ท้อแท้

 
kirin_kal
วันที่  20 ต.ค. 2550
หมายเลข  5185
อ่าน  1,481

ดิฉันรู้สึกท้อแท้และไม่อยากเกิดมาอีก เพราะมีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา ทุกข์เพราะการพลัดพราก ทุกข์เพราะมีสุขแล้วกลัวความสุขจะหายไป ทุกข์เพราะอกุศลกรรมเกิด จนบางครั้ง เคยคิดว่าถ้าตายไปเลยก็คงจะดี แต่ดิฉันก็ยังดีใจว่ามีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เพราะที่พึ่งที่ประเสริฐที่สุดก็คือพระรัตนตรัย และขอตั้งใจว่าจะเป็นอุบาสิกาทำนุบำรุง พระพุทธศาสนาจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ส่วนสภาพธรรมตามความเป็นจริงจะปรากฎแก่ ดิฉันเมื่อไรก็คงต้องแล้วแต่การสะสม อบรมเจริญในธรรมต่อไป


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 20 ต.ค. 2550

ขอให้ฟังพระธรรมต่อไปเรื่อยๆ นะครับ เพราะปัญญาที่เกิดจากการฟังพระธรรมจะเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ประเสริฐที่สุด แต่ถ้าไม่มีปัญญารู้คุณของพระรัตนตรัย พระรัตนตรัยก็เป็นที่พึ่งสูงสุดไม่ได้ ฉะนั้นการศึกษาพระธรรมคำสอนจนเข้าใจ จึงเป็นเหตุให้เข้าถึงคุณพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ครูโอ
วันที่ 20 ต.ค. 2550

แม้สติจะไม่เกิด แต่ความเห็นถูกจากการฟังพระธรรม ก็เกื้อกูลในการดำรงชีวิตประจำวันด้วยความไม่ประมาทในอกุศลมากกว่าเดิม "โทสะ ที่เกิดร่วมกับ โทมนัสเวทนา" ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ก็เป็น ธรรมะ เป็นอกุศลธรรมที่ทำให้จิต เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส แล้วก็ดับไป ไม่ใช่เราจริงๆ จะเห็นได้ว่า "ปัญญาในขั้นฟัง" ทำอะไรกับกิเลสที่สั่งสมมาเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ไม่ได้ แต่ก็มีคุณ เพราะถ้าไม่เคยฟัง หรือขาดการฟังไป ก็จะไม่มีโอกาสที่จะรู้ถูก เห็นถูก ว่าสภาพความเสียใจ รันทด หดหู่ ท้อแท้ ฯลฯ ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมะหนึ่งๆ ที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิด จึงเกิด...เท่านั้นเอง

ถึงแม้ว่าสติจะยังไม่เกิด และยังเป็นเราที่เศร้าหมองอยู่ ขณะที่โทสะเกิดก็ยังมีโอกาสที่จะเป็นกุศลวิตกให้คิดตรึกไปถึงสภาพของโทสะที่ดับไปแล้ว เพื่อน้อมไปที่จะศึกษาลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมนั้นอีกในภายหลัง จะเห็นได้ว่า คุณของ "ปัญญาขั้นฟัง"มีมาก เพราะถ้าหากไม่ฟังพระธรรมเลย จิตก็จะไหลไปตามกระแสของอกุศลอยู่เรื่อยๆ

เพราะการขาดที่พึ่งสูงสุดทางใจ คือ พระรัตนตรัย ก็ย่อมจะทำให้เราหลงวนอยู่แต่ใน"ความทุกข์" ที่เข้าไปยึดไว้ว่า "เป็นตัวเราที่ทุกข์" ด้วยความไม่รู้ความจริงว่า ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียง "สภาพธรรมโดยตัวมันเองต่างหากที่ --> ทุกข์" ครับ

เพราะฉะนั้นก็อาจหาญ ร่าเริ่ง อดทน มั่นคง ที่จะเจริญกุศลทุกประการต่อไปการเกิดในสุขคติภูมิไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ปัญญาที่เป็น "จิรกาลภาวนา" ที่เริ่ม สั่งสมทีละน้อยๆ ไปในแต่ละชาติที่มีโอกาสพบพระธรรมของพระพุทธเจ้าจนเมื่อมีกำลังแก่กล้าพอเท่านั้นที่จะดับกิเลสร้ายให้สิ้นเป็นสมุจเฉทได้ เมื่อเวลานั้นมาถึง ก็จะสิ้นภพชาติ ไม่ต้องเกิดอีกตลอดไปแน่นอน

ขออนุโมทนาในความเป็นผู้ตรงครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
พุทธรักษา
วันที่ 20 ต.ค. 2550

พระพทุธเจ้าตรัสว่า การเกิดเป็นมนุษย์นั้นแสนยาก ดังนั้นเมื่อได้อัตตภาพอันยากนี้แล้ว ก็ควรให้คุ้มค่า ด้วยการ ฟังธรรมให้เข้าใจ พร้อมกับการเจริญกุศล (บารมี) ทุกประการ ศึกษาพระธรรมวินัย เพื่อประโยชน์สูงสุดคือ เข้าถึงธรรมที่ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ แล้วทรงพระมหากรุณาแสดงไว้ และพระอรหันต์ (สงฆ์) นำมาสังคายนา รวบรวมเป็น "พระไตรปิฏก" ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษา จะพึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้แค่ไหนก็แล้วแต่ เหตุปัจจัย ที่เกื้อกูลต่อการเจริญปัญญาตามลำดับ ที่สำคัญ การศึกษาเป็นไปเพื่อการละ คือละความไม่รู้ เมื่อความรู้ (ปัญญา) ค่อยๆ เกิด ความหวั่นไหว (ทุกข์ใจ) จะค่อยๆ ลดลง. นับว่าเป็นบุญแล้ว ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระธรรม และมีศรัทธา

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Komsan
วันที่ 20 ต.ค. 2550
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เบน
วันที่ 21 ต.ค. 2550

ฟังแล้วเก็บมาฝาก ในชาตินี้ท่านจะเป็นใครก็ตาม จะสมบูรณ์ด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์ สมบัติ กุลสมบัติใดๆ ก็ตาม ก็ต้องจากสภาพนี้ อาจจะไปสู่ความทุกข์ยากเดือดร้อน หรือว่าชาตินี้กำลังทุกข์ยากเดือดร้อน ก็จะสิ้นสุดความเป็นสภาพของบุคคลนี้ และก็จากไปสู่ ความเป็นสภาพที่พร้อมด้วยทรัพย์สมบัติ รูปสมบัติ กุลสมบัติมากมายเช่นใดก็ตาม ทุกอย่างก็ไม่เที่ยง เหมือนในอดีตที่ผ่านมา แล้วแสนโกฎกัป ซึ่งใครจะเป็นอย่างไร ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ ชาติต่อไปที่กำลังจะมา ถึงโดยไม่นาน ก็ไม่มีใครที่จะรู้ได้ เช่นกัน เพราะฉะนั้น ขอให้ทุกท่านคำนึงถึงประโยชน์ของขณะจิต แม้เพียงชั่วขณะจิตเดียวที่สติระลึก และก็ศึกษาสภาพของธรรมะที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ถ้าพิจารณาชั่วขณะจิตเดียว ชั่วขณะจิตเดียว จะได้รับประโยชน์มาก เพราะ เหตุว่าจะไม่กังวัลถึงขณะอื่น เช่นขณะที่หลงลืมสติ หรือขณะที่กลุ้มใจเดือดร้อน แม้จะหลงลืมสติ ซึ่งก็เป็นขณะ ที่ผ่านไปๆ เพราะฉะนั้นถ้าขณะนี้สติเกิดระลึกสภาพธรรมในขณะนี้ทันที ปัญญาจะค่อยๆ สมบรูณ์ตามลำดับ.... ขณะที่สติและปัญญาเกิดไม่ทำให้ใครเดือดร้อนเลย

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Sam
วันที่ 21 ต.ค. 2550

การคบบัณฑิต เป็นอุดมมงคล เพราะในชีวิตประจำวันย่อมมีอกุศลจิตเกิดอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นความติดข้องต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ความตระหนี่ ความอิจฉาริษยา ความแข่งดี ความท้อแท้ ฯลฯ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชนผู้หนาไปด้วยกิเลส แต่การมีโอกาสได้พบกับบัณฑิต ซึ่งเป็นท่านผู้รู้ และเป็นกัลยาณมิตร ผู้ที่มีเมตตาให้คำแนะนำ ในสิ่งที่มีประโยชน์ จะช่วยทำให้เราเข้าใจกิเลสของตัวเองมากขึ้น และจะเริ่มเข้าใจหนทางทำให้กิเลสเหล่านั้นเบาบางลง ละคลายลง หรือแม้กระทั่งดับไปทั้งหมด เกิดขึ้นอีกไม่ได้เลย ความเป็นบัณฑิตมิใช่อยู่ที่รูปร่างหน้าตา ฐานะ หรือระดับการศึกษาทาง โลก แต่อยู่ที่ความเป็นผู้มีคุณธรรม มีปัญญา มีความเห็นถูก ดังนั้น การคบบัณฑิตจึงหมายถึงการฟัง (รวมทั้งการ อ่านหรือศึกษา) ความเห็นของท่าน เมื่อมีปัญหาทุกข์ใจ หรือเกิดความสงสัยก็สอบถามท่าน เราก็จะได้รับฟังคำตอบที่เป็นประโยชน์ และเมื่อฟังแล้วก็ควรพิจารณาตามให้เกิดเป็นความเข้าใจของตนเอง เพราะเมื่อมีความเข้าใจ แล้วก็จะช่วยให้เราแก้ไขปัญหา หรือแก้ความสงสัยได้ด้วยตนเอง ความทุกข์ใจของท่านเจ้าของคำถาม ก็คงเป็นเช่นเดียวกันกับความทุกข์ของปุถุชนคนอื่นๆ แต่นับเป็นผลของการสะสมที่ดีอันมีมาแต่อดีต ทำให้ท่านได้มาพบกับกัลยาณมิตรที่เป็นท่านผู้รู้ของมูลนิธิฯ และที่บ้านธัมมะแห่งนี้ ก็ขอให้ท่านใช้โอกาสอันหาได้ยากยิ่งในสังสารวัฏฏ์นี้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Nareopak
วันที่ 22 ต.ค. 2550

ดิฉันฟังธรรมบรรยายทางรายการวิทยุเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คำพูดตอนหนึ่งที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บรรยาย ทำให้ดิฉันคลายจากความรู้สึกทุกข์ใจได้ดีขึ้น คือ ท่านบรรยายว่า "เมื่ออยู่บนโลกมนุษย์จะทุกข์แค่ไหนก็ตาม ก็ยังไม่เท่ากับทุกข์ในอบายภูมิหรือนรกภูมิ" (เนื้อความโดยสรุปจากการฟังของดิฉัน) และเมื่อนึกภาพตามคำบรรยาย รู้สึกสยองขวัญเหมือนกันเพราะกลัวตกนรก

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
medulla
วันที่ 23 ต.ค. 2550

ขอบพระคุณทุกท่านมากค่ะ เป็นประโยชน์ต่อความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
kirin_kal
วันที่ 25 ต.ค. 2550
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Idoitforyou
วันที่ 31 ต.ค. 2550
รู้เถอะว่ากิเลสทำให้ทุกข์อย่างนี้ จึงใช้ชีวิตอยู่ให้คุ้มค่านั่นคือ..........
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 23 ธ.ค. 2565

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ