สังฆทาน 3

 
Atom
วันที่  2 ต.ค. 2550
หมายเลข  4980
อ่าน  1,738

''บุญอยู่ที่จิตนะ ไม่ใช่พิธีการ สังฆทานก็อยู่ที่จิตเช่นกัน จะเป็นสังฆทานหรือไม่ ถ้าจิตไม่นอบน้อมดังเช่น พระอริยสงฆ์แล้วก็ไม่เป็นสังฆทาน แต่ที่สำคัญนะ การมีจิตนอบน้อมถวายแด่สงฆ์ อาจจะคิดว่าง่าย ไม่ใช่อย่างนั้นครับ ยากมากเพราะต้องเป็นปัญญาที่รู้พระคุณของพระสงฆ์และอริยสงฆ์ว่าคืออะไร ไม่ใช่นอบน้อมเฉยๆ ดังนั้น สังฆทาน จึงไม่ใช่ง่ายที่จะเป็นสังฆทาน แต่ไม่ว่าจะถวายกับภิกษุรูปใดแต่จิตมุ่งตรงนอบน้อมถวายแด่สงฆ์แล้วก็เป็นสังฆทาน''

๑. จากข้อความดังกล่าว ผมได้คิดใหม่และปฏิบัติใหม่ โดยปกติทางบ้านชอบไปวัดทุกวันเสาร์และวันพระ ถือเป็นกิจวัตรไปแล้วโดยไม่ได้หวังว่าบุญนั้นทำแล้วจะได้อะไรครับ ในชาติหน้าผมคิดใหม่โดยน้อมจิตน้อมใจมีความนอบน้อมและเคารพ ยำเกรงต่อสงฆ์ และมีเจตนาถวายแด่สงฆ์ทั้งคณะไม่เจาะจงพระรูปใดรูปหนึ่ง แต่ก็มีคำกล่าวเป็นทางการของการถวายสังฆทาน เช่น อิมานิ...... กรณีเช่นนี้ถือว่าผมได้ถวายเป็นสังฆทานใช่มั๊ยครับ

๒. เคยรู้มาว่าหากฆราวาสกินของสงฆ์ผลเป็นเปรตใช่หรือไม่ครับ หากผมถวายอาหารจำนวนมากๆ หลายหม้อ และหากอยู่ที่วัดพร้อมญาติเพื่อกินด้วย หลังจากถวายคณะสงฆ์ พระท่านต้องกล่าวสละอาหาร (อปโลกน์สังฆทาน) ก่อนใช่มั๊ยครับ? หากไม่ต้องกล่าวทำไมมีกำหนดคำกล่าวเป็นภาษาบาลี คือ ยัคเค.......ครับ? และการที่ตัวแทนพระรับอาหารไปต้องกล่าวสละแก่พระรูปอื่นๆ ได้ฉันกันใช่มั๊ยครับ

๓. หากผมอยากถวายพระไตรปิฏก ๙๑ เล่มเพื่อเป็นธรรมทานพร้อมตู้ ซึ่งรู้มาจากเจ้าอาวาสว่าของที่วัดเก่าชำรุด และก็ไม่ใช่ชุด ๙๑ เล่มเป็นชุด ๔๕ เล่ม ถ้าถวายเป็นสังฆทานได้มั๊ย และผลของการถวายพระไตรปิฏกมีผลอย่างไร

ขอบคุณครับขออนุโมทนากับทุกท่านที่ตอบเป็นธรรมทานครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 2 ต.ค. 2550

๑. ถ้าถวายมุ่งตรงต่อสงฆ์ เรียกว่าสังฆทาน

๒. อยู่ที่เจตนา ถ้าพระฉันเสร็จแล้ว ท่านไม่ต้องการแล้ว ควรเรียนถามท่านก่อน จากนั้นฆราวาสค่อยกินภายหลังย่อมไม่มีโทษ

๓. การถวายหนังสือพระไตรปิฎก เป็นการให้ธรรมะ ให้ความรู้ ไม่ควรติดในชื่อ "สังฆทาน" สิ่งใดที่เป็นความดี หรือกุศลควรกระทำ ไม่ควรห่วงเรื่องผลหรืออานิสงส์ ขณะใดที่ติดในผลจะทำให้ผลนั้นยิ่งน้อยลง เพราะทานมีอกุศลเป็นบริวาร

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ครูโอ
วันที่ 2 ต.ค. 2550

บุญกุศล ที่จะให้ผลดีเลิศนั้น จะต้องเป็นบุญกุศลที่ประกอบไปด้วยศรัทธา (ความเลื่อมใส) อันไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัย และผู้ที่จะมีศรัทธาอันไม่หวั่นไหวเลย คือพระอริยบุคคล ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปเท่านั้นครับ

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่...

ท่อธารบุญกุศล ๔ [ทุติยปุญญาภิสันทสูตร]

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Atom
วันที่ 3 ต.ค. 2550

ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Atom
วันที่ 3 ต.ค. 2550

เรียนถามท่านผู้รู้และสหายธรรม ช่วยอ่านข้อความดังกล่าวข้างล่างนี้ครับ เพราะได้กล่าวไว้ในการหวังในผลทาน แต่ผมได้ทราบจากท่านสหายธรรมว่า ไม่ให้หวังผลในทาน ตกลงเราสามารถหวังได้มั๊ยครับ? หรือความไม่หวังเป็นหนทางไปสู่นิพพาน แต่การหวังยังเวียนว่ายในวัฏฎะ เพราะว่าหากเรามีหวังในทานนั้น ก็เกิดให้เราอยากทำทาน มีกำลังใจที่จะทำบุญเพราะรู้ว่า ทำบุญแล้วดี แล้วได้ผล เป็นที่หวังในภพหน้าได้ และหวังได้ แต่อย่าอยากได้ ไม่รู้ว่าผมเข้าใจถูกต้องหรือเปล่าครับ

ดังข้อความที่กล่าวต่อไปนี้ในพระไตรปิกก ฉบับ ๙๑เล่ม ฉบับมหามงกุฏ ความตั้งใจในการให้ทานที่แตกต่างกัน ก็เป็นสาเหตุที่จะจำแนกที่อยู่ของเทวดาได้เหมือนกัน เล่ม ๓๗ หน้า ๑๓๙

...... พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ยังมีความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผลให้ทาน มุ่งการสั่งสมให้ทาน ให้ทานด้วยคิดว่าเราตายไปจักได้เสวยผลทานนี้ เขาให้ทานคือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีปและเครื่องอุปกรณ์ แก่สมณะหรือพราหมณ์ ดูก่อนสารีบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้

พึงให้ทานเห็นปานนี้หรือ. พระสารีบุตรกล่าวว่า. อย่างนั้นพระเจ้าข้า. พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนสารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลมีความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผลให้ทาน มุ่งการสั่งสมให้ทาน ให้ทานด้วยคิดว่าตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้ เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมมหาราช สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ (กลับมาเกิดในโลกมนุษย์นี้อีก) ดูก่อนสารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้แต่ให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์ เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมาคือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ดูก่อนสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า บิดามารดาปู่ย่าตายายเคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี เขาให้ทานคือ ข้าว ฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นยามา เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมาคือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้

ดูก่อนสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า บิดามารดา ปู่ย่าตายายเคยให้ เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากิน สมณะและพราหมณ์เหล่านี้ ไม่หุงหากิน เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้ไม่หุงหากิน ไม่สมควร เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดุสิต เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ แล้วยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้

ดูก่อนสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากินได้ สมณะและพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทานเหมือนฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี เวเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษี และภคุฤาษี บูชามหายัญ ฉะนั้น เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นนิมมานรดี เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้.

ดูก่อนสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกทานเหมือนอย่างฤาษี แต่ครั้งก่อนคือ อัฏฐกฤาษี ฯลฯ และภคุฤาษี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส เขาให้ทานคือ ข้าว ฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
study
วันที่ 3 ต.ค. 2550

จากข้อความในทานสูตรที่ท่านยกมามีการให้ทานนั้นมีหลายประเภทตามอัธยาศัยการให้ทานด้วยความหวังและผูกพันในทาน ทานนั้นเป็นทานระดับต่ำ แต่ผู้ที่ไม่มีความหวังไม่ผูกพันในทาน ทานนั้นสูงกว่าประณีตกว่า เรื่องของความหวังห้ามกันไม่ได้ แต่บัณฑิตผู้มีปัญญาให้ทานที่ประณีต ไม่หวังไม่ผูกพันในทาน ย่อมพ้นจากวัฏฏทุกข์นี้ได้

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Atom
วันที่ 3 ต.ค. 2550

ขอบคุณครับและขออนุโมทนาในบุญของธรรมทานครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ครูโอ
วันที่ 3 ต.ค. 2550

ทานที่ให้แล้วไม่ผูกพันในทาน ให้แล้วไม่เสียดาย ไม่รำพันถึง ไม่ห่วง ไม่โหยหาทานนั้นเป็น "ทานบารมี" ซึ่งเป็นทานที่ประกอบไปด้วยปัญญา ผู้ให้ให้เพื่อขัดเกลากิเลสคือ โลภะ มัจฉริยะ และกิเลสอื่นๆ เพื่อการออกจากวัฏฏะ คือบรรลุพระนิพพาน

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 30 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 9 มี.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ