สั่งสมการฟังมาน้อย ค่อยๆ ฟังไป - บุคคลผู้มีสุตะน้อย

 
ajarnkruo
วันที่  26 ต.ค. 2550
หมายเลข  5251
อ่าน  3,365

[เล่มที่ 79] พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ เล่ม ๓ - หน้าที่ 422

บุคคลผู้มีสุตะน้อย

[๑๓๙] ๑. บุคคล ผู้มีสุตะน้อย และไม่ได้ประโยชน์เพราะสุตะ เป็นไฉน

สุตะ คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะอัพภูตธรรม เวทัลละ ของบุคคลบางคนในโลกนี้มีน้อย บุคคลนั้นไม่รู้อรรถไม่รู้ธรรมแห่งสุตะอันน้อยนั้น ไม่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า ผู้มีสุตะน้อย และไม่ได้ประโยชน์เพราะสุตะนั้น

๒. บุคคล ผู้มีสุตะน้อย แต่ได้ประโยชน์เพราะสุตะ เป็นไฉน

สุตะ คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ ของบุคคลใดในโลกนี้มีน้อย บุคคลนั้นรู้อรรถ รู้ธรรมของสุตะน้อยนั้น เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า ผู้มีสุตะน้อย แต่ได้ประโยชน์เพราะสุตะ

๓. บุคคล ผู้มีสุตะมาก แต่ไม่ได้ประโยชน์เพราะสุตะ เป็นไฉน

สุตะ คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะอัพภูตธรรม เวทัลละ ของบุคคลบางคนในโลกนี้มีมาก บุคคลนั้นไม่รู้อรรถไม่รู้ธรรมของสุตะอันมากนั้น ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า ผู้มีสุตะมาก แต่ไม่ได้ประโยชน์เพราะสุตะ

๔. บุคคล ผู้มีสุตะมาก และได้ประโยชน์เพราะสุตะ เป็นไฉน

สุตะ คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะอัพภูตธรรม เวทัลละ ของบุคคลบางคนโลกนี้มาก บุคคลนั้นรู้อรรถ รู้ธรรมของสุตะอันมากนั้น เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า ผู้มีสุตะมาก และได้ประโยชน์เพราะสุตะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ajarnkruo
วันที่ 26 ต.ค. 2550

อรรถกถาบุคคลผู้มีสุตะน้อย เป็นต้นวินิจฉัยในคำว่า "ผู้มีสุตะน้อย" เป็นต้น.

ข้อว่า "อปฺปกํ สุตํ โหติ" ความว่า สุตะ คือ การฟัง การเรียน ในนวังคสัตถุศาสน์ มีบางส่วน คือ มีนิดหน่อยเท่านั้น

ข้อว่า "น อตฺถมญฺญาย น ธมฺมญฺญาย ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน โหติ" ความว่า เป็นผู้รู้บาลี อรรถกถา แล้วปฏิบัติธรรมอันเป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้น อันสมควรแก่โลกุตตรธรรม ย่อมไม่มีแก่เขา. ในบททั้งปวง บัณฑิตพึงทราบเนื้อความโดยนัยนี้

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ajarnkruo
วันที่ 26 ต.ค. 2550

พระพุทธพจน์ คือ พระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ประกอบด้วยองค์ ๙ คือ

สุตตะ ได้แก่ พระสูตรทั้งหลายมีมงคลสูตรเป็นต้นรวมทั้งพระวินัยปิฎกและนิสเทส

เคยยะ คือ พระสูตรทั้งหมดที่มีคาถา มี สคาถวรรค เป็นต้น

เวยยากรณะ คือ พระอภิธรรมปิฎก พระสูตรที่ไม่มีคาถาปนและพระพุทธพจน์ที่ไม่ จัดเข้าในองค์ ๘

คาถา คือ พระธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถาและคาถาล้วนๆ ที่ไม่มีชื่อสูตรใน สุตตนิบาต

อุทาน คือ พระสูตร ๘๒ สูตร ที่พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งด้วยโสมนัสญาณ

อิติวุตตกะ คือ พระสูตร ๑๑๐ สูตร ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า วุตตัง เหตัง ภควา (ข้อนี้สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว)

ชาดก คือ เรื่องอดีตชาติของพระผู้มีพระภาค และพระสาวก มีอปัณณกชาดก เป็นต้น รวม ๕๕๐ ชาดก)

อัพภูตธรรม คือ พระสูตรที่ประกอบด้วยอัจฉริยอัพภูตธรรม (ธรรมที่ยิ่งด้วยคุณพิเศษ อันน่าอันศจรรย์)

เวทัลละ คือ พระสูตรที่เมื่อถามแล้วๆ ได้ความรู้และความยินดียิ่งๆ ขึ้น มีจูฬเวทัลลสูตร เป็นต้น

จากหนังสือปรมัตถธรรมหน้า ๘

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Komsan
วันที่ 26 ต.ค. 2550
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
พุทธรักษา
วันที่ 27 ต.ค. 2550

ขออนุโมทนา......

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 27 ต.ค. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

จุดประสงค์ในการฟังที่สำคัญ คือเพื่อให้เข้าใจถูกในเบื้องต้นว่าเป็นธรรม ไม่ว่าพระสูตรไหน คำใด ก็คือสภาพธัมมะที่มีจริงในขณะนี้เอง ไม่พ้นไปจากธัมมะ ดังนั้น ผู้ที่ฟังแม้น้อย แต่เข้าใจถูกต้องว่าก็คือ สิ่งที่มีจริงในขณะนี้และเป็นธรรม ย่อมเกิดปัญญาและบรรลุธรรมได้ เพราะเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงนั่นเอง

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
jurairat
วันที่ 28 ต.ค. 2550

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
อุเทน
วันที่ 13 ก.ค. 2557

ขออนุโมทนาสาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 18 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ