ที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จนปัญญาประจักษ์แจ้งสภาพธรรมพรากจากความเป็น"ตัวตน"ของบุคคลในชาตินี้ได้ ก็ต่อเมื่อประจักษ์ลักษณะที่เป็น ขณิกมรณะ ของสภาพธรรมทั้งหลาย
เพราะ มรณะ หรือ ความตาย มี ๓ ประเภท คือ
๑. ขณิกมรณะ การเกิดขึ้นและดับไปของสังขารธรรมทั้งหลาย
๒. สมมติมรณะ ความตายในภพหนึ่งชาติหนึ่ง
๓. สมุจเฉทมรณะ ความตาย ซึ่งไม่มีการเกิดขึ้นอีกเลย คือ การปรินิพพาน.
ขออนุโมทนา
เมื่อระลึกถึงความตายบ่อยๆ ทำให้เราสลด ถอยกลับ งอกลับจากอกุศล และไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ
ขออนุโมทนา