บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ที่ประกอบด้วยสติปัฏฐาน

 
อิคิว
วันที่  29 ก.ย. 2550
หมายเลข  4953
อ่าน  4,811

พระไตรปิฎก และอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 427

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ

กามาวจรกุศลจิตเหล่านั้น แม้ทั้งหมดบัณฑิตพึงแสดงด้วยบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ

ถามว่า แสดงอย่างไร?

ตอบว่า พึงแสดง ชื่อบุญกิริยาวัตถุ๑๐ เหล่านี้ คือ

๑. ทานมัย บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน

๒. สีลมัย บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล

๓. ภาวนามัย บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา

๔. อปจิติสหคตะ บุญที่สหรคตด้วยนอบน้อม

๕. เวยยาวัจจสหคตะ บุญที่สหรคตด้วยการขวนขวาย

๖. ปัตตานุปทานมัย บุญสำเร็จด้วยการแผ่ส่วนบุญ

๗. อัพภานุโมทนมัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนา

๘. เทศนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม

๙. สวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม

๑๐. ทิฏฐุชุกรรม

บรรดาบุญกิริยาวัตถุเหล่านั้น ทานนั่นแหละชื่อว่า ทานมัย เป็นการทำบุญ (ปุญฺกิริยา) การทำบุญนั้นด้วย เป็นวัตถุ (คือที่ตั้ง) แห่งอานิสงส์ทั้งหลายนั้นๆ ด้วย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุญกิริยาวัตถุ ในบุญกิริยาวัตถุแม้ที่เหลือก็นัยนี้แหละ. บรรดาบุญกิริยาวัตถุเหล่านั้น เมื่อบุคคลให้ปัจจัยเป็นต้น ในบรรดาปัจจัย ๔ มีจีวรเป็นต้น หรือในบรรดาอารมณ์ ๖ มีรูปเป็นต้น หรือทานวัตถุ ๑๐ มีการให้ข้าวเป็นต้นนั้น เจตนาที่เป็นไปในกาลทั้ง ๓ คือ ในกาลเบื้องต้น ๑ ในกาลบริจาค ๑ ในการตามระลึกถึงด้วยจิตโสมนัสในกาลภายหลัง ๑ จำเดิมแต่การเกิดขึ้นแห่งปัจจัยเป็นต้นนั้นๆ ชื่อว่าเป็นบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยการให้ (ทานมย) . เจตนาที่เป็นไปของบุคคลผู้สมาทานศีล ๕ หรือศีล ๘ หรือศีล ๑๐ หรือของผู้ไปสู่วิหารด้วยคิดว่า เราจักบวชก็ดี ผู้บวชอยู่ก็ดี ผู้ยังมโนรถให้ถึงที่สุดแล้วรำพึงว่า เราบวชแล้วเป็นการดียิ่งหนอดังนี้ก็ดี ผู้สำรวมพระปาฏิโมกข์ก็ดี ผู้พิจารณาปัจจัยทั้งหลายมีจีวรเป็นต้นก็ดี ผู้สำรวมทวารมีจักขุทวารเป็นต้นในรูปเป็นต้นที่มาสู่คลองก็ดี ผู้ชำระอาชีวะให้บริสุทธิ์ก็ดี ชื่อว่า บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล (สีลมย) เจตนาที่เป็นไปของบุคคลผู้พิจารณาจักษุโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ผู้พิจารณาโสต ฯลฯ ผู้พิจารณามนะ ฯสฯ ผู้พิจารณารูปทั้งหลาย ฯลฯ ผู้พิจารณาธรรมทั้งหลาย ผู้พิจารณาจักขุวิญญาณ ฯลฯผู้พิจารณามโนวิญญาณ ผู้พิจารณาจักขุสัมผัส ฯลฯ ผู้พิจารณามโนสัมผัส ผู้พิจารณาเวทนาอันเกิดแต่จักขุสัมผัส ฯลฯ ผู้พิจารณาเวทนาอันเกิดแต่ มโนสัมผัส ผู้พิจารณารูปสัญญา ฯลฯ ผู้พิจารณาชรามรณะโดยความเป็นของไม่ เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา โดยอุบายแห่งวิปัสสนา (วิปสฺสนามคฺเคน) ที่พระสารีบุตรเถระกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทามรรค หรือว่าเจตนาแม้ทั้งหมดที่ไม่ถึงอัปปนาในอารมณ์ ๓๘ อย่าง ชื่อว่า บุญกิริยาวัตถุ สำเร็จด้วยภาวนา (ภาวนามย)

พึงทราบบุญกิริยาวัตถุที่สหรคต โดยเห็นผู้ใหญ่แล้วทำการต้อนรับการรับบาตรจีวร การอภิวาท และการหลีกทางให้เป็นต้น พึงทราบบุญกิริยาวัตถุที่สหรคต ด้วยการขวนขวายในกาลขวนขวายทางกาย ด้วยสามารถทำวัตรและทำวัตรปฏิบัติแก่ภิกษุผู้เจริญกว่าก็ดี โดยเห็นภิกษุผู้เข้าไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต แล้วรับบาตรชักชวนให้เข้าไปรับภิกษาในบ้านก็ดี โดยได้ยินคำว่า ท่านจงไป จงนำบาตรมาให้ภิกษุทั้งหลาย แล้วรีบไปนำบาตรมาให้เป็นต้นก็ดี. เมื่อบุคคลให้ทาน กระทำการบูชาด้วยของหอมเป็นต้น แล้วให้ส่วนบุญว่า ขอส่วนบุญจงมีแก่บุคคลชื่อโน้น หรือว่า ขอส่วนบุญจงมีแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้ พึงทราบว่า เป็นบุญกิริยาวัตถุอันเกิดแต่การให้ส่วนบุญ

ถามว่า ก็เมื่อบุคคลให้อยู่ซึ่งส่วนบุญนี้ บุญย่อมไม่หมดไปหรือ

ตอบว่า ย่อมไม่หมดไป เหมือนอย่างว่า บุคคลตามประทีปให้โพลงอยู่หนึ่งดวง แล้ว ก็ยังประทีปหนึ่งพันดวงให้สว่างโพลงได้เพราะประทีปหนึ่งดวงนั้น ใครๆ ไม่พึงพูดได้ว่า ประทีปดวงแรกสิ้นไปแล้ว แต่ว่า แสงสว่างแห่งประทีปดวงหลังๆ กับประทีปดวงแรกรวมกัน แล้วก็เป็นแสงสว่างมากยิ่ง ฉันใด เมื่อบุคคลให้อยู่ซึ่งส่วนบุญก็ฉันนั้นเหมือนกัน ชื่อว่าบุญทั้งหลายที่จะลดลงไปย่อมไม่มี พึงทราบว่า ย่อมมีแต่เจริญขึ้นเท่านั้น

พึงทราบบุญกิริยาวัตถุที่เกิดจากการอนุโมทนา ด้วยสามารถแห่งการอนุโมทนาส่วนบุญที่บุคคลอื่นให้แล้ว หรือว่าด้วยบุญกิริยาอื่นๆ ด้วยการเปล่งว่า สาธุ (ดี) สุฏฺฐุ (ดี) ดังนี้. ภิกษุรูปหนึ่งตั้งอยู่ในความอยากโดยคิดว่า ชนทั้งหลายจักรู้จักเราว่าเป็นพระธรรมกถึก ดังนี้ แล้วเป็นผู้หนัก (มาก) ด้วยลาภแสดงธรรม การแสดงธรรมนั้นไม่มีผลมาก ส่วนภิกษุรูปหนึ่ง ไม่หวังผลตอบแทนแสดงธรรม ที่ตนชำนาญแก่ชนเหล่าอื่น โดยอุบายที่จะให้บรรลุวิมุตติ การแสดงนี้ ชื่อว่าบุญกิริยาวัตถุ สำเร็จด้วยการแสดง (เทสนามย)

ภิกษุรูปหนึ่ง เมื่อฟังธรรม ย่อมฟังด้วยคิดว่า ชนทั้งหลายจักรู้เราว่าเป็นผู้มีศรัทธา การฟังนั้นไม่มีผลมาก. ส่วนภิกษุรูปหนึ่ง ย่อมฟังธรรมด้วยจิตอ่อนโยน ด้วยการแผ่ไปซึ่งประโยชน์เกื้อกูลว่า ผลมากจักมีแก่เราด้วยอาการอย่างนี้ การฟังธรรมนั้น ชื่อว่า บุญกิริยาวัตถุ สำเร็จด้วยการฟัง (สวนมย)

เมื่อบุคคลทำความเห็นให้ตรง ชื่อว่า บุญกิริยาวัตถุ ที่เกิดจากการทำความเห็นให้ตรง. แต่ท่านทีฆภาณกาจารย์กล่าวว่า ทิฏฐุชุกรรมเป็นลักษณะนิยม (คือเครื่องหมายแห่งความสมบูรณ์) ของบุญกิริยาทั้งหมด เพราะว่าเมื่อบุคคลจะทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมเป็นบุญมีผลมาก เพราะความเห็นอันตรงนั่นเอง ดังนี้


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
อิคิว
วันที่ 29 ก.ย. 2550

บรรดาบุญกิริยาวัตถุเหล่านั้น เมื่อบุคคลคิดอยู่ว่า เราจักให้ทาน ดังนี้ย่อมคิดด้วยกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง ดวงใดดวงหนึ่งโดยแท้ แม้เมื่อให้ (ทาน) ก็ย่อมให้ด้วยกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง ดวงใดดวงหนึ่งนั่นแหละ แม้เมื่อพิจารณาว่า ทานอันเราถวายแล้วดังนี้ ก็ย่อมพิจารณาด้วยกามาวจรกุศลจิต๘ ดวง ดวงใดดวงหนึ่งเหมือนกัน แม้เมื่อคิดว่า เราจักบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ดังนี้ ก็ย่อมคิดด้วยกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง ดวงใดดวงหนึ่งนั่นแหละ แม้กำลังบำเพ็ญศีลอยู่ ก็บำเพ็ญด้วยกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง ดวงใดดวงหนึ่งนั่นแหละ แม้พิจารณาว่า ศีลเราบำเพ็ญแล้ว ก็ย่อมพิจารณาด้วยกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง ดวงใดดวงหนึ่งเหมือนกัน

แม้เมื่อคิดว่า เราจักเจริญภาวนาดังนี้ ก็ย่อมพิจารณาด้วยกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง ดวงใดดวงหนึ่งนั่นแหละแม้เมื่อเจริญภาวนา ก็ย่อมเจริญด้วยกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง ดวงใดดวงหนึ่งนั่นแหละ

แม้เมื่อพิจารณาว่า ภาวนาเราเจริญแล้ว ดังนี้ ก็ย่อมพิจารณาด้วยกามาวจรกุศล ๘ ดวง ดวงใดดวงหนึ่งเหมือนกัน. แม้เมื่อคิดว่า เราจักทำความอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ ก็ย่อมคิดด้วยกามา-วจรกุศลจิต ๘ ดวง ดวงใดดวงหนึ่งนั่นแหละ

แม้เมื่อจะกระทำก็ย่อมกระทำด้วยกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง เหล่านั้นดวงใดดวงหนึ่ง แม้เมื่อพิจารณาว่าความอ่อนน้อมเรากระทำแล้ว ดังนี้ ก็ย่อมพิจารณาด้วยกามาวจรกุศล ๘เหล่านั้น ดวงใดดวงหนึ่ง

แม้เมื่อคิดว่า เราจักทำกรรมคือการขวนขวายทางกาย แม้เมื่อจะการทำ แม้เมื่อพิจารณาว่า เราทำการขวนขวายแล้ว ก็ย่อม พิจารณาด้วยกามาวจรกุศล ๘ เหล่านั้น ดวงใดดวงหนึ่ง แม้เมื่อคิดว่า เราจักให้ส่วนบุญ ดังนี้

แม้เมื่อกำลังให้ แม้เมื่อพิจารณา ส่วนบุญอันเราให้แล้วแม้คิดว่าเราจักอนุโมทนาส่วนบุญ หรือกุศลที่เหลือ ดังนี้ ก็คิดด้วยกามาวจรกุศลจิต ๘ เหล่านั้น ดวงใดดวงหนึ่ง แม้เมื่ออนุโมทนา ก็ย่อมอนุโมทนาด้วยกามาวจรกุศล ๘ เหล่านั้น ดวงใดดวงหนึ่ง

แม้เมื่อจะพิจารณาว่า คำ อนุโมทนา เราอนุโมทนาแล้ว ดังนี้ ก็ย่อมพิจารณาด้วยกามาวจรกุศล ๘ เหล่านั้นดวงใดดวงหนึ่ง แม้เมื่อคิดว่า เราจักแสดงธรรม ก็คิดด้วยกามาวจรกุศล ๘ เหล่านั้น ดวงใดดวงหนึ่ง แม้เมื่อแสดง ก็ย่อมแสดงด้วยกามาวจรกุศล ๘ เหล่านั้น ดวงใดดวงหนึ่ง

แม้เมื่อพิจารณาว่า เราแสดงเทศนาแล้ว ดังนี้ ก็ย่อมพิจารณาด้วยกามาวจรกุศล ๘ เหล่านั้น ดวงใดดวงหนึ่ง แม้เมื่อคิดว่าเราจักฟังธรรม ดังนี้ ก็ย่อมคิดด้วยกามาวจรกุศล ๘ เหล่านั้น ดวงใดดวงหนึ่งแม้เมื่อฟังก็ย่อมฟังด้วยกามาวจรกุศลจิต ๘ เหล่านั้น ดวงใดดวงหนึ่ง

แม้เมื่อพิจารณาว่า เราฟังธรรมแล้ว ดังนี้ ก็ย่อมพิจารณาด้วยกามาวจรกุศล ๘เหล่านั้น ดวงใดดวงหนึ่ง แม้เมื่อคิดว่า เราจักกระทำทิฏฐิให้ตรง ดังนี้ ก็ย่อมคิดด้วยกามาวจรกุศลจิต ๘ เหล่านั้น ดวงใดดวงหนึ่ง ก็เมื่อจะกระทำความเห็นให้ตรง ก็ย่อมกระทำโดยญาณสัมปยุต ๔ ดวงใดดวงหนึ่ง ก็เมื่อจะกระทำพิจารณาว่า ทิฏฐิอันตรงเรากระทำแล้ว ดังนี้ ก็ย่อมพิจารณาด้วยกามาวจรกุศลจิต๘ เหล่านั้น ดวงใดดวงหนึ่ง

มีสติระลึกว่าบุญกิริยาวัตถุอันเกิดจาก กามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง ดวงใดดวงหนึ่ง เมื่อบุคคลคิดอยู่ว่า เราจักให้ทาน เมื่อให้ (ทาน) และแม้เมื่อพิจารณาว่า ทานอันเราถวายแล้ว วาโยจึงเกิด และเมื่อวาโยเกิดกายวิญญัติ วจีวิญญัติรูป เกิดอาการต่างๆ ทั้งหลายในการทำบุญเกิดจาก จิต เจตสิก รูปไม่มีใครทำ การทำไม่ใช่ของใคร แต่การทำบุญเกิดเพราะการอาศัยกันเกิดขึ้นของ จิต เจตสิก รูป ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนและด้วยอารมณ์สติปัฏฐานที่ระลึกอาการต่างๆ ขณะทำบุญประกอบเข้ากับจิต จึงเกิดเป็นกามาวจรกุศลจิต สัมปยุตด้วยญาณ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
study
วันที่ 29 ก.ย. 2550

ขอบูชาคุณพระรัตนตรัย

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ครูโอ
วันที่ 29 ก.ย. 2550


ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
อิสระ
วันที่ 29 ก.ย. 2550
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Anutta
วันที่ 29 ก.ย. 2550

กำลังต้องการทบทวนอยู่พอดี

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
พุทธรักษา
วันที่ 29 ก.ย. 2550

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 29 ก.ย. 2550

อนุโมทนาด้วยนะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
นภัสสร
วันที่ 1 ต.ค. 2550
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
พุทธรักษา
วันที่ 1 ต.ค. 2550

ข้อความบางตอนจากหนังสือ "ปรมัตถธรรมสังเขป"

พระผู้มีพระภาคทรงนับและทรงจัดกามาวจรกุศลเป็นมหากุศล ๘ ดวงหรือ ๘ ประเภท โดยความต่างกันที่อุเบกขาเวทนาและโสมนัสเวทนา โดยความต่างกันที่ประกอบด้วยปัญญาและไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยความต่างกันที่เป็นอสังขาริกและสสังขาริก บางขณะจิตคิดจะทำกุศล แต่แล้วก็อ่อนกำลังไป "สติ" จะระลึกรู้ลักษณะของจิตขณะนั้นไหม ถ้าไม่ระลึกก็เป็น "เรา" ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเหล่านั้นตามความเป็นจริง ก็ไม่รู้ว่าสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่สัตว์ บุคล ตัวตน ไม่ใช่เรา

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
อิคิว
วันที่ 9 ต.ค. 2550
ขออนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
เจริญในธรรม
วันที่ 10 มี.ค. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
happyindy
วันที่ 1 พ.ค. 2551
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
suwit02
วันที่ 2 พ.ค. 2551
สาธุ
 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
่jurairat91
วันที่ 20 พ.ค. 2564

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 20 พ.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ