ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๗๑๑] ขมาเปสิ
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ขมาเปสิ”
โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย
ขมาเปสิ อ่านตามภาษาบาลีว่า ขะ - มา - เป - สิ แปลว่า ให้อดโทษให้, ขอโทษ, ขอขมา เป็นคำที่เตือนใจที่ดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะแสดงถึงความเป็นบุคคลผู้ที่เห็นโทษของตน สำนึกผิดแล้วขอโทษต่อผู้ที่ตนทำผิดหรือล่วงเกิน เพื่อจะได้สำรวมระวังไม่กระทำผิดอย่างนั้นอีก เหมือนอย่างตัวอย่างของนางสิริมาที่ทำผิดต่อนางอุตตราแล้วสำนึกผิดจึงได้ขอโทษต่อนางอุตตรา ตามข้อความในสัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ดังนี้
นางสิริมาเห็นกิริยาของคนทั้งสองสำคัญว่า เราเป็นเจ้าของเรือนจึงเกิดริษยาโกรธนางอุตตรา คิดว่า เราจักทำให้นางอุตตราลำบาก จึงลงจากปราสาท นางอุตตรารู้เหตุนั้นจึงนั่งบนตั่งแผ่จิตเมตตาไปยังนางสิริมานั้น นางสิริมาลงจากปราสาท เข้าโรงครัวเอาเนยใสที่เดือดเต็มกระบวยเพราะหุงเป็นขนมลาดลงบนศีรษะของนางอุตตรา เนยใสกลายไปดุจน้ำเย็นบนใบปทุม พวกทาสีพากันโบยนางสิริมาด้วยมือและเท้าให้ล้มลงบนแผ่นดิน นางอุตตราออกจากเมตตาฌานแล้วจึงห้ามพวกทาสี นางสิริมาขอโทษนางอุตตรา นางอุตตรากล่าวว่า พรุ่งนี้เจ้าจงขอขมาต่อพระพักตร์ของพระศาสดา
ข้อความในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อัจจยสูตร แสดงถึงความเป็นจริงของบุคคลผู้เป็นบัณฑิต ๒ จำพวก คือ เห็นโทษโดยความเป็นโทษ และยกโทษให้เมื่อผู้อื่นขอโทษ ดังนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตมี ๒ จำพวกนี้ คือ ผู้เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ๑ ผู้รับตามสมควรแก่ธรรมเมื่อผู้อื่นแสดงโทษ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตมี ๒ จำพวกนี้แล
ข้อความในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค อุทุมพริกสูตร แสดงถึงความเป็นจริงของบุคคลผู้ที่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วแสดงโทษ มีความตั้งใจที่จะสำรวมระวังต่อไป ย่อมจะมีแต่ความเจริญ ดังนี้
ผู้ใดเห็นโทษ สารภาพโทษตามความเป็นจริง ถือความสังวรต่อไป นี้เป็นความเจริญในพระวินัยของพระอริยเจ้า
แต่ละบุคคลมีการสะสมมาที่แตกต่างกัน ความคิด การกระทำและคำพูด จึงแตกต่างกันออกไปตามการสะสม มีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ซึ่งเมื่อว่าโดยความเป็นธรรมแล้ว ก็ไม่มีตัวตนสัตว์บุคคลเลย มีแต่ความเป็นไปของธรรม กล่าวคือ นามธรรม กับ รูปธรรม เท่านั้น
ไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิด ย่อมมีแน่นอนสำหรับบุคคลผู้ที่กระทำความผิด จะมากหรือน้อยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตัวเราเองก็เช่นเดียวกัน พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นเครื่องเตือนที่ดีอยู่เสมอ เพราะพระองค์ไม่เคยสอนให้เกิดอกุศลเลยแม้แต่น้อย, แม้จะทำผิด สามารถเกิดกุศลจิต เห็นโทษ พร้อมกับขอโทษผู้อื่นที่ตนล่วงเกินได้ พร้อมที่จะแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาด กระทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงามต่อไป ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งจะแตกต่างไปจากผู้ที่ไม่เห็นโทษ ขอโทษคนอื่นไม่ได้ทั้งๆ ที่ตนเองผิด แสดงถึงกิเลสที่สะสมมาซึ่งน่ากลัวเป็นอย่างมาก ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลที่ดีในชีวิตประจำวัน ปัญญานี้เองที่จะนำพาชีวิตไปสู่ความดีทั้งปวง
อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวถึงการขอโทษด้วยความสำนึกผิดจริงๆ ในการสนทนาธรรมที่โรงแรมเพชรรัชต์การ์เด้น จ.ร้อยเอ็ด วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ ดังนี้
“ดิฉันเอง ถ้าใครคิดว่าทำผิดไปแล้วจะขอโทษ ต้องกล่าวโทษของตนเองก่อนว่าคุณผิดอะไร ไม่ใช่ว่าไม่สำนึกผิดแล้วมาขอโทษ มาขอโทษเรื่องอะไรไม่ทราบ บอกมาเลย ทำผิดไปแล้วเรื่องอะไร และเดี๋ยวนี้ขอโทษที่ได้ทำผิดนั้น แต่ไม่ใช่มาถึงก็มาขอโทษแต่ว่าคุณทำผิดอะไรที่เป็นโทษ ต้องสำนึกก่อน ประโยชน์อยู่ตรงนี้ไม่ใช่อยู่แต่เพียงการกระทำทางกายทางวาจาที่ไม่จริงใจ ไร้ประโยชน์ ไม่ใช่การขอโทษ ไม่ใช่การพ้นโทษจริงๆ เพราะบุคคลนั้นเองจะสำนึกอยู่ตลอดเวลาในการที่ได้ทำผิดแล้ว ถ้ายังไม่แสดงโทษนั้นและขอโทษ ก็จะต้องรู้ว่ายังมีโทษนั้นอยู่จนถึงวันตายก็ได้และอาจจะขณะที่จะจากโลกนี้ไปก็อาจจะคิดถึงโทษนั้นก็ได้ จิตเศร้าหมองแน่นอน ไปไหนถ้าจิตเศร้าหมอง? เพราะฉะนั้น ใครที่เป็นอกุศลแล้วก็รู้ว่า ได้เป็นอกุศลขั้นทำผิดเป็นโทษแก่คนอื่นถ้าไม่สำนึกไม่มีวันขอโทษ แต่เพราะสำนึกว่าผิด เพราะฉะนั้น ก็บอกได้ว่าผิดอย่างนี้แล้วก็ขอโทษที่ได้กระทำไปแล้ว นั่นจึงจะเป็นการสำนึกผิดจริงๆ ”
อีกประการหนึ่งที่ควรจะได้พิจารณาคือ ตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ถึงการดับกิเลสได้ทั้งหมด จึงควรอย่างยิ่งที่จะเห็นใจคนที่มีกิเลสด้วยกัน ยิ่งถ้ามีการไตร่ตรองพิจารณา เข้าใจในเหตุในผลของธรรมจริงๆ ก็จะมีความเข้าใจ มีความเห็นใจแล้วมีเมตตาในบุคคลนั้นๆ ได้ และควรที่จะพิจารณาว่า การที่บุคคลนั้นจะมีความเห็นและพฤติกรรมที่ไม่ดีอย่างนั้นได้ ต้องมีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้เขาเป็นอย่างนั้น เมื่อเขาเป็นอย่างนั้นแล้ว เราก็ควรที่จะเข้าใจเห็นใจ แล้วก็ช่วยแก้ไขเท่าที่สามารถจะช่วยได้ ตามกำลังปัญญาของตนเอง ย่อมจะเป็นประโยชน์กว่าความโกรธ ความไม่พอใจ เพราะความโกรธ ไม่ว่าจะน้อยหรือมาก ก็ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ที่สำคัญคือ ไม่ลืมที่จะขัดเกลากิเลสของตนเองซึ่งมีมากเป็นอย่างยิ่งด้วย
ต้องอาศัยปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก ที่เกิดจากการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เท่านั้น จึงจะค่อยๆ ละคลายกิเลสอกุศลธรรมประการต่างๆ ไปตามลำดับได้ ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว การดับกิเลสเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความเข้าใจพระธรรมจึงเป็นประโยชน์เกื้อกูลสำหรับชีวิตอย่างแท้จริง เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมประการต่างๆ ซึ่งจะเป็นการขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน
ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..