เมตตา ๒๔ - อานิสงส์แห่งการเจริญเมตตา เป็นที่รักของมนุษย์

 
chaiyut
วันที่  13 ต.ค. 2550
หมายเลข  5113
อ่าน  1,832

ผู้ที่เจริญเมตตา...เป็นที่รักของมนุษย์ (และอมนุษย์)

เป็นที่รักของมนุษย์ พอจะรู้ตัวไหมว่าเป็นที่รักของบุคคลส่วนมากหรือเปล่า ด้วยการสำรวจตรวจลักษณะของจิตก็รู้ได้ว่าเหตุใดจึงเป็นที่รักและเหตุใดจึงไม่เป็นที่รัก บางคนอาจจะโทษกรรมเก่าว่า ทั้งที่ทำดีทุกอย่างก็ยังไม่เป็นที่รักของคนอื่นแล้วอาจจะน้อยใจเสียใจ แต่บุคคลอื่นนั้นสามารถเบียดเบียนทำอันตรายท่านได้เพียงด้วยกายและวาจา เพราะเมื่อมีโสตปสาทก็เป็นปัจจัยให้ได้ยินเสียงต่างๆ ซึ่งเป็นเสียงที่เบียดเบียนจิตใจ แต่บุคคลอื่นก็ไม่สามารถทำร้ายจิตใจของท่านได้เลย ท่านเองผู้เดียวเท่านั้นที่ทำร้ายจิตใจของท่านเอง คนอื่นสามารถทำร้ายแค่กาย แต่อกุศลของท่านเองทำร้ายจิตใจของท่าน เพราะฉะนั้นแทนที่จะนึกถึงเหตุอื่นที่จะทำให้จิตใจเศร้าหมองผู้ที่เจริญกุศลอบรมเจริญเมตตาพร้อมที่จะให้อภัยบุคคลอื่น เมื่อขณะนั้นจิตใจไม่เศร้าหมองก็ไม่มีใครสามารถทำร้ายจิตใจของท่านได้

บางท่าน อาจอยากเป็นที่รักของมนุษย์โดยลืมว่าท่านก็ต้องรักมนุษย์อื่นด้วยเหมือนกัน คือแทนที่จะคอยความรักของบุคคลอื่น หวังให้คนอื่นรักและเมตตาท่าน ท่านก็ควรจะรักและเมตตาคนอื่น เพราะว่าถ้าท่านรักและเมตตาคนอื่นท่านจะไม่มีความทุกข์เดือดร้อน เพราะสภาพของจิตที่เมตตาเป็นกุศลของท่านนั้นไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่ความต้องการที่จะได้ความรักหรือความเมตตาจากบุคคลอื่น

เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้ลักษณะของกุศลจิตและรู้ความต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิต ย่อมเป็นผู้ที่เจริญกุศลได้มากโดยไม่ห่วงใยว่าท่านจะเป็นที่รักหรือไม่เป็นที่รักของคนอื่น แต่ว่าท่านเองเป็นผู้ที่มีเมตตา เอื้อเฟื้อ เกื้อกูลอนุเคราะห์บุคคลอื่น เป็นฉันทะความพอใจของท่านที่เป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดขึ้น นี่เป็นลักษณะที่ต่างกันของโลภเจตสิกกับฉันทะเจตสิก ถ้าเป็นโลภะแล้ว มีความต้องการที่จะให้ตนเองเป็นที่รัก ต่างกับฉันทะซึ่งมีความพอใจที่จะเมตตาหรือเจริญเมตตาในบุคคลอื่น แม้ว่าท่านจะไม่เป็นที่รักของบุคคลอื่นก็ตาม

ฉะนั้น ลักษณะของ "ฉันทะ" ในการเจริญกุศลจึงต่างกับลักษณะของ"โลภะ" ผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานไม่สามารถรู้ชัดในลักษณะที่ต่างกันของฉันทะและโลภะ เวลาที่อยากเจริญกุศลก็เป็นไปด้วยความต้องการ คือต้องการกุศลบ้างหรือต้องการอานิสงส์คือผลของกุศลบ้าง ยังไม่สามารถที่จะทิ้งโลภะหรือความต้องการได้ เพราะรู้ว่า ถ้าทำกุศลแล้วย่อมได้รับผลของกุศล ใจที่มุ่งหวังผลของกุศลนั้นเป็นโลภะ ต่างกับผู้ที่มีฉันทะในการอบรมเจริญกุศลซึ่งไม่ใช่ต้องการกุศลด้วยโลภะ แต่เป็นความพอใจที่จะเจริญกุศลโดยไม่หวังผล เพราะเป็นอัธยาศัยจริงๆ จึงเป็นฉันทะในการอบรมเจริญกุศลไม่ใช่โลภะที่จะเจริญกุศล

เป็นที่รักของอมนุษย์ นี่ก็เช่นเดียวกัน คือไม่จำเป็นที่จะต้องหวังหรือนึกต้องการที่จะเป็นที่รักของอมนุษย์ แต่เป็นผู้มีฉันทะที่จะอบรมเจริญกุศลโดยไม่หวังผลหรืออานิสงส์ของกุศล ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ก็ย่อมเป็นที่รักของอมนุษย์

..จากหนังสือ "เมตตา" เปิดอ่าน --> คลิกที่นี่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 24 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 22 ม.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ