สลดใจ กับ สังเวชใจ
๑. สลด แปลว่าอะไร
๒. สังเวช แปลว่าอะไร
๓. คำว่า สลดกับสังเวช เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
ขอท่านวิทยากรช่วยอัญเชิญพระธรรมหรืออรรถกถาในพระไตรปิฎก ที่พระโพธิสัตว์เห็นในสิ่งใดแล้วท่านสลดใจ หรือสังเวชใจขึ้นมาทันที จากนั้น ท่านก็สละราชสมบัติ หรือทรัพย์สินเพื่อออกบวช
ขอขอบพระคุณครับ
คำว่า สลด ในภาษาไทยทั่วไป หมายถึง สลดหดหู่ จิตเป็นอกุศล
คำว่า สังเวชหรือสังเวค ส่วนใหญ่นิยมแปลว่า สลด หมายถึง จิตเป็นกุศล ถอยกลับจากอกุศล เห็นภพ การเกิดโดยความเป็นภัย ดังข้อความจากอรรถกถาว่า
ขอเชิญคลิกอ่านที่นี่...
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 411
ญาณประกอบด้วยโอตตัปปะ ชื่อว่า ความสังเวช ความสังเวชนั้น ญาณประกอบด้วยโอตตัปปะ ชื่อว่า ความสังเวช ความสังเวชนั้นเกิดขึ้นแก่นางเพราะได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ตสฺมา เม อหุ สํเวโค ดังนี้
เราไปสังเวชนียสถาน เป็นที่ทำให้เกิดความสังเวช สลดใจ แต่ต้องเป็นปัญญา ที่เห็นความไม่เที่ยง เช่น พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลที่เลิศที่สุดในโลก ก็ยังต้องปรินิพพานเลย ฯลฯ เวลาที่เราได้ข่าวคนที่เรารู้จักตาย หรือได้รับอุบัติเหตุ ทำให้เราเกิดความสลดใจ ไม่ประมาทในการทำความดี เพราะความตายไม่แน่นอน เราทุกคนล้วนมีกรรมเป็นของตน ควรทำแต่กรรมดี เป็นต้น
ขอบูชาคุณพระรัตนตรัย
สังเวช สลดใจเป็นปัญญาที่เห็นตามความเป็นจริง เช่น เห็นคนแก่ เจ็บ ตาย แม้เราก็เป็นเช่นนั้น แล้วปรารภความเพียรเพื่อละอกุศล ดังเช่น พระโพธิสัตว์ออกบวช ส่วนเราก็ฟังพระธรรม เป็นต้นตัวอย่างพระโพธิสัตว์ออกบวชเพราะเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาคือสังเวชสลดใจ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 153
อรรถกถาทูตสูตร
อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า เป็นเทวทูต เพราะเป็นทูตของวิสุทธิเทพก็ได้ อธิบายว่า พระโพธิสัตว์ทุกองค์ เห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวชเท่านั้น ก็ถึงความสังเวชแล้วออกบวช. คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวชชื่อว่า เทวทูต เพราะเป็นทูตของวิสุทธิเทพทั้งหลายบ้าง ดังพรรณนามานี้.
เมื่อสังเวช แล้วปรารภความเพียร
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 120
วีริยะนี้นั้น มีความอุตสาหะเป็นลักษณะ, มีการอุปถัมภ์ สหชาตธรรมเป็นกิจ, มีการไม่ย่อท้อเป็นอาการปรากฏเฉพาะหน้า, มีความสังเวชเป็นเหตุใกล้ โดยพระบาลีว่า เป็นผู้สลดแล้ว เริ่มตั้งความเพียรไว้โดยแยบคาย ดังนี้เป็นต้น, หรือมีเหตุเป็นเครื่องเริ่มความเพียรเป็นเหตุใกล้.
สังเวช สลดใจเพราะเห็นตามความเป็นจริง (ความไม่เที่ยง) ด้วยปัญญา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ - หน้าที่ 311
อรรถกถาอธิมัตตัตถนิเทศ
บทว่า สเวโค อุปฺปชฺชติ ความสังเวชย่อมเกิดขึ้นคือ ความสังเวชในเพราะความปรวนแปรของสังขารย่อมเกิดขึ้นเพราะรู้แจ้งโทษของสังขารด้วยแสงสว่างคือ ญาณ.