เมตตา ๑๗ - ขณะเมตตาเกิด เกื้อกูลกุศลธรรมอื่น - เมตตากถา
เจริญเมตตาจิต มีผลมากกว่ามีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบทเจริญอนิจสัญญา (สติปัฏฐาน) มีผลมากกว่าเจริญเมตตาจิต
.... การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์อันมาจากจตุรทิศ และการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คืองดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ จากการดื่มน้ำเมาหรือสุราและเมรัย อันเป็นฐานะแห่งความประมาท มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ การที่บุคคลเจริญเมตตาโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คืองดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ... และการที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญาแม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือ มีผลมากกว่าการที่บุคคลเจริญเมตตาจิต โดยที่สุดแม้เพียงเวลาที่สูดดมของหอม ฯ
ฉะนั้น จุดประสงค์ที่สำคัญคือการอบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อรู้ลักษณะสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง
เมตตาเป็นพรหมวิหาร ๑ ในพรหมวิหาร ๔ เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้อบรมเจริญเป็นอันมาก เพราะผู้ที่อบรมเจริญเมตตาภาวนาแล้วย่อมเกื้อกูลพรหมวิหารอื่นๆ เช่น ย่อมไม่เบียดเบียนบุคคลอื่น และย่อมสามารถยินดีด้วยในความสุขของบุคคลอื่นได้ แต่ผู้ที่ขาดเมตตาและไม่ได้อบรมเจริญเมตตาย่อมเบียดเบียนบุคคลอื่นและไม่อาจยินดีด้วยกับความสุขของคนอื่น การอบรมเจริญเมตตาย่อมเกื้อกูลอุปการะกุศลธรรมอื่นๆ ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้เป็นอันมาก ฉะนั้น จึงควรพิจารณาการเจริญเมตตาให้ละเอียดขึ้น
สำหรับท่านที่เจริญเมตตาด้วยการท่องนั้น ควรพิจารณาว่าท่านท่องอย่างไร
ท. ในตำรามีนี่ครับ ท่านกล่าวว่า "ขอสัตว์ทั้งปวง จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์ มีความสุข บริหารตนอยู่เถิด"
ส. สัตว์ทั้งปวงเลยใช่ไหมคะ
ท. ครับ อันนี้แปลเป็นภาษาไทยแล้วที่เรียกว่า แผ่เมตตา บาลี คือ "สพฺเพสตฺตา อเวรา อพฺยากตา อนีฆา สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ" ส่วนใหญ่ภาษาบาลีไม่ค่อยรู้ความหมาย ท่องเป็นภาษาไทยรู้ความหมายดีเพราะฉะนั้นเวลาท่องจึงท่องเป็นภาษาไทยว่า "ขอสัตว์ทั้งปวง ....เถิด" ขณะที่ท่องผมคิดว่าขณะนั้นมีสติครับ บางครั้งท่องไปๆ หยุดท่องเมื่อไรก็ไม่รู้ ท่องไปอาจจะฟุ้ง ๓ ครั้ง ๔ ครั้ง นึกคิดไปถึงเรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้าง แต่ว่าสักครู่หนึ่งก็นึกขึ้นมาได้ว่ากำลังท่องอยู่แล้วทำไมจึงไปนึกคิดถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้ ขณะที่ระลึกได้ว่าการท่องหายไป ขณะนั้นเป็นสติแล้วนี่ครับ เพราะฉะนั้นเมื่อมีสติก็ตั้งต้นท่องกันใหม่ว่า "ขอสัตว์ทั้งปวง ......เถิด"
ส. การที่จะแผ่เมตตาไปโดยเจาะจง หรือไม่เจาะจงนั้น ในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ยุคนัทธวรรค เมตตากถา
[๕๗๕] ท่านพระสารีบุตรแสดงว่า
เมตตาเจโตวิมุตติ แผ่ไปโดยไม่เจาะจงด้วยอาการ ๕
เมตตาเจโตวิมุตติ แผ่ไปโดยเจาะจงด้วยอาการ ๗
เมตตาเจโตวิมุตติ แผ่ไปสู่ทิศทั้งหลายด้วยอาการ ๑๐ ดังนี้
ซึ่งข้อความในวิสุทธิมรรค มีว่า วิกุพฺพนาสำเร็จแก่ผู้ได้อัปปนาจิต วิกุพฺพนา ได้แก่ อาการต่างๆ แม้คำที่ท่านพระสารีบุตร กล่าวไว้ในปฏิสัมภิทา ว่า เมตตาเจโตวิมุตติที่แผ่ไปไม่เจาะจงโดยอาการ ๕ เมตตาเจโตวิมุตติที่แผ่ไปในอาการ ๗ เมตตาเจโตวิมุตติที่แผ่ไปทั่วทิศโดยอาการ ๑๐ ดังนี้ ก็พึงทราบว่าย่อมสำเร็จแก่พระโยคีผู้มีจิตที่บรรลุอัปปนา แล้วเหมือนกัน ฉันนั้น ฯ
ที่ท่องมานั้นบรรลุอัปปนาสมาธิคือฌานจิตหรือยัง เมื่ออบรมเมตตายังไม่ถึงฌานจิตจะแผ่ไปได้อย่างไร ลักษณะของเมตตาเป็นสภาพของจิตที่สงบ เพียงแต่นึกถึงบุคคลที่มีเวรหรือนึกถึงบุคคลผู้เป็นที่รัก บุคคลผู้เป็นที่เฉยๆ ก็ยังไม่สงบ แล้วจะแผ่เมตตาขอให้สัตว์ทั้งปวง จะเป็นการแผ่เมตตาจริงๆ หรือเปล่า เพราะว่าการที่จะแผ่เมตตาจริงๆ โดยไม่เจาะจงหรือโดยเจาะจงด้วยอาการ ๕ หรือ ๗ หรือ ๑๐ โดยทั่วทิศทั้งหมดต้องเป็นผู้ที่บรรลุอัปปนาสมาธิแล้ว คือเป็นผู้ที่ได้ถึงฌานจิตแล้ว
เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่การเริ่มต้นด้วยการขอให้สัตว์ทั้งปวง ในเมื่อยังรู้ตัวเองจริงๆ ว่าไม่ได้เป็นอย่างที่ใจขอเลย เพราะว่าขณะที่นึกถึงคนที่ไม่ชอบใจเมตตาก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้น จะเป็นการขอให้สัตว์ทั้งปวง ได้อย่างไร ถ้าเป็นการขอให้สัตว์ทั้งปวง จริงๆ ปฐมฌาน คืออัปปนาต้องเกิดก่อนแล้วจึงจะแผ่ไปขยายไปทั้งโดยไม่เจาะจงและเจาะจงได้
ฉะนั้น ในขั้นแรกนั้นยังไม่ใช่นึกถึงสัตว์ทั้งปวง จริงๆ เพราะจิตยังสงบไม่ได้ เมื่อนึกถึงผู้ที่เป็นที่รักก็เกิดความยินดีพอใจเป็นโลภะ ไม่ใช่เมตตาเวลานึกถึงคนที่ชัง คนที่เป็นศัตรู ในขณะนั้นก็ไม่สงบ ฉะนั้นจึงจะเป็นสัตว์ทั้งปวงไม่ได้ การอบรมเจริญความสงบนั้นกุศลจิตที่สงบจะต้องเกิดจริงๆ แล้วก็เพิ่มขึ้นเป็นขั้นๆ ฉะนั้น ในขั้นแรกต้องรู้ลักษณะของเมตตาก่อนว่าเมตตามีลักษณะอย่างไร เพื่อที่ว่าจะได้อบรมเจริญเมตตาจริงๆ ได้ถูกต้องเช่นเดียวกับผู้ที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็จะต้องรู้ลักษณะของสติเสียก่อน
..จากหนังสือ "เมตตา"
เปิดอ่าน --> คลิกที่นี่