เมตตา ๒๗ - ผู้ที่จะมีเมตตาจริงๆ มีปรกติเจริญสติปัฏฐาน

 
chaiyut
วันที่  16 ต.ค. 2550
หมายเลข  5144
อ่าน  1,877

ผู้ที่จะมีเมตตาจริงๆ โดยที่ไม่มีปรกติเจริญสติปัฏฐาน...เป็นการยาก

มีข้อความเหมือนกันนี้ในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ยุคนัทธวรรคเมตตากถา ซึ่งแสดงอานิสงส์ของเมตตา ๑๑ ประการนี้ ซึ่งเริ่มจากข้อ ๕๗๔-๕๘๗ เป็นเรื่องการอบรมเจริญเมตตาซึ่งสงบมั่นคงยิ่งขึ้น เมื่อประกอบด้วยอินทรีย์ ๕ และพละ ๕ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะมีเมตตาจริงๆ โดยไม่ใช่เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานด้วยนั้นย่อมเป็นการยาก เพราะเมตตาที่จะสงบมั่นคงขึ้นนั้นต้องประกอบด้วยอินทรีย์ ๕ และพละ ๕ ที่ใช้คำว่า มั่นคง หมายความว่า ไม่หวั่นไหว เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ จึงจะรู้ได้ว่าขณะใดหวั่นไหวและขณะใดไม่หวั่นไหว ถ้าไม่รู้ก็จะต้องอบรมความรู้ขึ้น การที่จะละกิเลสได้นั้นต้องเป็นปัญญาที่รู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ถ้าปัญญาจะเกิดก็เกิดเดี๋ยวนี้ถ้าจะอบรมเจริญปัญญาก็อบรมเจริญเดี๋ยวนี้ เพราะขณะก่อนก็ผ่านไปแล้วขณะต่อไปก็ยังไม่มาถึง ถึงแม้ว่าปัญญาเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ก็สะสมสืบต่อไปในจิตขณะต่อๆ ไปซึ่งจะเป็นปัจจัยให้ปัญญาเจริญมั่นคงขึ้น

อานิสงส์ของเมตตานั้นเป็นการตรวจสอบแต่ละบุคคลว่า อบรมเจริญเมตตาได้แค่ไหน แทนที่จะหวังผลคือหวังอานิสงส์ โดยมุมกลับควรให้อานิสงส์ของเมตตาเป็นเครื่องพิสูจน์ตนเองว่า ประกอบด้วยเมตตามากน้อยเพียงใด ถ้ายังไม่ได้อานิสงส์ของเมตตา ๑๑ ประการ ก็แสดงว่ายังมีเมตตาเล็กน้อยเหลือเกินจึงไม่ได้อานิสงส์ตามที่ได้ทรงแสดงไว้ทั้ง ๑๑ ประการ

ถ. พระอรหันต์มีเมตตาเป็นปกติ ทำไมท่านพระมหาโมคคัลลนะจึงต้องปรินิพพานด้วยศาสตราวุธ

ส. นั่นเป็นเพราะอดีตกรรมของท่าน ท่านไม่ได้ทำกรรมตอนที่ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว

ถ. ถ้าอยู่ในสภาพของความเป็นพระอรหันต์ย่อมอยู่เหนือกรรม กรรมนี้ย่อมตามไม่ทัน ต้องเป็นอโหสิกรรม

ส. ตราบใดที่ยังไม่ปรินิพพานก็ยังมีปัจจัยที่จะให้อดีตกรรมให้ผลได้ เมื่อปรินิพพานแล้วไม่มีจิต เจตสิก รูป เกิดอีกเลย จึงไม่ต้องเกิดรับผลของกรรมใดๆ ทั้งสิ้น

การที่จะรู้ว่าตนเองมีเมตตามากน้อยเพียงใดนั้น ก็เมื่อสติเกิดระลึกเทียบเคียงจึงจะสังเกตเห็นลักษณะของเมตตาได้ ทั้งนี้เพราะเมตตานั้นมีลักษณะคล้ายโลภะ ถ้าไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะจะรู้ไม่ได้เลยว่าสภาพธรรมขณะนั้นเป็นเมตตาหรือเป็นโลภะ เพราะตามธรรมดาบุคคลใดเป็นที่รักทุกท่านก็ย่อมปรารถนาให้ผู้นั้นมีความสุข แต่ที่ปรารถนาให้ผู้นั้นมีความสุขนั้น เพราะความรักในบุคคลนั้น หรือเพราะเมตตาจริงๆ ถ้าเป็นผู้ที่มีสติ-สัมปชัญญะจะรู้ความต่างกันของขณะจิตในขณะนั้นว่า ประกอบด้วยโลภะหรือประกอบด้วยเมตตา เมื่อรู้อย่างนี้เมตตาย่อมเจริญขึ้นและโลภะย่อมลดน้อยลง

..จากหนังสือ "เมตตา" เปิดอ่าน --> คลิกที่นี่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 24 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 20 ม.ค. 2566

ยินดีในกุสลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ