ฆ่าอะไรหนอจึงอยู่เป็นสุข ฆ่าอะไรหนอจึงไม่เศร้าโศก

 
ckitipor
วันที่  19 ต.ค. 2550
หมายเลข  5172
อ่าน  2,665

การที่เมตตาจะเจริญขึ้นได้นั้นจะต้องเริ่มจากเห็นโทษของ "โทสะ" โทสะเป็นธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเมตตา ขณะใดโทสะเกิดขึ้น แสดงว่าขณะนั้นขาดเมตตา ผู้เจริญเมตตาต้องเห็นโทษของโทสะว่า โทสะเป็นสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง ประทุษร้ายตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน เมื่อโทสะเกิดขึ้นครอบงำจิตขณะใด ย่อมเผาจิตให้รุมร้อน และย่อมเป็นเหตุให้เบียดเบียนผู้อื่นด้วยกายบ้าง ด้วยวาจาบ้าง ตามกำลังของโทสะที่เกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น ในสังยุตตนิกาย ฆัตวาวรรคที่ ๘ ฆัตวาสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า...

(๑๙๘) เทวดายืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า ฆ่าอะไรหนอจึงอยู่เป็นสุข ฆ่าอะไรหนอจึงไม่เศร้าโศก ข้าแต่พระโคดม พระองค์ชอบฆ่าอะไรซึ่งเป็นธรรมอันเดียว ฯ

(๑๙๙) พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ฆ่าความโกรธเสียได้จึงอยู่เป็นสุข ฆ่าความโกรธเสียได้จึงไม่เศร้าโศก แน่ะ เทวดา พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญการฆ่าความโกรธซึ่งมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน เพราะฆ่าความโกรธนั้นเสียแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ฯ

แสดงว่าเมื่อความโกรธเกิดขึ้นนั้น ย่อมเดือดร้อนเป็นทุกข์ ไม่สบาย ใจ และย่อมหวังร้าย คิดร้าย ประทุษร้ายผู้ที่ตนโกรธ ด้วยกาย วาจา ให้เขาเป็นทุกข์ เดือดร้อน ปราศจากความสุขด้วยประการต่างๆ เช่น ทุบตี ประหัตประหาร กราดเกรี้ยว กล่าววาจาหยาบคาย เผ็ดร้อน รุนแรง เมื่อประทุษร้ายผู้อื่นด้วยกาย วาจา แล้วย่อมสาสมใจที่ได้กระทำเช่นนั้น แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ความโกรธมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน ฉะนั้น ขณะเบียดเบียน ประทุษร้ายผู้อื่นสาสม กับความโกรธจึงเป็นยอดหวานที่มีรากเป็นพิษ เพราะกระทำกรรมใดย่อมได้รับผลของกรรมนั้น เมื่อการประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น เกิดเพราะโทสะเป็นอกุศลกรรม จึงมีรากเป็นพิษ คือ เป็นเหตุให้ผู้กระทำอกุศลกรรมนั้นเอง เป็นผู้ได้รับผลของอกุศลกรรมนั้น โดยประสบความวิบัติทุกข์ยากต่างๆ และเป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉานตามควรแก่ความหนักเบาของอกุศลกรรมนั้นๆ

..จากหนังสือ "เมตตา" เปิดอ่าน --> เมตตา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 19 ต.ค. 2550

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
udomjit
วันที่ 23 ต.ค. 2550

อนุโมทนาค่ะ ยังไม่สามารถฆ่าความโกรธได้ค่ะ แล้วความกลัวละค่ะ จะจัดการอย่างไร เคยอ่าน paper เรื่องฮีสทีเรีย ว่าเกิดเพราะบุคคลไม่สามารถจัดการความกลัว จัดการความโกรธด้วยเมตตาแล้ว จะจัดการความกลัวได้อย่างไร ไม่ใช่ความกลัวแบบกลัวผี แต่เป้นความกลัวที่แตกต่างกันมาก ไม่สามารถอธิบายลักษณะได้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ครูโอ
วันที่ 23 ต.ค. 2550

ผู้ที่ดับโทสะได้เป็นสมุจเฉท คือ พระอนาคามี เพราะฉะนั้น พระอนาคามีไม่เกิดโทสมูลจิตที่จะกลัวในสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะสิ่งที่วิปลาสไปจากความจริง แต่ในปุถุชน ผู้ที่ยังมีโลภะ โทสะ โมหะ ลึกและหนาแน่น เมื่อยังมีกิเลส ก็ย่อมจะมีเหตุปัจจัยให้กลัวเกิดได้ เมื่อกลัวเกิดขึ้น กลัวก็ต้องดับ ก็ต้องหายกลัว และก็ไม่มีใครต้องกลัวตลอด 24 ชั่วโมง แต่เวลา "กลัว" เกิด ถ้าเป็น "เรา" ที่กลัว ก็อาจต้องทุกข์ใจจนสะดุ้งหรือตกใจหายวาบ จึงต้องยอมรับความจริงที่ว่า ถ้ายังเป็น "เรา" กลัว ก็ย่อมหลงลืมสติ ที่จะพิจารณาขณะที่ "กลัว" นั้นว่าเป็น "ธรรมะ" ที่เกิดตามกำลังของอกุศลจิตหลังจากเห็น คิดนึกในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เห็น ได้ยิน คิดนึกในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ได้ยิน ฯลฯ เช่น ความตาย ความสูญหายของทรัพย์สิน โรคภัยไข้เจ็ยของตน หรือญาติผู้เป็นที่รัก ความรู้สึกที่ไม่มั่นคงในชีวิต หรือ ความชราที่ปรากฏขณะส่องกระจก เป็นต้น

แต่การกลัวที่เป็นไปด้วยกำลังของกุศลจิต คือ การกลัว "บาป" และ "ผลของบาป" เป็นการกลัวที่จะล่วงอกุศลกรรม ออกมาทางกาย วาจา ที่จะเบียดเบียนผู้อื่นทำให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อน การกลัวแบบนี้ เป็นการถอยกลับจากอกุศลด้วยความละอายใจ ด้วยความใส่ใจในความสุขของผู้อื่น โดยไม่เห็นแก่ความสุขส่วนตัว ด้วยอำนาจของเจตสิก คือ หิริ และ โอตตัปปะ ซึ่งควรจะเจริญความสะดุ้งกลัวแบบนี้ในชีวิตประจำวัน บ่อยๆ เนืองๆ เพราะเหตุว่า เราจะต้องพบปะสังสรรค์กับญาติสนิทมิตรสหายเพื่อนฝูงเป็นปกติอยู่เสมอ มากกว่าที่จะเป็นไปด้วยความกลัวภัย เพราะความรักตัว หรือการคิดถึงแต่เรื่องราวที่กลัว ที่รังแต่จะทำให้กุศลธรรมไม่เจริญเพราะเนิ่นช้าอยู่ที่ความรู้สึกทุกข์ใจที่จำหมายไว้ครับ

ธรรมะมีอยู่ในขณะ นี้ เกิดดับตามเหตุตามปัจจัย แต่ "เรา" ไม่มีอยู่จริงเลย มีแต่ความไม่รู้ และความเห็นผิดมากมายที่เกิดขึ้นกับจิตของเราในขณะนี้ถี่ยิบ จึงไม่มีวิธีที่ "เรา" จะเข้าไปจัดการกับธรรมะอะไรได้ เพราะธรรมะแต่ละธรรมะ ก็กระทำกิจของธรรมะนั้น โดยไม่ข้องแวะในกิจของธรรมะอื่น เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมต่อไปเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เกิดปัญญาเห็นธรรม เพื่อเกื้อกูลปัจจัยที่จะทำให้กุศลธรรมเจริญ โดยเฉพาะ "สติ" ที่ระลึกไปในสภาพธรรม "ตามความเป็นจริง" ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ครับ

เชิญคลิกฟังครับ --->

ความเป็นอนัตตา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
udomjit
วันที่ 24 ต.ค. 2550

กราบขอบพระคุณในเมตตาของครูโอค่ะ ตอนนี้พยายามจะ connect ความเป็นอนัตตาเพื่อฟังธรรมตามที่ครูโอกรุณาค่ะ แต่ connect ยังไม่ได้ค่ะ เลยขอความกรุณาต่อนะค่ะ "ซึ่งควรจะเจริญความสะดุ้งกลัวแบบนี้ในชีวิตประจำวัน บ่อยๆ เนืองๆ " ขอความกรุณาแนะนำหรือยกตัวอย่างวิธีการเจริญฯด้วยค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ครูโอ
วันที่ 24 ต.ค. 2550

ขออภัยครับ ผมทำ connect พลาดไป ตอนนี้คลิกกลับไปฟังจากคำตอบด้านบนได้แล้วครับส่วนคำถามที่ถามนั้น คำตอบอยู่ในคำพูดของท่าน อ. สุจินต์ แล้ว

เชิญคลิกฟังได้ครับ --->

อกุศลในชีวิตประจำวัน

วิธีเจริญความกลัวต่อบาป และผลของบาป มีเพียงหนทางเดียว คือ การฟังพระธรรมจนเกิดปัญญาของตนเองครับ เพราะเหตุว่า แม้โสภณเจตสิกอื่นใดมากมายก็ไม่มีกิจโดยตรงที่จะเห็นโทษของอกุศลธรรมตามความเป็นจริงได้ หิริเจตสิก เพียงกระทำกิจละอายในอกุศลธรรม (เหมือนกับการรังเกียจที่จะจับของสกปรก) และ โอตตัปปเจตสิก ก็เพียงกระทำกิจหวั่นเกรงในโทษของอกุศลกรรม (เหมือนกับการไม่เข้าไปจับต้องก้อนเหล็กร้อน) จึงมีแต่ปัญญาเจตสิกเท่านั้น ที่จะกระทำกิจนั้นได้ ในฐานะที่เราเป็นเพียงปุถุชน ก็ควรจะฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้า เพื่อให้ปัญญาเจตสิกเจริญขึ้นทีละน้อยๆ เมื่อปัญญามีกำลังมากขึ้น ก็จะกระทำกิจขัดเกลาอกุศลธรรม ละคลายความเห็นผิด ความไม่รู้ และเห็นคุณของการเจริญบารมีทุกประการ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลทั้งตนเองและผู้อื่น ด้วยการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก ไม่เบียดเบียนกันครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 3 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 29 ธ.ค. 2565

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ