อภยสูตร - บุคคลที่กลัวและไม่กลัวตาย ๔ จำพวก - o๓ พ.ย. ๒๕๕o

 
บ้านธัมมะ
วันที่  31 ต.ค. 2550
หมายเลข  5335
อ่าน  5,514

สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๓ พ.ย. ๒๕๕๐

เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น.

อภยสูตร

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๔๔๔


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ต.ค. 2550

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๔๔๔

๔. อภยสูตร

ว่าด้วยบุคคลที่กลัวและไม่กลัวตาย ๔ จำพวก

[๑๘๔] ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชื่อชานุโสณีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย ไม่มี พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ .... สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตาย มีอยู่ สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย มีอยู่ ดูก่อนพราหมณ์ ก็สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตายเป็นไฉน ... บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ยังไม่ปราศจากความพอใจ ยังไม่ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจากความกระหาย ยังไม่ปราศจากความเร่าร้อน ยังไม่ปราศจากความทะยานอยากในกามทั้งหลาย มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า กามอันเป็นที่รักจักละเราไปเสียละหนอ และเราก็จะต้องละกามอันเป็นที่รักไป เขาย่อมเศร้าโศก ย่อมลำบากใจ ย่อมร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญถึงความหลงใหล ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ย่อมถึงความสะดุ้งต่อความตาย

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ต.ค. 2550

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ยังไม่ปราศจากความพอใจ ยังไม่ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจากความกระหาย ยังไม่ปราศจากความเร่าร้อน ยังไม่ปราศจากความทะยานอยากในกาย มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า กายอันเป็นที่รักอย่างใดไปละหนอ และเราก็จักละกายอันเป็นที่รักไป เขาย่อมเศร้าโศก ... ดูก่อนพราหมณ์ แม้บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัวย่อมถึงความสะดุ้งต่อความตาย

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ได้ทำความดีไว้ไม่ได้ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำความป้องกันความกลัวไว้ ทำแต่บาป ทำแต่กรรมที่หยาบช้า ทำแต่กรรมที่เศร้าหมอง มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขาเมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่าเราไม่ได้ทำความดีไว้ ไม่ได้ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำความป้องกัน ความกลัวไว้ ทำแต่บาป ทำแต่กรรมที่หยาบช้า ทำแต่กรรมที่เศร้าหมอง ดูก่อนพราหมณ์ คติของคนไม่ได้ทำความดี ไม่ได้ทำกุศล ไม่ได้ทำความป้องกันความกลัว ทำแต่บาป ทำแต่กรรมที่หยาบช้า ทำแต่กรรมที่เศร้าหมอง มีประมาณเท่าใด เราละไปแล้วย่อมไปสู่คตินั้น เขาย่อมเศร้าโศก ... ดูก่อนพราหมณ์ แม้บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัวย่อมถึงความสะดุ้งต่อความตาย

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ต.ค. 2550

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความสงสัยเคลือบแคลง ไม่ถึงความตกลงใจในพระสัทธรรม มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เรามีความสงสัยเคลือบแคลง ไม่ถึงความตกลงใจในพระสัทธรรม เขาย่อมเศร้าโศก ... ดูก่อนพราหมณ์ แม้บุคคลนี้แล มีความเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ย่อมถึงความสะดุ้งต่อความตาย ดูก่อนพราหมณ์ บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตาย

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ต.ค. 2550

ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลมีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย เป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปราศจากความกำหนัด ปราศจากความพอใจ ปราศจากความรัก ปราศจากความกระหาย ปราศจากความเร่าร้อน ปราศจากความทะยานอยากในกามทั้งหลาย มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมไม่มีความปริวิตกอย่างนี้ว่า กามทั้งหลายอันเป็นที่รัก จักละเราไปเสียละหนอและเราก็จักละกามอันเป็นที่รักไป เขาย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไรไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหล ดูก่อนพราหมณ์บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัวไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ต.ค. 2550

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปราศจากความกำหนัดปราศจากความพอใจ ปราศจากความรัก ปราศจากความกระหาย ปราศจากความเร่าร้อน ปราศจากความทะยานอยากในกาย มีโรคหนักอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมไม่มีปริวิตกอย่างนี้ว่า กายอันเป็นที่รักจักละเราไปละหนอ และเราก็จักละกายอันเป็นที่รักนี้ไป เขาย่อมไม่เศร้าโศก ... ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลแม้นี้แล มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ย่อมไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย. อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ได้กระทำบาปไม่ได้ทำกรรมที่หยาบช้า ไม่ได้ทำกรรมที่เศร้าหมอง เป็นผู้ทำความดีไว้ทำกุศลไว้ ทำธรรมเครื่องป้องกันความกลัวไว้ มีโรคอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เราไม่ได้ทำกรรมอันเป็นบาป ไม่ได้ทำกรรมหยาบช้าไม่ได้ทำกรรมที่เศร้าหมอง เป็นผู้ทำกรรมดีไว้ ทำกุศลไว้ ทำกรรมเครื่องป้องกันความกลัวไว้ คติของบุคคลผู้ไม่ได้ทำบาปไว้ ไม่ได้ทำกรรมหยาบช้า ไม่ได้ทำกรรมที่เศร้าหมอง ทำกรรมดีไว้ ทำกุศลไว้ ทำกรรมเครื่องป้องกันความกลัวไว้เพียงใด เราละไปแล้ว จักไปสู่คตินั้น เขาย่อมไม่เศร้าโศก ... ดูก่อนพราหมณ์ แม้บุคคลนั้นแล มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ย่อมไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ต.ค. 2550

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีความสงสัย ไม่มีความเคลือบแคลง ถึงความตกลงใจในพระสัทธรรม มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เราไม่มีความสงสัย ไม่มีความเคลือบแคลง ถึงความตกลงใจในพระสัทธรรม เขาย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่ร่ำไรไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหล ดูก่อนพราหมณ์ แม้บุคคลนี้แลมีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ย่อมไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย ดูก่อนพราหมณ์ บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ย่อมไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย พราหมณ์ชานุโสณีได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

จบ อภยสูตรที่ ๔

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 31 ต.ค. 2550

อรรถกถาอภยสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในอภยสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-

โรคนั่นแหละ ชื่อว่า โรคาตัวกะ เพราะอรรถว่า เป็นเหตุทำชีวิตให้ลำบาก

บทว่า ผุฏฐสฺส ได้แก่ ประกอบด้วยโรคาตังกะนั้น

บทว่า อุรตฺตาฬีกนฺทติ ได้แก่ ทุบตีอกค่ำไห้

บุญกรรมท่านเรียกว่า กัลยาณะ ในบทมีอาทิว่า อกตกลฺยาโณ ดังนี้ ชื่อว่า อกตกลฺยาโณ เพราะเขาไม่ได้ทำบุญกรรมนั้นไว้. แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน จริงอยู่ บุญกรรมนั่นแลชื่อว่า กุศล เพราะเกิดจากความฉลาด กุศล ท่านเรียกว่า ภีรุตตาณะ เพราะเป็นเครื่องป้องกันสำหรับคนกลัว อกุศลกรรมอันลามก ท่านเรียกว่า บาป ในบทมีอาทิว่า กตปาโปดังนี้

บทว่า ลุทฺทํ ได้แก่ กรรมหยาบช้า

บทว่า กิพฺพิสํ ได้แก่ กรรมไม่บริสุทธิ์มีมลทิน

บทว่า กงฺขี โหติ ได้แก่ เป็นผู้ประกอบด้วยความสงสัยในฐานะทั้ง๘ คือ ในพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ ในสิกขา ในอดีต ในอนาคตทั้งในอดีตและอนาคต และในปฏิจจสมุปบาท

บทว่า วิจิกิจฺฉี ได้แก่ เป็นผู้ประกอบด้วยความลังเลใจ คือไม่ถึงความตกลงใจในพระสัทธรรมคำสั่งสอน ไม่สามารตกลงใจ ด้วยการเรียนและการสอบถาม พึงทราบความในบททั้งหมดโดยนัยนี้

จบ อรรถกถาอภยสูตรที่ ๔

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
spob
วันที่ 31 ต.ค. 2550

ข้อความในคัมภีร์ฏีกาของพระสูตรนี้ ได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ ดังนี้

ฏีกาอภยสูตร

(๑๘๔) ในอภยสูตรที่ ๔ นี้ มีคำอธิบาย (เพิ่มเติมที่นอกไปจากอรรถกถา) ดังนี้

คำว่า โสจติ เศร้าโศก ได้แก่ ย่อมเศร้าโศก เพราะความโศกมีกำลังที่เกิดในจิต หมายความว่า เดือดร้อนอยู่ภายใน เพราะเป็นความร้อนรุ่มแห่งจิต

คำว่า กิลมติ ย่อมลำบาก ได้แก่ ลำบากด้วยทุกข์ที่เกิดในกาย เพราะอำนาจของความโศกนั้นนั่นเอง

คำว่า ปริเทวติ ย่อมร่ำไร ได้แก่ บ่นเพ้อร่ำไรถึงกามคุณนั้นๆ ทางวาจา เพราะความโศกและความพลุ่งพล่านแห่งกาย

คำว่า อุรตฺตาฬึ ตีอก แก้เป็น อุรตฺตาฬํ ตีอก ความเท่ากับ อุรํ ตาเฬตฺวา ตีอก เพราะเหตุนั้น ในอรรถกถา จึงระบุว่า อุรํ ตาเฬตฺวา (ตีอก) กนฺทติ (ได้ใจความว่า ร้องไห้ไปตีอกไป)

หมายเหตุ ข้อความที่ว่า อุรํ ตาฬึ ตีอก นี้ พระฏีกาจารย์จะแก้พระบาลีโดยหลักการใช้ภาษา เพราะ เมื่อว่าตามรากศัพท์ของภาษาบาลีแล้ว บทนี้ เนื้อความจะเท่ากับ ตาฬํ และ ตาเฬตฺวา อนึ่ง ในพระบาลี ประสงค์ให้ อุรํ ตาฬึ เป็นกิริยาที่เกิดพร้อมกับกริยาว่า กนฺทติ ร้องไห้ โดยหมายถึง เมื่อขณะที่ร้องไห้ ก็ตีอก ไปพร้อมๆ กัน และโดยเหตุนี้เอง พระอรรถกถาจารย์จึงไขความออกมาเป็น ตาเฬตฺวา ซึ่งสื่อความหมายกิริยาที่เกิดพร้อมกันได้ชัดเจนกว่า ดังนั้น พระฏีกาจารย์จึงอธิบายไว้เช่นนั้น โดยมุ่งอธิบายหลักการใช้ภาษา

ในคำว่า กงฺขา ความสงสัย วิจิกิจฺฉา ความเคลือบแคลง นี้ มีคำวินิจฉัยดังต่อไปนี้

กงฺขา ผู้มีความสงสัย (ในพระบาลีเป็น กงฺขี) เพราะความสงสัยอารมณ์อย่างนี้ว่า นี้เป็นนิวรณ์ข้อที่ ๕ อย่างเดียวเท่านั้น ก็หรือสิ่งนี้เป็นอย่างไรหนอ

ท่านเรียกว่า วิจิกิจฺฉา ผู้มีความเคลือบแคลง (ในพระบาลีเป็น วิจิกิจฺฉี) เพราะเป็นผู้ไม่สามารถตัดสินได้ว่า สิ่งนี้เท่านั้นเป็นของประเสริฐ, อีกอย่างหนึ่ง เพราะมีคำอธิบายว่า "เมื่อตัดสินสภาพธรรม ย่อมลำบากใจ ได้แก่ ปราศจากความตัดสินใจ

จบ ฏีกาอภยสูตร

(แปลจากคัมภีร์อังคุตรฏีกา ทุติยภาค จตุกกนิบาตวัณณนา หน้า ๔๔๗ ภาษาบาลี ฉบับ มจร.)

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
suwit02
วันที่ 27 เม.ย. 2551
สาธุ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 5 พ.ค. 2557

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ