ความอดทนกับความอ่อนโยน

 
ปุจฉา
วันที่  1 พ.ย. 2550
หมายเลข  5347
อ่าน  1,714

๑. ความอดทนเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

๒. ความอ่อนโยนเป็นอกุศลได้ไหม

๓. ถ้าจะอบรมเจริญความอดทนและความอ่อนโยนในทางกุศลให้เกิด ต้องอาศัยอะไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 1 พ.ย. 2550

๑. ความอดทนเป็นกุศลก็มี หรือเป็นอกุศลก็มี

๒. ความอ่อนโยนเป็นอกุศลก็มี เช่น จิตเป็นอกุศลอยากได้ของ พูดด้วยวาจาอ่อนหวาน

๓. ต้องอาศัยการศึกษาพระธรรม จนเข้าใจ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 1 พ.ย. 2550

อาศัยการฟังธรรมในชุดบารมี ๑๐ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ บรรยายไว้ดีมากค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
takecare
วันที่ 1 พ.ย. 2550

ขอบูชาคุณพระรัตนตรัย

๑. ความอดทนเป็นอกุศลหรือกุศล ก็ได้ เช่น อดทนที่จะทำงานเพื่อได้เงิน ไม่บ่นเป็นกุศลก็ได้ อดทนต่อหนาวร้อนเพราะรู้ว่าเป็นธรรม หรืออดทนต่อคำพูดคนอื่น เพราะเห็นโทษของความโกรธ ดังนั้นจึงอยู่ที่จิตไม่ใช่การแสดงออกภายนอก ความอดทนจึงมีปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงเป็นเหตุให้เกิดความอดทนที่เป็นกุศล

๒. ความอ่อนโยน ถ้าเป็นจิตที่อ่อนโยนเป็นกุศล แต่การแสดงออกที่เป็นความอ่อนโยน ไม่ใช่ตัวตัดสินว่าเป็นกุศล ดังข้อความในพระไตรปิฎกเรื่องความอ่อนโยน

๓. ทุกอย่างต้องมีเหตุจึงเกิดขึ้นได้ กุศลธรรมต่างๆ มีความอ่อนโยน เมตตา และขันติก็ต้องมีเหตุคือ การฟังพระธรรมจนปัญญาเจริญขึ้นเมื่อปัญญามากขึ้น กุศลธรรมประการต่างๆ ก็เจริญขึ้นด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
takecare
วันที่ 1 พ.ย. 2550

ความอ่อนโยน

[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 341

อรรถกถา เมตตสูตร

อนึ่ง เป็นผู้ว่าง่ายอย่างใด ก็พึงเป็นผู้อ่อนโยนอย่างนั้น . บทว่า มุทุ ความว่า ภิกษุถูกพวกคฤหัสถ์ใช้ในการเป็นทูตไปรับส่งข่าว เป็นคนก็ไม่ทำตาม อ่อนแอในกิจนั้น เป็นผู้แข็งกร้าวเสีย พึงเป็นผู้อ่อนโยนในวัตรปฏิบัติ และพรหมจรรย์ทั้งสิ้น ทนต่อการไม่ต้องรับใช้ในกิจนั้น เหมือนทองที่ช่างตกแต่งด้วยดี. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า มุทุ ได้แก่เป็นผู้ไม่มีหน้าสยิ้ว คือเป็นผู้มีหน้าเบิกบาน เจรจาแต่คำที่ให้เกิดสุข ต้อนรับแขก พึงเป็นเหมือนผู้ลงสู่ ท่าน้ำที่ดีโดยสะดวก

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ปุจฉา
วันที่ 2 พ.ย. 2550

ขอเรียนถามท่านวิทยากรต่อ...

๑. ขณะที่จิตอยากได้ของแล้วพูดวาจาอ่อนหวาน สังเกตอาการอื่นๆ นอกจากวาจา ได้ไหมครับ

๒. ถ้าคนที่เขามีปกติ พูดจาไพเราะ ไม่พูดคำหยาบ แต่ก็ไม่ค่อยจริงใจ เป็นเพราะอะไร ครับ

ขอเรียนถามคุณ take care ว่า...

๑. ผู้ไม่มีหน้าสยิ้ว ปุถุชนผู้ที่ไม่ทำหน้าอย่างนี้เลย จะมีอยู่ไหมครับ

๒. แล้วผู้ที่ไม่มีหน้าสยิ้วเลย มีแต่หน้าเบิกบานตลอด คือใครครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 3 พ.ย. 2550

ขณะที่อยากได้ของคนอื่นแล้วพูดเพราะ นอกจากทางวาจา ทางกายก็ได้ เช่น เห็น อาหารของคนอื่น ก็มองด้วยความอยากรับประทานบ้าง เป็นต้น คนที่เขาพูดเพราะ แต่ไม่จริงใจ ก็แล้วแต่การสะสม อุปนิสัย แต่ถ้าเขาศึกษาธรรม ก็จะทำให้เขาเปลี่ยนในทางที่ดีขึ้น คือพูดเพราะ และจริงใจด้วยค่ะ ผู้ที่ไม่มีหน้าสยิ้ว คือ พระอนาคามีและพระอรหันต์

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
takecare
วันที่ 3 พ.ย. 2550

ขอบูขาคุณพระรัตนตรัย

๑. การแสดงออกทางกาย วาจาย่อมเกิดจากจิต ข้อนี้เป็นธรรมดา แต่การจะรู้จิตของตนหรือบุคคลใดนั้น ประการที่สำคัญที่สุด แม้จิตของเราเองก็ต้องเป็นปัญญาที่รู้ในสภาพจิตที่เกิดขึ้นกับเราเอง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยากเพราะต้องเป็นปัญญาและจิตเกิดดับ เร็วมากแม้จิตของผู้อื่นก็เช่นกัน การแสดงออกมาทางกาย วาจา บางครั้งเหมือนเราจะเดารู้ถูก แต่ต้องเป็นเรื่องของปัญญาและรู้จิตของผู้อื่นได้ ไม่ใช่อาศัยเพียงกาย วาจา ที่แสดงออกเท่านั้นดังเช่น ถ้าใครกิริยามารยาทดี ใครจะรู้ได้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล ดังนั้นตัดสินภายนอกไม่ได้ ต้องมีปัญญาด้วย ดังข้อความในพระไตรปิฎก

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 475

๒. ฐานสูตร

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกันและศีลนั้น พึงรู้ได้ด้วยกาลนาน ไม่ใช่เล็กน้อย มนสิการอยู่จึงจะรู้ ไม่มนสิการอยู่หารู้ไม่ คนมีปัญญาจึงจะรู้ คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
takecare
วันที่ 3 พ.ย. 2550

๒. เพราะกิเลสนั่นเอง ไม่ใช่อย่างอื่น สะสมมาที่จะพูดวาจาดี แต่ก็มีกิเลส

๓. เรื่อง ผู้ที่มีหน้าสยิ้ว ปุถุชนผู้ที่จะไม่ทำหน้าสยิ้วเลย ไม่มี เมื่อมีเหตุปัจจัยก็ต้องทำหน้าสยิ้ว เพราะการทำหน้าสยิ้วเกิดจากโทสมูลจิต เช่น การที่ขอทานมาขอ บางคนก็ไม่พอใจ ทำหน้าสยิ้ว เป็นต้นและ ผู้ที่จะไม่ทำหน้าสยิ้วคือ ผู้ที่ดับโทสะหมดคือ พระอนาคามี เป็นต้นไป แต่ไม่ได้หมายความว่า พระอนาคามีจะยิ้ม หน้าตาเบิกบานตลอดเวลา เฉยๆ ก็มี เพียงแต่ไม่มีทางที่จะหน้าสยิ้ว ดังข้อความในพระไตรปิฎก

[เล่มที่ 46] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ 453

อรรถกถาปูรฬาสสูตร

บทว่า ภกุฏึ วินยิตฺวาน พึงกำจัดความสยิ้วหน้า คนปัญญาทรามบางคน เห็นยาจกแล้วทำหน้าสยิ้ว พึงกำจัดความสยิ้วหน้านั้นเสีย อธิบายว่า เป็นผู้มีหน้าผ่องใส. หน้าสยิ้วหมายถึงเป็นโทสมูลจิต

[เล่มที่ 58] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ 492

ดูเอาเถิดท่านผู้เจริญทั้งหลาย เมื่อพี่ชายของผู้นี้ตายไปแล้วอาการแม้สักว่าหน้าสยิ้วก็ไม่มี เขามีใจแข็งกระด้างมาก เห็นจะอยากให้พี่ชายตายด้วยคิดว่า เราเท่านั้นจักได้ใช้สอยทรัพย์สมบัติ ลักษณะของหน้าสยิ้ว

[เล่มที่ 66] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 95

บทว่า ภากุฏิกา หน้าสยิ้ว คือ ทำหน้าสยิ้วด้วยการเห็นหน้ายู่ยี่. อธิบายว่า มีหน้าเบี้ยวบูด.

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 14 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 26 ต.ค. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ