เมตตา ๑๖ - ขณะเมตตาเกิด อาศัยเหตุใกล้

 
chaiyut
วันที่  11 ต.ค. 2550
หมายเลข  5089
อ่าน  2,037

เมตตา...อาศัย สัตว์ บุคคล เป็นอารมณ์

ท. เหตุใกล้ที่จะทำให้เกิดเมตตาคืออะไร

ส. เห็นโทษของโทสะ

ท. เมตตาเกิดกับสิ่งที่ไม่มีชีวิตได้ไหม

ส. ไม่ได้ เพราะว่าพรหมวิหาร ๔ ต้องมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ แต่โทสะสามารถจะเกิดได้แม้ไม่ใช่ในสัตว์บุคคล

ท. เมตตาที่ปรากฏทางใจต้องผ่านทวารต่างๆ อย่างเช่น ตาเห็นรูปแล้วเกิดเมตตา

ส. เมตตามีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ ขณะเห็นเด็กเล็กๆ มีเมตตาได้ไหม ถ้าเมตตาเด็กเล็กๆ จะทำอย่างไร จะพูดด้วยดีๆ ช่วยจูงข้ามถนนหรือให้ขนมก็ได้ ซึ่งเป็นการอบรมให้มีเมตตายิ่งขึ้น จนรู้สึกตัวได้ว่าเมตตาเพิ่มขึ้นมากน้อยเท่าใด แต่ไม่ได้มุ่งหวังจะให้มีเมตตาโดยที่ไม่รู้ลักษณะของเมตตา

ท. เมตตาที่เกิดจากการเห็นกับการคิดนึก โดยผลแล้วต่างกันไหม

ส. วันหนึ่งๆ ก็เห็นสัตว์บุคคลทั้งหลาย ควรจะระลึกรู้ว่าขณะนั้นเห็นแล้วเกิดความรำคาญ เห็นแล้วคอยจ้องจับผิด หรือว่าเห็นแล้วก็มีความรู้สึกเป็นไมตรี หวังประโยชน์แก่บุคคลนั้น มีจิตใจที่แช่มชื่นยิ้มแย้มแจ่มใสเบิกบาน ไม่ทำกิริยาอาการใดๆ ที่จะให้บุคคลนั้นลำบากใจ แม้แต่การจะให้วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ให้ด้วยอาการที่จะทำให้ผู้รับเกิดความสบายใจ ความสุขใจ เพราะการให้ก็มีหลายลักษณะ บางคนอาจจะให้โดยที่ทำให้ผู้รับไม่มีความรู้สึกเป็นสุขที่จะได้รับ เพราะฉะนั้นขณะใดที่เมตตาเกิดขึ้นจริงๆ เจริญขึ้น เพิ่มขึ้นทั้งกายวาจาใจ ก็ย่อมประกอบด้วยเมตตาแม้แต่ขณะที่ไม่เห็น เพียงแต่วันหนึ่งๆ คิดว่าจะทำประโยชน์ให้แก่ใคร หวังประโยชน์เกื้อกูล คิดในทางที่จะเกื้อกูลขณะนั้นก็เป็นเมตตาโดยที่ไม่ต้องท่อง การท่องเป็นเรื่องง่าย แต่การอบรมเจริญเมตตา จริงๆ ยาก ไม่สำเร็จได้โดยเพียงท่อง แต่จะต้องเป็นผู้ที่รู้ลักษณะของจิตพร้อมสติสัมปชัญญะจริงๆ ในชีวิตประจำวันว่าขณะใดเป็นกุศลขณะใดเป็นอกุศล

ท. แต่เบื้องต้นจำเป็นต้องท่อง

ส. ขอเปรียบเทียบกับที่ท่านเคยบอกว่า ในการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้นต้องนึกเสียก่อนว่า ขณะที่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ และสิ่งที่ปรากฏเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งสามารถปรากฏทางตา และบางทีก็ต้องท่องว่า เห็นเป็นสภาพรู้ทางตา เป็นธาตุรู้ และสิ่งที่ปรากฏเป็นรูปธรรมซึ่งปรากฏทางตา เวลาได้ยินเสียงก็คิดว่าต้องท่องก่อนเพราะคิดว่าการท่องมีประโยชน์มาก ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว ควรจะเข้าใจให้ถูกต้องว่าสภาพธรรมทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แม้การคิดอย่างนั้นก็มีปัจจัยทำให้เกิดขึ้นบ่อยกว่า สัมมาสติที่ระลึกถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเป็นธาตุรู้เป็นนามธรรมที่กำลังปรากฏ

สัมมา แปลว่า ถูก ชอบ สติเป็นสภาพที่ระลึกรู้ ฉะนั้น สัมมาสติคือ สภาพธรรมที่ระลึกชอบ ระลึกถูก แต่ว่าระลึกถูกอย่างไร ระลึกชอบอย่างไรกำลังเห็น ระลึกชอบ ในลักษณะของรูปธรรมที่ปรากฏทางตา ซึ่งไม่ใช่นามธรรม ไม่ใช่สภาพรู้ ระลึกถูกในลักษณะของนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้เป็นธาตุรู้ที่กำลังเห็น ขณะนั้นเป็นสัมมาสติ ที่ระลึกถูก ระลึกชอบ ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าผู้ใดคิดว่า ต้องท่อง ก็เลยท่อง แทนที่สัมมาสติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม รู้ลักษณะของรูปธรรม แต่ถ้าพิจารณาสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาตามความเป็นจริง ก็รู้ว่าที่คิดอย่างนั้นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเพราะว่า ในขณะนั้น สัมมาสติยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม เป็นแต่เพียงขั้นคิดถึงเรื่อง คือคิดถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เมื่อปัญญาพิจารณารู้อย่างนี้ ต่อไปแทนที่คิดจะท่องก็เป็นสัมมาสติขั้นที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือลักษณะของรูปธรรม

เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่กฎเกณฑ์ แต่เป็นความคิดที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย บังคับไม่ได้ที่จะไม่ให้คิดอย่างนั้น แต่ความคิดอย่างนั้นยังไม่ใช่สัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ จนกว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมแล้วสัมมาทิฏฐิก็จะพิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่สัมมาสติระลึก จนกว่าปัญญาจะเพิ่มความรู้ลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ของสภาพธรรมทั้งหลาย

ท่านที่มีความเข้าใจถูกต้องในลักษณะของเมตตานั้น วันหนึ่งๆ ไม่ว่าเห็นสัตว์ บุคคล ชาติ ชั้น วรรณะ ภาษา ฐานะ ต่างๆ หรือกิริยาอาการที่ปรากฏต่างๆ กัน ก็รู้สภาพจิตในขณะนั้นว่าเป็นจิตที่มีเมตตาหรือว่าเป็นจิตที่มีมานะหรือไม่มีมานะ หรือว่าเป็นจิตที่ประกอบด้วยความตระหนี่ หรือความริษยา การอบรมเจริญคือ การเกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ เพิ่มขึ้น ฉะนั้นเมื่อเมตตาสามารถเกิดในขณะที่เห็นบุคคลใดหรือคิดถึงบุคคลใดในชีวิตประจำวัน นั่นคือเมตตาเกิดเพิ่มขึ้นเจริญขึ้นจนกว่าจะเกิดเมตตาได้ในบุคคลทั่วไป

ข้อสำคัญที่สุดก็คือ สมถภาวนาคือการอบรมเจริญความสงบ เพราะฉะนั้น ลักษณะของความสงบที่ประกอบด้วยเมตตา ต้องปรากฏให้รู้ในขณะนั้น

ท. การท่องก็เป็นประโยชน์ พอเห็นครั้งหนึ่ง ก็ท่องว่านี่สี เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏได้ทางตา หรือท่องว่านี่คือนาม

ส. ไม่ใช่ว่าไม่มีประโยชน์ มีประโยชน์ แต่ไม่ใช่สัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ และไม่ใช่กฎเกณฑ์ว่าจะต้องท่อง เพราะว่าพอเป็นกฎเกณฑ์บางท่านก็ยึดถือทันที แทนที่สัมมาสติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ผู้นั้นก็ท่องเพราะคิดว่าการท่องเป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นก็เลยท่องอยู่เรื่อยๆ ถึงแม้การท่องจะมีประโยชน์ แต่ต้องรู้ว่าจิตที่ท่องเกิดเพราะเหตุปัจจัยที่ยังไม่ใช่สัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ และควรที่จะได้พิจารณาว่าอะไรมีประโยชน์กว่ากัน สติที่เป็นสัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ ที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะที่ไม่ใช่ท่องนั้น มีประโยชน์กว่าหรือเปล่า

ท. อันนี้แน่นอน แต่ปัญญาของผมยังไม่ถึงนี่ครับ

ส. ยังไม่ถึง ก็แสดงว่ามีเหตุปัจจัยให้คิด แต่ในขณะนั้นปัญญาต้องรู้ด้วยว่ายังไม่ใช่สัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น ในขณะใดซึ่งมีปัจจัยที่จะให้สัมมาสติระลึกถูก ขณะนั้นจะรู้ว่าปัญญาที่จะอบรมเจริญขึ้นได้คือ ในขณะที่สัมมาสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่ท่อง

ท. ก็ถ้าท่องไปบ่อยๆ นานๆ จนกระทั่งสติเกิดบ่อยเข้า มากครั้งเข้า ก็จะพิจารณาด้วยความชำนาญเอง

ส. ชำนาญในการคิด แต่ไม่ใช่ชำนาญที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แทนที่จะเสียเวลาไปนานในการท่อง สัมมาสติก็จะเริ่มระลึกรู้ลักษณะนามธรรมและรูปธรรมบ้างทีละเล็กละน้อย แม้ว่าจะยังไม่ถูก ยังไม่ตรงทีเดียว แม้ว่าจะยังไม่ชัด แต่ก็เริ่มที่จะน้อมไปพิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่ท่อง ดีกว่าที่จะคิดว่าต้องท่องเสียก่อน หรือดีกว่าไปยึดติดว่าท่องมีประโยชน์ ควรแล้วแต่สติจะเกิด ถ้าเป็นสัมมาสติซึ่งระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมย่อมดีกว่า

..จากหนังสือ "เมตตา" เปิดอ่าน --> คลิกที่นี่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 11 ต.ค. 2550

..................ขออนุโมทนา.....................

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ตุลา
วันที่ 12 ต.ค. 2550

ขอกราบบูชาคุณพระรัตนตรัย

ขอขอบคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตที่นำข้อความดีๆ มาให้อ่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 24 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 23 ก.พ. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ