เมตตา ๑๑ - ขณะเมตตาเกิด ไม่ต้องท่อง

 
chaiyut
วันที่  10 ต.ค. 2550
หมายเลข  5074
อ่าน  1,459

ท่อง...โกรธ...ท่อง...โกรธ...ท่อง...โกรธๆ ๆ (ลืมท่อง)

ท. การเจริญสมถภาวนามีอารมณ์ทั้งหมด ๔๐ แต่ผู้ใดจะเจริญอารมณ์กรรมฐานใดก็แล้วแต่อัธยาศัย และส่วนใหญ่ต้องท่อง เช่น ปถวีกสิณ เป็นต้น

ส. ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก ซึ่งท่านผู้ฟังจะได้ทราบว่า ต้องท่องหรือเปล่า ข้อความในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค พราหมณสังยุตต์ อรหันตวรรคที่ ๑ ธนัญชานี สูตรที่ ๑ ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ฯ ก็โดยสมัยนั้นแล นางพราหมณีชื่อธนัญชานีแห่งพราหมณ์ผู้ภารทวาชโคตรคนหนึ่ง เป็นผู้เลื่อมใสยิ่งในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ฯ ครั้งนั้นแล นางธนัญชานีพราหมณีกำลังนำภัตเข้าไปเพื่อพราหมณ์ภารทวาชโคตร ก้าวเท้าพลาดจึงเปล่งอุทาน ๓ ครั้งว่า ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธ เจ้าพระองค์นั้น ฯ

เมื่อนางธนัญชานีพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ภารทวาชโคตรได้กล่าวกะนางธนัญชานี พราหมณีว่า ก็หญิงถ่อยนี้ กล่าวคุณของสมณะโล้นอย่างนี้ อย่างนี้ ไม่ว่าที่ไหนๆ แน่ะหญิงถ่อย บัดนี้เราจักยกวาทะต่อพระศาสดานั้นของเจ้า ฯ

นางธนัญชานีพราหมณีกล่าวว่า พราหมณ์ ฉันยังไม่เห็นบุคคลผู้จะพึงยกถ่อยคำ ต่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นในโลกพร้อมด้วยเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ ข้าแต่พราหมณ์ เอาเถิด ท่านจงไป แม้ไปแล้วก็จักรู้ ฯ

ลำดับนั้นแล พราหมณ์ภารทวาชโคตรโกรธขัดใจ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

พราหมณ์ภารทวาชโคตรนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

บุคคลฆ่าอะไรได้ ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าอะไรได้ย่อมไม่เศร้าโศก ข้าแต่พระโคดม พระองค์ย่อมชอบใจการฆ่าธรรมอะไร เป็นธรรมอันเอก ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่าบุคคลฆ่าความโกรธได้ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าความโกรธได้ย่อมไม่เศร้าโศก

ดูกรพราหมณ์ พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมสรรเสริญการฆ่าความโกรธ อันมีมูลเป็นพิษ มีที่สุดอันคืนคลาย เพราะว่าบุคคลฆ่าความโกรธนั้นได้แล้วย่อมไม่เศร้าโศก ฯ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ภารทวาชโคตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ........ ฯลฯ

พราหมณ์ภารทวาชโคตรได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค ในเวลาไม่นานนักก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล

ท. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ลอยๆ อย่างนั้น แต่วิธีฆ่าความโกรธพระองค์ไม่ได้ทรงแสดงไว้

ส. พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมโดยประการทั้งปวงโดยละเอียด ให้เห็นโทษของอกุศลและให้เห็นคุณของกุศลทั้งหลาย พร้อมด้วยการอบรมเจริญปัญญาที่ฆ่าความโกรธได้เป็นสมุจเฉท

ท. การฆ่าความโกรธได้ก็มีอยู่ การเจริญวิปัสสนาก็ฆ่าได้ การเจริญสมถภาวนาก็ข่มได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเจริญสมถภาวนากับผู้ที่จะเจริญวิปัสสนาภาวนานั้นมีความต่างกัน ในพระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ ข้อ ๖๐๙ ในหัวข้อ ฌานนิทเทส ท่านกล่าวว่าผู้ที่จะชำระจิตให้หมดจดจากธรรมที่เป็นเครื่องกั้นจะต้องเดินจะต้องนั่ง เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะกำจัดนิวรณ์จำเป็นจะต้องเพียร ท่านอธิบายลักษณะของความเพียรว่า ผู้ที่จะทำความเพียรเพื่อกำจัดนิวรณ์จะต้องนั่งและเดินจงกรม แต่ผู้ที่เจริญวิปัสสนาภาวนาไม่จำเป็นที่จะต้องนั่งต้องเดินจงกรมในขณะที่มีความเพียร ขณะใดที่มีอารมณ์ ปรากฏลักษณะใดลักษณะหนึ่งก็รู้อารมณ์นั้น ดังนั้น การปฏิบัติวิปัสสนาและสมถภาวนามีความต่างกัน เพราะฉะนั้น ผู้เจริญสมถภาวนานั้นมีแบบแผนครับ

ส. เริ่มจากอะไร อย่างไร

ท. เริ่มด้วยการท่อง

ส. เริ่มจากการเข้าใจลักษณะของอารมณ์สมถภาวนา คืออารมณ์ที่ทำให้จิตสงบจากอกุศลในขณะนั้นได้ด้วยสติสัมปชัญญะ

ท. ในสมถภาวนา ผู้ที่ได้ฌานจะต้องผ่านนิมิตทั้ง ๓

ส. ก็ไกลไปจากตัวท่านตามความเป็นจริง เพราะเพิ่งเป็นผู้เริ่มต้นแท้ๆ ในชีวิตประจำวันเคยพิจารณาลักษณะของความโกรธไหม พราหมณ์ภารทวาชโคตรทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า บุคคลฆ่าอะไรได้ย่อมนอนเป็นสุข พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ฆ่าความโกรธได้ย่อมเป็นสุข ฆ่าความโกรธได้ย่อมไม่เศร้าโศก ในชีวิตประจำวัน ท่านที่ประกอบธุรกิจการงาน มีความทุกข์อะไรบ้างซึ่งเกิดจากการงาน หรือจากผู้ที่เกี่ยวข้องในวงงานและบุคคลที่ร่วมงาน มีความพอใจ มีความไม่พอใจ มีความท้อใจ คับแค้นใจ หรือขุ่นเคือง โทมนัสใจ ในธุระการงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น ขณะนั้นเป็นความทุกข์ทั้งหมด เป็นสภาพธรรมซึ่งไม่น่ายินดี เป็นลักษณะอาการต่างๆ ของความโกรธ ฉะนั้นการฆ่าความโกรธจึงไม่ใช่เวลาอื่น แต่เป็นเวลาที่กำลังมีเหตุการณ์นั้นๆ เกิดขึ้นเฉพาะหน้า และเมื่อสามารถที่จะระงับความโกรธในขณะนั้นๆ ได้ ก็เป็นสมถะ ขณะที่เห็นโทษของความโกรธ และไม่เห็นประโยชน์ของความโกรธเลย จึงรู้ว่าขณะนั้นแทนที่จะเป็นอกุศลจิตก็ควรที่จะเมตตา ซึ่งเมตตาก็สามารถจะเกิดได้จริงๆ ถ้าอบรมในขณะนั้น ไม่ใช่ในขณะอื่นในขณะที่กำลังเผชิญกับสภาพเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต ในธุรกิจการงาน ความคับแค้นใจความไม่สะดวกใจ อุปสรรคความขัดข้องต่างๆ ขณะนั้นเมื่อสามารถฆ่าความโกรธได้ย่อมเป็นสุข

..จากหนังสือ "เมตตา" เปิดอ่าน --> คลิกที่นี่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
wannee.s
วันที่ 11 ต.ค. 2550

ผู้ที่มีเมตตาสีหน้าจะผ่องใส

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
dron
วันที่ 8 ต.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 24 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 25 ก.พ. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ