การมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความบางตอนจากหนังสือ "คุยกันวันพุธ" โดย คณะสหายธรรม
ถาม พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ระลึกตอนไหน อย่างไร
ตอบ พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ระลึกได้ทุกเวลาและทุกสถานที่น้อมระลึกถึงพระรัตนตรัยได้เสมอ สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า มนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก ถูกภัยคุกคามแล้ว ย่อมถือภูเขาทั้งหลายบ้าง ป่า อารามและต้นไม้ที่เป็นเจดีย์ทั้งหลายว่าเป็นสรณะนั่นไม่ใช่สรณะอันเกษม นั่นไม่ใช่สรณะอันสูงสุด เขาอาศัยสิ่งเหล่านั้นเป็นสรณะแล้ว ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงไปได้.
ส่วนผู้ใด ถึงพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ด้วยว่าเป็นสรณะแล้ว เห็นอริยสัจจ์ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบคือ เห็นทุกข์และตัณหา อันเป็นแดนเกิดขึ้นพร้อมแห่งทุกข์คือ สมุทัย และความก้าวล่วงทุกข์คือ นิโรธและมรรคมีองค์ ๘ อันไปจากข้าศึกคือ กิเลส ให้ถึงพระนิพพาน เป็นที่เข้าไปสงบระงับทุกข์.
นี้แหละ เป็นสรณะอันเกษม นี้แหละ เป็นสรณะอันสูงสุดเขาอาศัยสรณะนี้แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
หากว่าชีวิต..ไม่ได้ฟังพระธรรมที่ถูกต้องและไม่มั่นคงในพระธรรม..เราก็กล่าวกันว่ามีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง พึ่งอย่างไร ไม่มีตัวเรา ไม่มีใครมาเป็นที่พึ่ง มีแต่กุศลและธรรมฝ่ายดี อันเกิดจากการเข้าใจพระธรรมนั้นเองที่เกิดขึ้น เป็นที่พึ่ง เป็นที่ต้านทานจากอกุศลประการต่างๆ มีความเห็นผิด เป็นต้น และเกิดในภพภูมิที่ไม่ดี พระรัตนตรัยจะเป็นที่พึ่งหรือมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง จึงเป็นเรื่องของธรรมที่ทำหน้าที่ให้ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งคือปัญญาซึ่งเป็นความเห็นถูก กล่าวถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง แต่ไม่เข้าใจพระธรรม ชื่อว่าพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งหรือไม่ เชื่อบุคคล ไม่ศึกษาตรวจสอบกับพระธรรม มีพระธรรมเป็นที่พึ่งหรือไม่ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของปัญญาทั้งหมด เมื่อเข้าใจพระธรรมมากขึ้น ก็มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งมากขึ้น แต่ปุถุชนก็ยังสรณะขาดได้ ตราบใดที่ไม่ใช่พระโสดาบัน สุดท้าย ขณะที่เห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรมและน้อมประพฤติปฏิบัติตาม ชื่อว่าเริ่มมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งทีละเล็กละน้อยหรือยัง?
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
การมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง...ต้องด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่ด้วยความหวัง
สรุปว่า ตราบใดที่ยังไม่มีปัญญาระดับพระโสดาบัน ก็ไม่มีหลักประกันได้ว่าจะมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดไป แม้ได้พบพระธรรม ศึกษา เห็นคุณค่า น้อมปฎิบัติตาม แต่ยังไม่พอ
ปุถุชนถึงไตรสรณคมณ์ก็ได้ เช่น พระเจ้าอชาตศัตรู ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ถ้าไม่ได้ฆ่าบิดา ก็ได้ดวงตาเห็นธรรมไปแล้ว แต่ท่านก็ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ หมายถึง ไม่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นค่ะ
ขอบูชาคุณพระรัตนตรัย
แต่เมื่อปุถุชนตายไป สรณครมน์ก็ชื่อว่าขาด สรณคมน์ของปุถุชนจึงขาดเพราะไปนับถือศาสนาอื่นและตาย สรณคมน์ของปุถุชนจึงยังไม่มั่นคง ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระโสดาบัน
[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 12
การขาดสรณคมน์ ของบุคคลผู้ถึงสรณคมน์อย่างนี้ มี ๒ อย่าง คือ มีโทษและไม่มีโทษ การขาดสรณคมน์เพราะการตาย ชื่อว่าไม่มีโทษ การขาดสรณคมน์เพราะหันไปนับถือศาสดาอื่นและประพฤติผิดในพระศาสดานั้น ชื่อว่ามีโทษ การขาดแม้ทั้ง ๒ นั้น ย่อมมีแก่พวกปุถุชนเหล่านั้น สรณะของปุถุชนเหล่านั้น ย่อมชื่อว่าเศร้าหมอง เพราะประพฤติไปด้วยความไม่รู้ ความสงสัยและความรู้ผิด และเพราะประพฤติไม่เอื้อเฟื้อเป็นต้น ในพระพุทธคุณทั้งหลาย ส่วนพระอริยบุคคลหามีสรณะที่ขาดไม่ และหามีสรณะเศร้าหมองไม่