โลภะและเมตตา
การอบรมเจริญเมตตา เป็นเรื่องละเอียดเพราะสภาพธรรมต้องตรงตามความจริง คือขณะที่กุศลจิตเกิดแม้เพียงเล็กน้อย ก็ต่างกับขณะที่โลภะเกิดมากๆ แต่ถ้าสติปัฏฐานหรือสติสัมปชัญญะไม่เกิด จะรู้ได้อย่างไรว่าขณะใดเป็นโลภะ ขณะใดเป็นเมตตา เมื่อไม่รู้จึงอาจเจริญโลภะแทนเจริญเมตตาก็ได้ ฉะนั้นจึงจำเป็นจะต้องศึกษาโดยละเอียดให้รู้ลักษณะที่ต่างกันของ โลภะและเมตตา
ข้อความในอัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์
อธิบาย นิทเทสโลภะ
(๑๐๖๕) แสดงลักษณะอาการต่างๆ ของโลภะที่ต่างกับเมตตา มีข้อความว่าชื่อว่า ความกำหนัดเนื่องด้วยความยินดี ชื่อว่าความกำหนัดนัก โดยความหมายว่ายินดีรุนแรง ชื่อว่าความคล้อยตามอารมณ์ เพราะยังสัตว์ทั้งหลายให้คล้อยตามไปในอารมณ์ทั้งหลาย
นี่เป็นชีวิตประจำวันที่จะต้องพิจารณาจริงๆ ว่าในขณะใดที่เมตตาไม่เกิด จิตย่อมคล้อยตามโลภะไปในอารมณ์ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่สังเกตจะไม่รู้เลยว่าจิตคล้อยตามโลภะอยู่เสมอ เมื่อมีความยินดีพอใจในอารมณ์ใด ก็กระทำตามความคิดตามความพอใจในอารมณ์นั้นทุกอย่าง ในขณะนั้นรู้ได้ว่าไม่ใช่เมตตา เมื่อรู้ลักษณะของโลภะแล้ว ภายหลังเมื่อเมตตาเกิด ก็จะเปรียบเทียบได้ถูกต้องว่า ลักษณะของโลภะต่างกับลักษณะของเมตตา การอบรมเจริญเมตตาไม่ใช่แต่เฉพาะเวลาที่เกิดโกรธ แม้แต่มิตรสหายวงศาคณาญาติ บุคคลในครอบครัว ซึ่งเป็นผู้ที่มีความผูกพัน ก็จะต้องพิจารณาให้รู้ความต่างกันของขณะจิตที่ประกอบด้วยเมตตา และขณะจิตที่ประกอบด้วยโลภะ ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญเมตตาจริงๆ จะไม่เว้นโอกาสใดเลย ไม่ใช่นึกจะเจริญเมตตาเฉพาะเวลาเกิดโทสะเท่านั้น
จากหนังสือ "เมตตา" เปิดอ่าน --> คลิกที่นี่