เมตตา ๑๔ - ขณะเมตตาเกิด ไม่กลัวภัย - ตุณฑิละชาดก
ผู้มีเมตตา...ย่อมไม่ปรารถนา...จะเบียดเบียนใคร
ขอกล่าวถึงอีกเรื่องหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่า เมตตาจิตเกิดได้โดยไม่ต้องท่อง ในอรรถกถาขุททกนิกาย ฉักกนิบาตชาดก ขุรปุตตวรรค ตุณฑิลชาดก มีข้อความโดยย่อว่า
ณ พระวิหารเชตวัน มีพระภิกษุรูปหนึ่ง เป็นผู้ที่กลัวตายเหลือเกินแม้แต่ได้ยินเสียงใบไม้ร่วง หรือเสียงอะไรตก หรือเสียงสัตว์ร้องเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็สะดุ้งหวาดกลัวอยู่เป็นนิตย์
พระภิกษุทั้งหลายก็ประชุมสนทนาธรรมกันว่า ภิกษุรูปโน้นเป็นผู้กลัวต่อความตาย จนกระทั่งได้ยินเสียงอะไรก็ตกใจ สะดุ้งหวาดกลัว อยู่ไม่เป็นสุข ไปไหนก็ไม่เป็นสุข ทั้งกลางคืน กลางวัน ก็มีความกลัวอยู่เป็นปกติธรรมดา
วันนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จมาสู่โรงธรรมสภา ที่พระภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันถึงพระภิกษุผู้กลัวความตายนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถาม ท่านพระภิกษุเหล่านั้นก็กราบทูลให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงว่า ภิกษุรูปนี้เป็นผู้ที่มีความกลัวตายไม่ใช่ในเฉพาะชาตินี้เท่านั้น แม้ในชาติก่อนๆ ก็เคยเป็นผู้ที่กลัวตายยิ่งนักดังนี้ แล้วพระองค์ก็ได้ทรงนำอดีตนิทาน คือ ความเป็นมาในอดีตชาติก่อนๆ ของภิกษุรูปนั้นเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า
ในอดีตกาลนานมาแล้ว นานจนแสนนานมานั้น ในเมืองพาราณสีมีหญิงชราคนหนึ่งเป็นคนทำไร่ฝ้าย เวลาไปไร่ก็ใช้ไม้เท้ายันกายไปตามปกติเป็นนิตย์ วันหนึ่ง ขณะที่กลับจากไร่ฝ้าย ผ่านป่าละเมาะ ก็ใช้ไม้เท้าที่สำหรับยันนำทางทุบๆ ตีๆ เหวี่ยงๆ ไปข้างๆ ทาง ครั้งนั้นมีแม่หมูตัวหนึ่งกำลังออกลูกอยู่ที่ใกล้ทางนั้น พอได้ยินเสียงไม้เท้าของนางก็ตกใจหนีไป ทิ้งลูกหมูไว้สองตัว พอหญิงนั้นเห็นลูกหมูเข้าก็เกิดความรักใคร่สงสาร และรู้ว่าแม่ของลูกหมูนั้นหนีไปแล้ว ก็เอาลูกหมูทั้งสองตัวมาเลี้ยงไว้ที่บ้าน และตั้งชื่อลูกหมูตัวโตว่า มหาตุณฑิละ ให้ลูกหมูตัวเล็กชื่อ จุฬตุณฑิละ เมื่อเลี้ยงไปนานๆ ก็มีความรักใคร่ในลูกหมูนั้นมาก เหมือนกับรักลูกของตัวเอง อุตส่าห์พยายามเลี้ยงดูลูกหมูเหมือนอย่างเลี้ยงดูบุตร แต่ว่านางรักลูกหมูตัวโตมากกว่าลูกหมูตัวเล็ก ต่อมาลูกหมูนั้นก็โตขึ้นและมีน้ำหนักมากขึ้น ในครั้งนั้นมีพวกบุรุษอันธพาลชอบบริโภคเนื้อหมู ไม่รู้ว่าจะไปหาเนื้อหมูที่ไหนมาบริโภค จึงพยายามขอซื้อลูกหมูจากหญิงชราผู้นั้น หญิงนั้นก็กล่าวว่า จะขายให้ท่านไม่ได้เพราะเรารักลูกหมูทั้งสองตัวนี้เหมือนกับบุตรของตัวเอง เพราะฉะนั้นจะขายลูกของตัวเองให้ไม่ได้เป็นอันขาด
พวกบุรุษอันธพาลนั้นก็ไม่ท้อถอย พยายามตีราคาลูกหมูนั้นให้สูงขึ้นอีก หญิงนั้นก็ไม่ยอมขายให้ พวกบุรุษอันธพาลก็คิดอุบายว่า ควรที่จะมอมเหล้าหญิงผู้นั้นแล้วขอซื้อในภายหลัง จึงจัดแจงเอาสุรามาเลี้ยงกันต่อหน้าหญิงนั้นแล้วชักชวนให้หญิงนั้นดื่มสุรามากขึ้นๆ จนกระทั่งเมา พอหญิงนั้นเมาก็ขอซื้อลูกหมู ซึ่งความเมาทำให้หญิงนั้นลืมความรักใคร่ลูกหมูชั่วระยะหนึ่งและรับปากว่าจะขายให้ แต่ว่าจะขายตัวเล็กให้ ตัวใหญ่ไม่ขาย เมื่อตกลงกันแล้วหญิงนั้นก็เอาอาหารดีๆ เข้าไปให้หมูตัวเล็กกิน แล้วเรียกให้มาหา ซึ่งลูกหมูก็ตกใจเพราะไม่เคยเห็นกิริยาอาการอย่างนี้มาก่อน
ลูกหมูที่ชื่อว่าจุฬตุณฑิละคิดว่า วันนี้มารดาให้ข้าวที่เทลงใหม่ๆ รางข้าวก็เต็ม มารดาก็ยืนอยู่ใกล้ๆ รางข้าวนั้น ใช่แต่เท่านั้น ยังมีคนเป็นอันมากยืนถือบ่วงอยู่ ฉันไม่พอใจจะบริโภคข้าวนั้นเลยลูกหมูตัวเล็กจึงวิ่งไปหาลูกหมูตัวโตแล้วแสดงอาการตกใจ ซึ่งมหาตุณฑิละก็กล่าวปลอบว่า เจ้าสะดุ้งกลัวภัยหมุนไปมาปรารถนาที่ซ่อนเร้นเป็นผู้ไร้ที่พึ่งจะไปไหนเล่า ดูกรน้องตุณฑิละ เจ้าจงมีความขวนขวายน้อยบริโภคอาหารเสียเถิด
เราทั้งสองมารดาเลี้ยงไว้ ก็เพื่อต้องการเนื้อ สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลกนี้ที่จะไม่ตายนั้นไม่มีเลย แม้จะเป็นสัตว์มีเนื้อหรือไม่มีเนื้อที่เป็นที่บริโภคของผู้อื่นได้หรือไม่ได้ก็จะต้องตายทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเจ้าจงอย่ากลัวตาย วันนี้เป็นวันที่เราจะต้องตาย เจ้าจงอย่าสะดุ้งตกใจกลัวเลย แม้เราจะไม่มีที่พึ่งอื่น มารดาของเราซึ่งเป็นที่พึ่งมาแต่วันก่อน มาวันนี้ก็พึ่งไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น เจ้าจงอย่ากลัว จงเป็นผู้ที่อาบน้ำใสสะอาด ล้างเหงื่อไคลเสียให้เรียบร้อย แล้วใช้เครื่องหอมลูบไล้เสียให้สะอาดหอมหวล เช่นนี้ เมื่อจะตายก็ตายอย่างมีความดี เพราะเราไม่เบียดเบียนใคร ดังนี้
ตามข้อความในพระไตรปิฎก มหาตุณฑิละกล่าวต่อไปว่า เจ้าจงหยั่งลงยังห้วงน้ำที่ไม่มีเปือกตม แล้วชำระเหงื่อและมลทินทั้งปวงเสีย จงถือเอาเครื่องลูบไล้ใหม่ๆ ที่มีกลิ่นหอมไม่รู้จักหายในกาลไหนๆ เถิด คนที่อยู่ล้อมรอบเห็นอาการของลูกหมูทั้งสองตัวว่า ตัวหนึ่งกลัวตาย แต่อีกตัวหนึ่งไม่กลัวตายและปลอบลูกหมูตัวเล็ก ทำให้ทุกคนรวมทั้งหญิงชราเกิดความสงสารและความมึนเมาก็หายไป ความเมตตากรุณาก็เกิดขึ้น บุรุษทั้งหลายเหล่านั้นที่มาคอยจะจับลูกหมู ก็ทิ้งบ่วงและไม่ต้องการที่จะซื้อลูกหมูนั้น ลูกหมูก็ปลอดภัยด้วยประการฉะนี้ (บุรุษพวกนั้นต้องท่องหรือเปล่าจึงเกิดเมตตา แม้ไม่ต้องท่องอะไรเลย เมตตาก็เกิดได้)
ก่อนที่ลูกหมูทั้งสองจะปลอดภัย จุฬตุณฑิละได้ถามมหาตุณฑิละว่าอะไรหนอที่ท่านกล่าวว่าห้วงน้ำไม่มีเปือกตม อะไรเล่าท่านกล่าวว่าเหงื่อไคลและมลทิน และอะไรเล่าท่านกล่าวว่าเครื่องลูบไล้ใหม่ๆ ที่มีกลิ่นหอมไม่รู้จักหายในกาลไหนๆ
มหาตุณฑิละกล่าวว่า ธรรม บัณฑิตกล่าวว่าเป็นห้วงน้ำใหญ่ ไม่มีเปือกตม บาปธรรมบัณฑิตกล่าวว่า เป็นเหงื่อไคลและมลทินและศีล บัณฑิตกล่าวว่าเป็นเครื่องลูบไล้ใหม่ที่มีกลิ่นหอมไม่รู้จักหายในกาลไหนๆ
(ธรรมทั้งหลายที่เป็นฝ่ายกุศลธรรมเป็นห้วงน้ำไม่มีเปือกตม เพราะสามารถที่จะชำระขัดล้างบาปธรรมซึ่งเป็นเหงื่อไคล และมลทินออกได้ และศีลนั้นย่อมเป็นเครื่องลูบไล้ซึ่งมีกลิ่นหอมไม่รู้จักหาย ไม่เป็นที่รังเกียจของใครเลย)
มหาตุณฑิละกล่าวต่อไปว่า มนุษย์ทั้งหลายผู้โง่เขลาฆ่าตัวเอง ย่อมพอใจทำบาป ส่วนสัตว์ผู้รักษาตัว ย่อมไม่พอใจทำบาป สัตว์ทั้งหลายรื่นเริงในเดือนมีพระจันทร์ เต็มดวงย่อมสละชีวิตได้ ฯ
จบตุณฑิละชาดกที่ ๓
เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสเล่านิทาน คือความเป็นมาในอดีตชาติของภิกษุผู้กลัวตายรูปนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่ามหาตุณฑิละในครั้งนั้นก็คือ ตถาคตที่ได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ และจุฬติณฑิละในครั้งนั้น ก็คือภิกษุผู้ที่กลัวต่อความตายรูปนี้
จะเห็นได้ว่าเมตตาเกิดได้โดยไม่ต้องท่อง การท่องเป็นการคิดที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยคือ เพราะเข้าใจว่าจะต้องท่องและเพราะเคยท่องมามากจึงเป็นปัจจัยให้จิตเกิดคิดเป็นคำๆ ตามที่เคยท่อง แต่ผู้ที่อบรมเจริญเมตตานั้น สติสัมปชัญญะระลึกรู้สภาพของเมตตาซึ่งเป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับอกุศลธรรม แล้วก็อบรมจิตให้มีเมตตาบ่อยๆ เมตตาก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น
ฉะนั้นจึงต้องศึกษาให้เข้าใจลักษณะของเมตตา ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยประการทั้งปวง และควรเข้าใจให้ถูกต้องว่าที่เมตตาจะเจริญจนมีกำลังขึ้นได้นั้นก็ต่อเมื่ออบรมเจริญเมตตาให้เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ว่าเมื่อท่องนานๆ เข้าแล้วเมตตาจะมีกำลังขึ้น แต่เมื่อมีความเข้าใจประโยชน์ของเมตตาและเมตตาเกิดบ่อยๆ ขึ้น เมื่อนั้นเมตตาจึงจะมีกำลังและเจริญขึ้น
..จากหนังสือ "เมตตา" เปิดอ่าน --> คลิกที่นี่