เมตตา ๓๐ - การเจริญเมตตา ต้องอดทน - กกจูปมสูตร - โกธนาสูตร

 
chaiyut
วันที่  17 ต.ค. 2550
หมายเลข  5155
อ่าน  1,680

คุณของขันติ...เอื้อต่อการเจริญเมตตา

ผู้ที่เห็นโทษของอกุศลจิตและอกุศลกรรม จึงเจริญเมตตาเพื่อลดคลายการสะสมของอกุศลธรรมต่างๆ โดยพิจารณาเห็นคุณของขันติ ความอดทนที่จะเจริญกุศลเพื่อละอกุศล

ข้อความในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค กกจูปมสูตร

[๒๗๑] พระผู้มีพระภาคทรงโอวาท ภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่านมีอยู่ ๕ ประการ คือ กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๑ กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง ๑ กล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือหยาบคาย ๑ กล่าวด้วยคำมีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์ ๑ มีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าวอยู่ ๑ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคนอื่นจะกล่าวโดยการอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม จะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม จะกล่าวด้วยถ้อยคำอ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม จะกล่าวด้วยถ้อยคำมีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์ก็ตาม จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าวก็ตาม ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก เราจักอนุเคราะห์ผู้อื่นด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ เราจักมีเมตตาจิต ไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจักแผ่เมตตาจิตอันเสมอด้วยกระสอบหนังแมว (ที่นายช่างหนังฟอกดีเรียบร้อยแล้ว อ่อนนุ่มดังปุยนุนและสำลี แม้จะตีด้วยไม้หรือกระเบื้องก็ไม่มีเสียงดังก้องฉันใด จิตที่ประกอบด้วยเมตตา ก็ไม่มีสิ่งใดกระทบกระเทือนให้เกิดโกรธขึ้นได้ ฉันนั้น) .....

[๒๗๒] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้หากโจรผู้หยาบช้าเอาเลื่อยมีคันทั้งสองข้าง เลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ของพวกเธอ แม้ในเหตุนั้น ผู้ใดมีใจประทุษร้ายต่อโจรนั้น ผู้นั้นไม่ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของเรา เพราะมีใจประทุษร้ายต่อโจรนั้น

พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณา แสดงธรรมเพื่อประโยชน์สุขของสาวกผู้พิจารณาพระธรรมที่ได้ฟังแล้วน้อมประพฤติปฏิบัติตาม เพราะความโกรธย่อมนำทุกข์ประการต่างๆ มาให้ผู้โกรธ แต่หานำทุกข์เดือดร้อนมาให้แก่ผู้ถูกโกรธไม่ ถ้าผู้ถูกโกรธนั้นเป็นผู้ไม่โกรธ ผู้โกรธย่อมมีผิวพรรณทรามแม้จะอาบน้ำ ไล้ทา ตัดผม โกนหนวด นุ่งผ้าขาวสะอาดแล้วก็ตาม แต่เมื่อความโกรธครอบงำแล้วผิวพรรณก็ทราม หน้าขมึงเครียด บางคนความโกรธรุนแรงถึงกับทำให้ปากเบี้ยวไปทันที แม้เสียงก็สั่นพร่าเนื้อตัวก็สั่นเทิ้ม แม้จะนอนบนบัลลังก์อันลาดด้วยผ้าขนสัตว์ ลาดด้วยผ้าขาวเนื้ออ่อน ลาดด้วยเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด มีผ้าดาดเพดาน มีหมอนหนุนศีรษะและหนุนเท้าแดงทั้งสองข้างก็ตาม แต่เมื่อถูกความโกรธครอบงำแล้วก็ย่อมนอนเป็นทุกข์ และแม้จะเคยรู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว แต่เมื่อถูกความโกรธครอบงำแล้ว ก็กลับทำสิ่งเป็นโทษไม่เป็นประโยชน์ โดยประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เป็นเหตุให้เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงการเกิดในภูมิต่ำ คือ นรกและสัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น ตามควรแก่กรรมนั้นๆ

ข้อความในอังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต อัพยากตวรรคที่ ๑ โกธนาสูตร

[๖๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า คนโกรธมีผิวพรรณทราม ย่อมนอนเป็นทุกข์ ถือเอาสิ่งเป็นประโยชน์แล้วกลับปฏิบัติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์ ทำปาณาติบาตด้วยกายและวาจา ย่อมถึงความเสื่อมทรัพย์ ผู้มัวเมาเพราะความโกรธย่อมถึงความไม่มียศ ญาติมิตรและสหายย่อมเว้นคนโกรธเสียห่างไกล คนผู้โกรธย่อมไม่รู้จักความเจริญ ทำจิตให้กำเริบ ภัยที่เกิดมาจากภายในนั้นคนผู้โกรธย่อมไม่รู้สึก คนโกรธย่อมไม่รู้อรรถ ไม่เห็นธรรม ความโกรธย่อมครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดตื้อย่อมมีในขณะนั้น คนผู้โกรธย่อมก่อกรรมที่ทำได้ยากเหมือนทำได้ง่าย ภายหลังเมื่อหายโกรธแล้ว เขาย่อมเดือดร้อนเหมือนถูกไฟไหม้ คนผู้โกรธย่อมแสดงความเก้อยากก่อน เหมือนไฟแสดงควันก่อน ในกาลใดความโกรธเกิดขึ้น คนย่อมโกรธในกาลนั้น คนนั้นไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ และไม่มีความเคารพ คนที่ถูกความโกรธครอบงำย่อมไม่มีความสว่างแม้แต่น้อยเลย กรรมใดยังห่างไกลจากธรรม อันให้เกิดความเดือดร้อน เราจักบอกกรรมเหล่านั้น เธอทั้งหลายจงฟังธรรมนั้นไปตามลำดับ คนโกรธฆ่าบิดาก็ได้ ฆ่ามารดาของตนก็ได้ ฆ่าพระขีณาสพก็ได้ ฆ่าปุถุชนก็ได้ ลูกที่มารดาเลี้ยงไว้จนได้ลืมตาดูโลกนี้ ลูกเช่นนั้นกิเลสหยาบช้าโกรธขึ้นมาย่อมฆ่าแม้มารดานั้นผู้ให้ชีวิตความเป็นอยู่ได้ จริงอยู่ สัตว์เหล่านั้นมีตนเป็นเครื่องเปรียบเทียบเพราะตนเป็นที่รักอย่างยิ่ง คนโกรธหมกมุ่นในรูปต่างๆ ย่อมฆ่าตัวเองได้เพราะเหตุต่างๆ ย่อมฆ่าตัวเองด้วยดาบบ้าง กินยาพิษบ้าง เอาเชือกผูกคอตายบ้าง โดดเขาตายบ้าง คนเหล่านั้นเมื่อกระทำกรรมอันมีแต่ความเสื่อมและทำลายตนก็ไม่รู้สึก ความเสื่อมเกิดแต่ความโกรธ ตามที่กล่าวมานี้เป็นบ่วงของมัจจุราช มีถ้ำเป็นที่อยู่อาศัย บุคคลผู้มักโกรธ มีการฝึกตนคือปัญญา ความเพียรและสัมมาทิฏฐิ พึงตัดความโกรธนั้นขาดได้ บัณฑิตพึงตัดอกุศลธรรมแต่ละอย่างเสียให้ขาด พึงศึกษาในธรรมเหมือนอย่างนั้น เธอทั้งหลายปรารถนาอยู่ว่า ขอความเป็นผู้เก้อยาก อย่าได้มีแก่เราทั้งหลายเลย เธอทั้งหลายเป็นผู้ปราศจากความโกรธ ไม่มีความคับแค้นใจ ปราศจากความโลภ ไม่มีความริษยา ฝึกฝนตน ละความโกรธได้แล้วเป็นผู้ไม่มีอาสวะ จักปรินิพพาน ฯ

จบสูตรที่ ๑๑

จบอัพพยากตวรรคที่ ๑

..จากหนังสือ "เมตตา" เปิดอ่าน --> คลิกที่นี่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 24 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 10 ม.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ