เมตตา ๑๘ - ขณะเมตตาเกิด เป็นธรรมะ

 
chaiyut
วันที่  12 ต.ค. 2550
หมายเลข  5092
อ่าน  1,500

รู้จักลักษณะของเมตตาเสียก่อน

โลภะไม่ใช่สติ การตรึกนึกคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่สติปัฏฐาน สติปัฏฐานต้องเป็นสภาพธรรมที่ไม่หลงลืม ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏผู้ที่จะอบรมเจริญเมตตาก็จะต้องเริ่มจากการรู้ลักษณะของเมตตาเสียก่อน

ในอัฏฐสาลินี อรรถกถา พระธัมมสังคณีปกรณ์ ทุกนิกเขปกถา เหตุโคจฉกะ พระบาลีนิทเทสอโทสะ

[๑๐๖๒] มีข้อความว่า ที่ชื่อว่า "ไมตรี" เนื่องด้วยเป็นกิริยาที่สนิทสนม อาการเมตตา ชื่อว่ากิริยาที่สนิทสนม ภาวะแห่งจิตอันเมตตาให้เป็นไปแล้ว มีความพรั่งพร้อมด้วยเมตตา ชื่อว่า ความสนิทสนม

ที่ชื่อว่า "การเอ็นดู" ด้วยอรรถว่า คอยปกป้อง อธิบายว่า คอยคุ้มครอง อาการที่คอยปกป้อง ชื่อว่า "กิริยาที่เอ็นดู" ภาวะแห่งจิตที่คอยปกป้อง ชื่อว่า "ความเอ็นดู"

ที่ชื่อว่า "ความแสวงหาผลประโยชน์เกื้อกูล" เนื่องด้วยคอยแสวงหาแต่ประโยชน์เกื้อกูล

ที่ชื่อว่า "ความสงสาร" เนื่องด้วยคอยหวั่นไหวตามไปด้วย

ด้วยบททั้งหมดเหล่านี้ ตรัสถึงเมตตาอันถึงขั้นอุปจาระและอัปปนา นั่นเอง ด้วยบทที่เหลือตรัสถึงอโทสะอันเป็นโลกียะและ โลกุตตระ

ขอให้พิจารณาพยัญชนะ ที่ว่า ที่ชื่อว่า "ไมตรี" เนื่องด้วยเป็นกิริยาที่สนิทสนม กำลังนั่งกันอยู่ในที่นี้หลายคน มีความรู้สึกเป็นมิตรมีความสนิทสนมด้วยใจจริงหรือเปล่า ถ้าด้วยใจจริงในขณะนั้นคือลักษณะของเมตตา

ไม่ว่าจะประสบพบเห็นใครในห้องนี้ นอกห้องนี้ ตามถนนหนทาง ในรถประจำทาง มีความรู้สึกเป็นมิตรต่อทุกคนหรือไม่ ถ้ายังไม่รู้สึกเป็นมิตรต่อทุกๆ คนที่ได้พบ ก็ยังไม่ต้องไปท่องถึงสัตว์ทั้งปวง เพราะว่าเป็นการไร้ประโยชน์ ในเมื่อบุคคลที่กำลังเห็นอยู่เดี๋ยวนี้มองแล้วขุ่นใจ เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งแผ่เมตตาถึงสัตว์ทั้งปวง จนกว่าอัปปนาหรือฌานจิตเกิดแล้วจึงจะแผ่ได้เพราะว่าเมตตาพรหมวิหารเป็นพรหมวิหารที่กว้างขวางหาประมาณไม่ได้ แต่ต้องเริ่มจากเมตตาจริงๆ

ท. แต่จุดประสงค์ของผมไม่ได้หวังที่จะได้ฌานจิต

ส. เพราะฉะนั้นจึงยังเป็นสัตว์ทั้งปวงไม่ได้ ต้องเป็นฌานจิตก่อนจึงจะเป็นสัตว์ทั้งปวงได้

ท. ที่ผมท่องว่าสัตว์ทั้งปวง จุดประสงค์ก็คือว่าจิตขณะที่ท่องนั้นเป็นกุศล

ส. แต่เวลาที่เห็นคนที่เป็นศัตรูหรือนึกถึงคนที่เป็นศัตรูเกิดความขุ่นเคืองใจ

ท. เป็นไปได้ครับ

ส. เพราะฉะนั้นก็อย่าเพิ่งไปถึงสัตว์ทั้งปวงเพราะไม่จริง

ท. ประโยชน์เอากันที่ว่าตอนที่ท่องขณะนั้นจิตเป็นกุศล

ส. แล้วก็เป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่ได้เริ่มอย่างถูกต้องโดยการรู้ลักษณะของเมตตาจริงๆ

ท. การเริ่มต้นในตำราท่านก็กล่าวไว้คือให้แผ่ให้กับตัวเองก่อน

ส. ที่ว่าแผ่ให้กับตัวเองก็มีข้อความว่า ยังไม่สำเร็จประโยชน์ จนกว่าจะมีเมตตาต่อคนอื่นจริงๆ เพราะว่าที่ใช้คำว่า "แผ่ให้กับตนเอง" นั้นหมายความถึงเตือนให้ระลึกถึงตนเท่านั้น

ท. จุดประสงค์ก็เพื่อจะทำสีมสัมเภทะ

ส. สีมะสัมเภทะกี่บุคคล

. ตนเอง ๑ เวรีบุคคล ๑ ปิยบุคคล ๑ มัชฌัตตบุคคล ๑

ส. ถ้ายังเมตตาเวรีบุคคลไม่ได้ก็ยังแผ่เมตตาไม่ได้ และถ้าแผ่เมตตาให้ผู้ที่รักครั้งใดเกิดราคะหรือเกิดโลภะ ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของเมตตาก็ยังไม่ได้อีกเพราะฉะนั้นบุคคลแรกที่ควรจะแผ่ควรเป็นใคร

ท. แผ่ให้กับตัวเอง

ส. นั่นเป็นการเตือนตนเท่านั้น ยังไม่สำเร็จประโยชน์จนกว่าจะนึกถึง บุคคลอื่นซึ่งมีคุณความดี มีศีลเป็นที่รักนับถือเสมอด้วยอาจารย์ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีเมตตาและเป็นผู้ที่มีกุศลธรรมที่จะทำให้จิตอ่อนโยน เวลาที่นึกถึงบุคคลนั้นก็ล้วนแต่นึกถึงในทางที่ดีที่ทำให้กุศลจิตเกิดขึ้น หวังดีต่อท่านด้วยประการทั้งปวง นั่นเป็นการเริ่มต้น

ในวิสุทธิมรรค สมาธินิทเทส พรหมวิหารนิทเทส ได้แสดงลักษณะและรส (กิจ) และปัจจุปัฏฐาน (อาการที่ปรากฏ) และ ปทัฏฐาน (เหตุใกล้) ของเมตตาพรหม วิหาร มีข้อความว่า

เมตตามีความเป็นไปโดยอาการประพฤติเกื้อกูล เป็นลักษณะ

มีการน้อมเข้าไปซึ่งประโยชน์เกื้อกูลในสัตว์ เป็นรส

มีการบำบัดความอาฆาต เป็นปัจจุปัฏฐาน

มีการเห็นสัตว์เป็นที่ชอบใจ คือไม่โกรธเคือง ไม่ขุ่นเคืองในขณะนั้น เป็นปทัฏฐาน

มีการเข้าไปสงบความพยาบาท เป็นสมบัติ

มีการเกิดความเสน่หา เป็นวิบัติ

..จากหนังสือ "เมตตา" เปิดอ่าน --> คลิกที่นี่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
แล้วเจอกันนะ
วันที่ 12 ต.ค. 2550

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 24 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 20 ก.พ. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ