ขันติธรรมกับการหลงกระทำกาละ
ผมได้อ่านข้อความเรื่องคุณของขันติจากปกิณณกธรรม พบว่าผู้มีขันติจะไม่ทำให้เกิดการหลงกระทำกาละ ผมมีข้อสงสัยว่า "หลงกระทำกาละ" นั้นหมายถึงอะไรครับ
ขอบคุณมากครับ
ผู้หลงทำกาละ คือ หลงตาย หมายถึง เวลาใกล้ตายไม่สามารถยึดถือความดีเป็นที่พึ่งได้ตายอย่างไม่สงบ มีนิมิตที่ไม่ดีมาปรากฏ ดังตัวอย่างในอรรถกถาที่ยกมา
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 465
บทว่า สมฺมูฬโห กาลํ กโรติ ความว่า ก็การยึดถือทุศีลกรรมประพฤติแล้ว ย่อมปรากฏแก่เธอผู้นอนบนเตียงมรณะ เธอลืมตาขึ้นเห็นโลกนี้หลับตาก็เห็นโลกหน้า อบาย ๔ ย่อมปรากฏแก่เธอ เธอเป็นดุจถูกหอก ๑๐๐ เล่ม ประหารที่ศีรษะ เขาส่งเสียงร้องมาว่า ท่านทั้งหลายช่วยห้ามที ท่านทั้งหลายช่วยห้ามที ก็ตาย ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า สมฺมูฬฺโห กาลกโรติ
จบอรรถกถาสีลสูตรที่ ๓
ตัวอย่างของผู้ไม่หลงทำกาละ
[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ 553
บทว่า อสมฺมูฬฺโห กาลํ กโรติ ความว่า ชื่อว่า ความหลงตายของผู้อยู่ด้วยเมตตาไม่มี ย่อมไม่หลงทำกาละ เหมือนกับก้าวลงสู่ความหลับ
จบอรรถกถาเมตตาสูตร
[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 770
บทว่า สมฺมุฬฺโห กาลํ กโรติ ความว่า จริงอยู่ เมื่อบุคคลผู้ทุศีลนอนอยู่บนเตียงเป็นที่ตาย ฐานะที่ตนสมาทานกรรม คือ ความเป็นผู้ทุศีลย่อมมาปรากฏ เขาลืมตาเห็นโลกนี้ หลับตาเห็นโลกหน้า อบาย ๔ ย่อมปรากฏแก่เขาตามสมควรแก่กรรม ย่อมเป็นเหมือนถูกทิ่มแทงด้วยหอก ๑๐๐ เล่ม และเหมือนถูกลวกด้วยเปลวไฟ เขาพลางร้องครวญครางว่า ขอเถอะ ขอทีเถอะ ดังนี้ จนตาย ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า หลงทำกาละดังนี้ เป็นต้น