ถาม...ความหมายและประเภทของธุดงค์
หลังออกพรรษาพระสงฆ์หลายรูปพากันออกธุดงค์ จึงอยากทราบความหมาย และประเภทค่ะ เมื่อสักครู่เข้าไปค้นข้อมูลเรื่องกฐินของเวทีธรรมนี้ ก็อ่านพบว่าภิกษุปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูปล้วนถืออารัญญิกธุดงค์ บิณปาติกธุดงค์ และเตจีวริกธุดงค์ แต่ไม่มี คำอธิบายค่ะ จึงรบกวนขอความกรุณานะคะ
ขอบคุณค่ะ
ขอเชิญอ่าน ธุตธรรม หรือธุตังคะ หรือธุดงค์ จากวิสุทธิมรรคดังนี้
วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 176
[ธุตะ]
ในบทเหล่านั้น บทว่า ธุตะ หมายเอาบุคคลผู้มีกิเลสอันกำจัดแล้วอย่าง ๑ หมายเอาธรรมอันเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่าง ๑
[ธุตธรรม]
ข้อว่า พึงทราบธุตธรรมทั้งหลาย นั้น มีวินิจฉัยว่า ธรรม ๕ ประการ อันเป็นบริวารของธุดงคเจตนาเหล่านี้ คือ อปฺปิจฺฉตา (ความมักน้อย) สนฺตุฏฐิตา (ความสันโดษ) สลฺเลขตา (ความปฏิบัติขูดเกลากิเลส) ปวิเวกตา (ความอยู่เงียบสงัด) อิทมฺตถิตา (ความรู้ว่าสิ่งนี้มีประโยชน์) ชื่อว่า ธุตธรรม โดยพระบาลีว่า (ภิกษุเป็นผู้อันอยู่ป่าเป็นปกติ) เพราะอาศัยความมักน้อยแล ดังนี้เป็นต้น
ในธรรมเหล่านั้น อปฺปิจฉตา และ สนฺตุฐิตา นับเข้าใน อโลภะ สลฺเลขตา และ ปริวิเวกตา นับเข้าในธรรมทั้ง ๒ คือ อโลภะและอโมหะ อิทมตฺถิตา ได้แก่ ฌาณนั่นเอง ธรรมทั้ง ๒ (คือ อโลภะ และ อโมหะ) นั้น ภิกษุผู้ประพฤติธุดงค์ย่อมกำจัดความโลภในวัตถุที่ต้องห้ามทั้งหลายได้ด้วยอโลภะ กำจัดความหลงอันกำบังโทษในวัตถุที่ต้องห้ามเหล่านั้นนั่นแล ได้ด้วยอโมหะ
อนึ่ง ย่อมกำจัดกามสุขานุโยคอันเป็นเป็นไปทางเสพปัจจัยทั้งหลายที่ทรงอนุญาตเสียได้ด้วยอโลภะ กำจัดอัตตกิลถานุโยคอันเป็นไปทางเคร่งเครียดเกินไปในธุดงค์ทั้งหลายได้ด้วยอโมหะ เพราะเหตุนั้น ธรรม ๕ ประการนี้ พึงทราบว่าเป็น ธุตธรรม
[ธุตังคะ]
ข้อว่า พึงทราบธุตังคะทั้งหลาย ความว่า พึงทราบธุดงค์ ๑๓ คือ ปังสุกูลิกังคะ ฯลฯ เนสัชชิกังคะ ธุดงค์เหล่านั้นได้กล่าวแล้วทั้งโดยอรรถ และโดยปกิณณกะมีลักษณะ เป็นต้น
วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 121
ธุดงคนิเทศ
เพราะเหตุที่พระโยคีผู้มีศีลอันสมาทานแล้ว ควรทำการสมาทานธุดงค์ (ต่อไป) ด้วยเมื่อทำอย่างนั้น ศีลของเธอมีมลทินอันล้างแล้วด้วยน้ำ คือคุณมีความมักน้อย และความสันโดษ ความขัดเกลาความสงัด ความไม่สั่งสม (กองกิเลส) ความปรารภความเพียรและความเป็นผู้เลี้ยงง่ายเป็นต้น ก็จักเป็นศีลบริสุทธิ์ดี และข้อวัตรทั้งหลายของเธอก็จักถึงพร้อมด้วย ผู้มีสมาจารทั้งปวงบริสุทธิ์ด้วยคุณคือศีลและพรตอันหาโทษมิได้ดังนี้แล้ว จักเป็นผู้ชื่อว่าตั้งอยู่ในอริยวงศ์ (ประเพณีของพระอริยเจ้า) ๓ ข้อ อันเป็นวงศ์เก่า ควรบรรลุอริยวงศ์ ข้อคำรบ ๔ กล่าวคือ ความเป็นผู้มีภาวนาเป็นที่มายินดีได้ เพราะเหตุนั้น เราจักเริ่มธุดงคกถา ณ บัดนี้ เพื่อยังคุณทั้งหลายมีความมักน้อยสันโดษเป็นอาทิ อันเป็นเหตุผ่องแผ้วแห่งศีลมีประการดังกล่าวแล้วให้ถึงพร้อมต่อไป แท้จริง ธุดงค์ (ถึง) ๑๓ ข้อ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงอนุญาตไว้สำหรับกุลบุตรทั้งหลาย ผู้สละโลกามิสได้ไม่อาลัยในร่างกายและชีวิต ใคร่จะยังอนุโลมปฏิปทาให้สำเร็จถ่ายเดียว
วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑ - หน้าที่ 121
ธุดงค์ ๑๓ นี้ คืออะไรบ้าง คือ
๐๑. ปังสุกูลลิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุล เป็นปกติ
๐๒. เตจีวริกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการทรงไว้ซึ่งไตรจีวร เป็นปกติ
๐๓. ปิณฑปาติกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการเที่ยวไปบิณฑบาตเป็นปกติ
๐๔. สปาทานจาริกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการเที่ยวไปตามลำดับเรือนเป็นปกติ
๐๕. เอกาสนิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นปกติ
๐๖. ปัตตปิณฑิกัง องค์แห่งภิกษุผู้มีอันถือเอาก้อนข้าวในบาตรเป็นปกติ
๐๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้อันไม่ฉันปัจฉาภัตรเป็นปกติ
๐๘. อารัญญิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นปกติ
๐๙. รุกขมูลิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่โคนไม้เป็นปกติ
๑๐. อัพโภกาสิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในที่แจ้งเป็นปกติ
๑๑. โสสานิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าช้าเป็นปกติ
๑๒. ยถาสันถติกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในเสนาสนะตามที่ท่านจัดให้ เป็นปกติ
๑๓. เนสัชชิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ด้วยความนั่งเป็นปกติ
พระอรหันต์ อัครสาวกผู้เลิศทางธุดงค์ คือ ท่านพระมหากัสสปะ ผู้ดำริให้มีการกระทำสังคายนาพระธรรมวินัยเป็นครั้งแรก
ขอบพระคุณในความกรุณาอย่างยิ่งค่ะ
อนุโมทนาในเมตตาและปัญญาของท่านอย่างยิ่งค่ะ
ช่วยอธิบาย ธุดงค์ ๑๓ ข้อ ให้อีกหน่อยได้หรือไม่ครับ ว่า แต่ละอย่างต้องทำอย่างไรบ้างครับ