เมตตา ๐๓ - ขณะเมตตาเกิด ไม่ริษยา
ผู้มีเมตตา...ย่อมไม่ริษยา
ขณะใดที่อิสสาคือริษยา ขณะนั้นก็ไม่เป็นมิตรกับผู้ที่ถูกริษยาแน่นอน ฉะนั้น ในวันหนี่งๆ ผู้เจริญเมตตาจริงๆ จึงต้องระลึกรู้ลักษณะอาการสนิทสนมที่จะต้องปราศจากความริษยาในบุคคลอื่นๆ ด้วย ในอัฏฐสาลินี อธิบายนิทเทสอิสสาสัญโญชน์ (๑๑๒๖) มีข้อความวินิจฉัยความหมายของริษยา (อิสสาสัญโญชน์) ว่า คำว่า "การริษยา" ในลาภสักการะ การกระทำความเคารพ การนับถือ การไหว้ การบูชา ของคนอื่นอันใดนั้น ความว่า การริษยา ซึ่งมีการขึ้งเคียดสมบัติของคนอื่นเป็นลักษณะว่า "จะประโยชน์อะไรด้วยสิ่งนี้แก่คนเหล่านี้" ในลาภเป็นต้นของคนเหล่าอื่นอันใด
พระโสดาบันบุคคลดับความริษยาเป็นสมุจเฉท เพราะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครสามารถบันดาลลาภสักการะความเคารพนับถือ การไหว้ การบูชาของบุคคลอื่นได้ แต่จะต้องมีเหตุปัจจัยที่ทำให้แต่ละบุคคลได้ลาภสักการะ การเคารพนับถือ กราบไหว้ บูชาจากบุคคลอื่น ฉะนั้นจึงไม่ควรที่จะริษยาใครเลย ขณะใดที่ริษยา ขณะนั้นไม่ใช่เมตตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา กุศลธรรมและอกุศลธรรมย่อมเกิดขึ้นตามเหตุ ตามปัจจัย ผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล ยังริษยาได้แม้บุคคลที่เป็นวงศาคณาญาติมิตรสหาย ไม่ใช่ริษยาแต่เพียงบุคคลอื่นเท่านั้น
..จากหนังสือ "เมตตา" เปิดอ่าน --> คลิกที่นี่
ผู้มีเมตตา ย่อมตื่นเป็นสุข หลับเป็นสุข เป็นที่รักของมนุษย์และอมนุษย์ ฯลฯ
ขออนุโมทนา
กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ ท่านอธิบายได้เข้าใจแจ่มแจ้งมากค่ะ อ่านแล้วเกิดความปีติค่ะ