ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

 
คุณย่า
วันที่  23 ต.ค. 2550
หมายเลข  5222
อ่าน  3,635

สนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ
วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๐
ถอดเทปโดย
คุณย่าสงวน สุจริตกุล

คุณแก้วตา ผู้ที่ไม่เคยศึกษาธรรมเลย พอมาฟังแล้ว เข้าใจว่าตัวปัญญาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่จะให้เราอบรมเจริญ ทีนี้พอมาถึงสำนักใดๆ ก็ตาม เราก็ไม่ทราบว่าเมล็ดอันนั้น ที่เราปลูกไว้จะเป็นต้นปัญญาหรือเปล่า ที่ถูกต้องน่ะ ขอกราบเรียนขอคำชี้แนะ

ขอคำอธิบาย ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ให้ฟังได้ง่ายๆ ด้วยนะคะ

ขอบพระคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ต.ค. 2550

อ.อรรณพ จริงๆ เมื่อวานนี้ก็เพิ่งสนทนากันไป ซึ่งมีข้อความโดยย่อ ซึ่งก็คงจะเป็นคำตอบของคำถามแรก

จริงๆ แล้ว ชีวิตที่เกิดมาแล้ว ก็แสวงหา รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านี้ แสวงหาแน่ ทางตาก็อยากเห็นรูปดีๆ ทางหูก็อยากได้ยินเสียงดีๆ เพราะฉะนั้น การแสวงหามี ๓ อย่าง อย่างแรก คือ “แสวงหากาม” คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่แสวงหากันอยู่ตามปกติ

ประการที่ ๒ คือ “แสวงหาภพ” ภพก็ไม่ใช่อื่นไกล ขณะนี้เองที่อยู่ในภพนี้ การเห็น การได้ยิน คือ ความเป็นอยู่ ความเป็นไปก็เป็นภพ ซึ่งก็เป็นผู้มีความยินดี พอใจที่อยู่ในอัตตภาพนี้ อันนี้คือ ส่วนใหญ่ที่เป็นไป และมีบางขณะที่คิดจะแสวงหาข้อปฏิบัติที่เราคิดว่าถูก คิดว่าประเสริฐ คือ

ประการที่ ๓ คือ การแสวงหา “พรหมจรรย์”

ทุกคนน่ะคิดแล้วแสวงหาไป คิดไปตามการสะสมของแต่ละคน คนที่มีความเข้าใจผิด ก็แสวงหาข้อปฏิบัติที่ผิด แต่เขาคิดว่าข้อปฏิบัตินั้นถูก

เพราะฉะนั้น ประเด็นคำถามที่พี่แก้วถาม คือ ทุกคนก็อยากได้ปัญญา ทุกที่ ทุกสำนักล้วนแล้วแต่บอกว่า เป็นการสะสมปัญญา เป็นการแสวงหาพรหมจรรย์ คือการประพฤติที่ดี ที่ประเสริฐ ไม่มีใครสักคนที่จะบอกว่า ที่เขาศึกษาอยู่นี่ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่พรหมจรรย์ เพราะทุกคนเข้าใจอย่างนั้นหมด

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงว่า ปกติมีการแสวงหาอยู่ ๓ แสวงหากาม, แสวงหาภพ, แสวงหาข้อปฏิบัติที่ตนคิดว่าดี คิดว่าเป็นทางที่ถูก ว่าเป็นปัญญา

แต่คำตอบของพระองค์ท่านก็คือ การเจริญอริยมรรค ก็คือไม่ใช่ใคร ไม่ใช่นาย ก., นาย ข., นาย จ., แต่เป็นสภาพธรรม คือ สัมมาทิฏฐิคือ ปัญญา สัมมาสังกัปปะคือ วิตก และมรรคอีก ๖ องค์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ต.ค. 2550

เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจการแสวงหาได้นั้น ต้องเข้าใจชีวิตจริง ด้วยปัญญา ด้วยสัมมาทิฏฐิ ดัวยมรรคองค์ต่างๆ ที่จะทำให้เราเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นจิตแต่ละขณะ ทางตา หู ... กาย ใจ ที่เต็มไปด้วยความติดข้อง ให้คิดว่าเราเบื่อ อยากออกจากสังสารวัฏฏ์เพียงใด ในความละเอียดแต่ละขณะจิตที่ย่อยไป แสวงหา เหลียวมองไปเพราะอยากเห็น ลองไม่ได้เห็นสัก ๑๐ นาทีแค่ไปติดในลิฟท์มืดๆ ก็อยากออกมาเห็นเหมือนเดิม อย่าพูดถึงตาบอดเลย แต่ทุกขณะที่เราแลเหลียว ได้ยิน ก็เต็มไปด้วยการแสวงหา

ปัญญาอริยมรรคต่างๆ นี้เป็นสภาพที่จะให้รู้จริงว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างที่ปรากฏแต่ละทาง นั่นแหละจึงจะรู้ว่าชีวิตเรานั้นเป็นผู้แสวงหาอย่างไร รู้ในการที่เราเป็นผู้ที่แสวงหา รูป เสียง ... นะ อย่างเถียงไม่ได้ แต่ไม่ใช่เราที่รู้ แต่เป็นปัญญา เป็นสติ ธรรมฝ่ายดี เกิดเป็นคน ก็ชอบในความเป็นคน ดูว่าเขาลำบากอย่างไร แต่คนที่อยู่ชนบท ซึ่งดูว่าเขาลำบาก อย่างไปประเทศอินเดีย เขาอยู่กันตามข้างถนน แต่เขาก็พอใจในชีวิตของเขาอย่างนั้น เกิดเป็นหนอน ก็พอใจในความเป็นหนอน เกิดเป็นคน เป็นอะไรก็พอใจในสิ่งนั้นๆ นั่นคือการแสวงหาภพอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่รู้ จะรู้ได้ก็ด้วยสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ มรรคมีองค์ ๕ ซึ่งสามารถจะอบรมเจริญ เป็นปฏิปัตติ คือถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน

นี่เป็นคำสอนจริงๆ ซึ่งเราไม่ต้องแยกเป็นปริจเฉท แต่เป็นความจริงทั้งหมด

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ต.ค. 2550

แล้วการแสวงหา ประการที่ ๓ คือ พรหมจรรย์นี้สำคัญ คือ ความประพฤติที่ประเสริฐ เป็นปัญญาอย่างที่พี่แก้วว่า แต่ว่าถ้าไม่มีอริยมรรค ไม่ได้ฟังให้เข้าใจว่าอริยมรรค คือ หนทางนี้เป็นอะไร ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ถ้าไม่ใช่ปัญญา ก็คิดเอาเองว่าสิ่งที่เราเข้าใจอยู่นี้ชื่อว่าปัญญา เอาชื่อปัญญาไปแปะแต่ข้างในไม่ใช่ปัญญา เป็นความเชื่อ ใครบอกอย่างไรก็ทำตามเท่านั้น แต่ถ้าเป็นปัญญาที่รู้ตรง จะรู้ว่าอันนี้น่ะเป็นหนทางการแสวงหาพรหมจรรย์ จะได้รู้ว่าอันไหนเป็นทางถูก อันไหนเป็นทางผิด เพราะฉะนั้น พระสูตรนี้จะเป็นคำตอบที่พี่แก้วถาม รู้ได้อย่างไรว่าเป็นปัญญา รู้ได้โดยการศึกษาธรรมให้เข้าใจเข้าใจการอบรมเจริญสติปัฏฐาน มรรคมีองค์ ๕ นี้นะครับ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุควรเจริญมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เพื่อความรู้ยิ่ง

การแสวงหาทั้ง ๓ นี้ ก็คือการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง โดยสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น แต่พอพูดอย่างนี้ พอได้ยินปั๊บ โลภะอยากเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะทำยังไงให้กำหนดรู้ แต่จริงๆ แล้ว ปัญญาขั้นปฏิปัตตินี้ จะมีไม่ได้เลย ถ้าไม่มีปัญญาขั้นปริยัติ ซึ่งพี่แก้วขอให้สนทนาเรื่องปริยัติ, ปฏิบัติ, ปฏิเวธ โดยคร่าวๆ เพราะฉะนั้น ทุกคนนี้สนใจปฏิบัติ เพราะคิดว่าการปฏิบัติ คือให้ทำตามขั้นตอน ตามกรรมวิธีของแต่ละที่ แต่ละสำนักที่คิดไป ทุกคนก็บอกว่าเป็นพรหมจรรย์ เป็นปัญญา เป็นทางถูกทั้งนั้น

แต่ปัญญาจริงๆ เท่านั้นที่จะบอกได้ว่า นั่นเป็นปัญญาแต่ชื่อ หรือเป็นความเข้าใจผิดส่วนบุคคลหรือของกลุ่มนั้นๆ เพราะฉะนั้น ปัญญาขั้นปฏิปัตติจะมีไม่ได้เลย ถ้าไม่มีปัญญาขั้นปริยัติ คือให้รู้โดยทั่วในคำสั่งสอน คำสั่งสอนที่ประมวลแล้วก็คือพระไตรปิฎก ทั้ง ๓ ปิฎกนี้ เพื่อผู้ที่มีบุญแต่ปางก่อน ที่พอมีบุญบ้าง ผู้นั้นอาจมีบุญที่สามารถศึกษาด้วยตัวเองแล้วเข้าใจ แล้วแสดงให้ผู้อื่นฟัง ผู้ที่มีบุญน้อยลงมาหน่อยก็คือ สามารถที่จะเข้าใจจากผู้ที่ศึกษาก่อน จนพอเข้าใจแล้วก็สามารถจะศึกษาเพิ่มเติมได้ดี เพียงเข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้เท่านั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ต.ค. 2550

เพราะฉะนั้น การศึกษาปริยัติจริงๆ ไม่ใช่ว่าต้องเรียนเป็นปริจเฉท แล้วก็เริ่มจากจำไปก่อน จิต ๘๙ โดยพิสดาร ๑๒๑ เจตสิก ๕๒ อะไรอย่างนี้ สงเคราะห์กันไปอย่างนั้น แต่จริงๆ แล้วศึกษาเหมือนกัน รู้ก็เหมือนกัน ที่นี่ก็พูดจิต ๘๙ จิต ๑๒๑ แต่อะไรคือความต่างกัน ก็คือเพื่อให้เข้าใจในขั้นต้นก่อนว่าจิตเป็นสภาพรู้ ขณะนี้ไม่ปราศจากจิตเลย แม้สักขณะเดียว “เห็น” นี่ก็เป็นจิต ไม่ใช่เรา

การศึกษาทุกคำนี้ก็เพื่อประกอบความเข้าใจว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง เคยจำว่า เป็นเราที่เห็น พอศึกษาเรื่องจิตแม้ขั้นปริยัติรู้แล้ว ยังไม่ถึงขั้นที่ระลึกรู้ที่เป็นปฏิปัตติ แต่ปริยัติจริงๆ ก็คือเข้าใจว่า เป็นจิตที่เป็นสภาพรู้ ที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน เกิดขึ้น ไม่ใช่เรา พอศึกษาว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่จิตอย่างเดียวนะ เป็นเจตสิกที่เกิดด้วย อย่างจิตเห็นก็มีเจตสิก ๗ อย่าง และเจตสิก ๗ อย่างก็ไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกัน แต่ทำกิจกันไปคนละอย่างๆ ไม่มีความเป็นเราเลย มีแต่จิต, เจตสิก, รูป จิตเห็นก็เป็นจิต เจตสิก ในขณะที่เห็นนั้นก็เป็นเจตสิก สิ่งที่กำลังปรากฏ “สี” นั้นก็เป็นรูป วัณณรูป จิตเห็นเกิดขึ้นก็ต้องอาศัยจักขุปสาท

นี่คือการเข้าใจจิต, เจตสิก, รูป แม้ขณะเห็นขณะเดียว แต่เราก็ถ่ายถอนที่เคยจำว่าเป็นเรา ที่เห็น ที่ได้ยิน ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นทำกิจ ทำหน้าที่ ซึ่งความรู้ความเข้าใจในขั้นปริยัติไม่ใช่ท่องจำแล้วสอบ แต่ความเข้าใจอย่างนี้ เพื่อเข้าใจชีวิตจริงอย่างนี้ จะนำไปสู่การปฏิบัติ

เมื่อมีความเข้าใจที่มั่นคง สติปัญญา ความเพียรทั้งหลายสามารถที่จะเกิดขึ้น รู้ลักษณะสภาพธรรมตามที่เคยเข้าใจในปริยัติ และมีการอบรมเจริญ ปฏิปัตติเนืองๆ และไม่ใช่ปฏิบัติแล้วจะไม่ศึกษาปริยัติ จะยิ่งเห็นประโยชน์ของการได้ฟังยิ่งขึ้น ปัญญาในขั้นของปริยัติก็จะเจริญยิ่งขึ้น แล้วก็มีปฏิปัตติ จนอีกยาวนานกว่าจะถึงปฏิเวธ คือ แทงตลอดๆ เป็นขั้นๆ เป็นวิปัสสนาญาณที่มีความสมบูรณ์ ว่านี่คือนามธรรม นี่คือรูปธรรม ซึ่งต่างกันโดยสิ้นเชิง เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ และเป็นปัญญาขั้นต่อๆ ไป จนถึงปัญญาขั้นที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทจริงๆ แล้วก็รู้โลภะ รู้ความติดข้อง ซึ่งเปลี่ยนได้ตลอด เปลี่ยนจากหนัง จากเพลง จากละคร มาติดเป็นอยากได้ธรรม อยากได้สติ แต่ต้องให้รู้นะว่า ความอยากนั้น ไม่สามารถนำไปสู่ความเข้าใจได้เลย แต่เรานี้เอามาปะปนกัน จริงๆ ผมว่าไม่ใช่เป็นโลภะ ตลอดหรอก แต่ต้องเป็นศรัทธาบ้าง ฉันทะบ้าง ที่ใคร่จะศึกษา แต่ปะปนกับโลภะ เพราะว่าเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว

เพราะฉะนั้น กุศลจะเจริญขึ้นก็คือ มีการฟังธรรมและเข้าใจลักษณะของอกุศลว่าอะไรเป็นอกุศล อย่างเมื่อสักครู่ ท่านอาจารย์ท่านพูดถึง “งง” ก็เป็นอกุศล แล้วจะค่อยๆ เข้าใจอกุศลหลายๆ อย่างในชีวิตประจำวันจริงๆ ตามที่เรามีและเข้าใจกุศลที่เราอบรมเจริญได้ เป็นปกติในชีวิตประจำวันของเราได้ จากการศึกษาอย่างนี้ เป็นปริยัติ ซึ่งจะนำไปสู่ปฏิปัตติ แล้วก็ปฏิเวธ แต่ก็ต้องอาศัยเวลาที่ยาวนาน ต้องเป็นผู้ที่อดทน

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
bsomsuda
วันที่ 26 ธ.ค. 2552

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

เป็นประโยชน์ในการศึกษาพระธรรมให้เข้าใจมากขึ้นจริงๆ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
สิริพรรณ
วันที่ 12 มิ.ย. 2559

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 25 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Nataya
วันที่ 22 ก.ค. 2563

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 8 พ.ย. 2565

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ