ตัณหาสูตร - ตัณหาเป็นดังข่าย - ๑o พ.ย. ๒๕๕o

 
บ้านธัมมะ
วันที่  6 พ.ย. 2550
หมายเลข  5401
อ่าน  4,036

สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๑๐ พ.ย. ๒๕๕๐

เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐ น.

ตัณหาสูตร

ว่าด้วยตัณหาเป็นดังข่าย

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๕๓๘ - ๕๔๓


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 6 พ.ย. 2550

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต เล่ม ๒ (หน้า ๕๓๘ – ๕๔๓)

๙. ตัณหาสูตร

ว่าด้วยตัณหาเป็นดังข่าย

[๑๙๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงตัณหาเช่นดังข่าย ท่องเที่ยวไป แผ่ซ่านไป เกาะเกี่ยวอยู่ในอารมณ์ต่างๆ เป็นเครื่องปกคลุมหุ้มห่อสัตว์โลกนี้ ซึ่งนุงเหมือนกลุ่มด้ายอันยุ่งเหยิง ขอดเป็นปมเป็นเหมือนหญ้าปล้อง ไม่ไห้ล่วงพ้นอบาย ทุคติ วินิบาต และสังสาระไปได้ เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายก็ตัณหาเช่นดังข่าย ท่องเที่ยวไป แผ่ซ่านไป เกาะเกี่ยวอยู่ในอารมณ์ต่างๆ เป็นเครื่องปกคลุมหุ้มห่อสัตว์โลกนี้ ซึ่งนุงเหมือนกลุ่มด้ายอันยุ่งเหยิง ขอดเป็นปม เป็นเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ไม่ให้ล่วงพ้นอบายทุคติ วินิบาต และสังสาระไปได้ นั้น เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการนี้ อาศัยขันธปัญจก-ภายใน ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการนี้ อาศัยขันธปัญจกภายนอก, ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการ อันอาศัยขันธปัญจกภายใน เป็นไฉน คือ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย (๑) เมื่อมีความถือว่า เรามี (๒) ก็ย่อมมีความถือว่า เราเป็นอย่างนี้ (๓) เราเป็นอย่างนั้น (๔) เราเป็นอย่างอื่น (๕) เราเป็นอยู่ (๖) เราไม่เป็นอยู่ (๗) เราพึงเป็น (๘) เราพึงเป็นอย่างนี้ (๙) เราพึงเป็นอย่างนั้น (๑๐) เราพึงเป็นอย่างอื่น (๑๑) แม้ไฉนเราพึงเป็น (๑๒) แม้ไฉนเราพึงเป็นอย่างนี้ (๑๓) แม้ไฉนเราพึงเป็นอย่างนั้น (๑๔) แม้ไฉนเราพึงเป็นอย่างอื่น (๑๕) เราจักเป็น (๑๖) เราจักเป็นอย่างนี้ (๑๗) เราจักเป็นอย่างนั้น (๑๘) เราจักเป็นอย่างอื่น ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการนี้อาศัยขันธปัญจกภายใน

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 6 พ.ย. 2550

ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการ อันอาศัยขันธปัญจกภายนอกเป็นไฉน คือดูก่อนภิกษุทั้งหลาย (๑) เมื่อมีความถือว่า เรามี ด้วยขันธปัญจกนี้ (๒) ก็ย่อมมีความถือว่า เราเป็นอย่างนี้ ด้วยขันธปัญจกนี้ (๓) เราเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกนี้ (๔) เราเป็นอย่างอื่น ด้วยขันธปัญจกนี้ (๕) เราเป็นอยู่ด้วยขันธปัญจกนี้ (๖) เราไม่เป็นอยู่ ด้วยขันธปัญจกนี้ (๗) เราพึงเป็น ด้วยขันธปัญจกนี้ (๘) เราพึงเป็นอย่างนี้ ด้วยขันธปัญจกนี้ (๙) เราพึงเป็นอย่างนั้น ด้วยขันธปัญจกนี้ (๑๐) เราพึงเป็นอย่างอื่น ด้วยขันธปัญจกนี้ (๑๑) แม้ไฉนเราพึงเป็น ด้วยขันธปัญจกนี้ (๑๒) แม้ไฉนเราพึงเป็นอย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้ (๑๓) แม้ไฉนเราพึงเป็นอย่างนั้น ด้วยขันธปัญจกนี้ (๑๔) แม้ไฉนเราพึงเป็นอย่างอื่น ด้วยขันธปัญจกนี้ (๑๕) เราจักเป็น ด้วยขันธ-ปัญจกนี้ (๑๖) เราจักเป็นอย่างนี้ ด้วยขันธปัญจกนี้ (๑๗) เราจักเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกนี้ (๑๘) เราจักเป็นอย่างอื่น ด้วยขันธปัญจกนี้ ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการนี้อาศัยขันธปัญจกภายนอก ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการ อาศัยขันธปัญจกภายใน ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการ อาศัยขันธปัญจกภายนอก ด้วยประการฉะนี้ รวมเรียกว่า ตัณหาวิจริตเห็นปานนี้ที่เป็นอดีต ๓๖ อนาคต ๓๖ เป็นปัจจุบัน ๓๖ รวมเป็นตัณหาวิจริต ๑๐๘ ด้วยประการ ฉะนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตัณหานี้นั้นแล เช่นดังข่าย ท่องเที่ยวไปแผ่ซ่านไป เกาะเกี่ยวอยู่ในอารมณ์ต่างๆ เป็นเครื่องปกคลุมหุ้มห่อสัตว์โลกนี้ ซึ่งนุงเหมือนด้ายอันยุ่งเหยิง ขอดเป็นปม เป็นเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ไม่ให้ล่วงพ้นอบาย ทุคติ วินิบาต และสังสาระไปได้

จบตัณหาสูตรที่ ๙

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 6 พ.ย. 2550

อรรถกถาตัณหาสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในตัณหาสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ชาลินึ คือ เสมือนตาข่าย. อธิบายว่า ขึ้นชื่อว่าตาข่ายที่เขาถักไว้ยุ่งเหยิงโดยรอบ ฉันใด แม้ตัณหาก็ฉันนั้น ท่านเรียกว่า ชาลินี

เพราะเป็นเสมือนตาข่าย ตัณหาชื่อว่า ชาลินี เพราะตัณหานี้ครอบงำภพ ๓ อยู่ มีตาข่ายอันเป็นส่วนของตนในภพนั้นๆ ดังนี้ ก็มี

บทว่า สสริต คือ ท่องไปในภพนั้นๆ อยู่

บทว่า วิสฏ ได้แก่ แผ่ไป คือ ซ่านไป

บทว่า วิสตฺติก ได้แก่ ข้องติดอยู่ในภพนั้นๆ อีกอย่างหนึ่งพึงเห็นเนื้อความโดยนัยเป็นต้นว่า ตัณหาชื่อ วิสัตติกา มีรากเป็นพิษ ตัณหาชื่อวิสัตติกา มีผลเป็นพิษ ดังนี้

บทว่า อุทฺธสฺโต ได้แก่ ปกคลุมเบื้องบน

บทว่า ปริโยนทฺโธ ได้แก่ หุ้มรัดไว้โดยรอบ

บทว่า ตนฺตากุลกชาโต คือ ยุ่งเหยิงเหมือนด้ายยุ่ง. อธิบายว่าด้ายของ ช่างหูก เก็บไว้ไม่ดี ถูกหนูกัด ย่อมยุ่งเหยิงในที่นั้นๆ ยากที่จะกำหนดปลายกับปลาย หรือโคนกับโคน ว่านี้ปลาย นี้โคน ดังนี้ ฉันใดสัตว์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถูกตัณหานี้รึงรัด วุ่นวายยุ่งเหยิง ไม่สามารถจะทำทางเล่นออกแห่งตัณหาของตนให้ตรงได้

บทว่า คุลาคุณฺฑิกชาโต ได้แก่ ด้ายที่ชุบน้ำข้าวของช่างหูกท่านเรียกว่า คุลาคุณฑิกะ (ด้ายชุบน้ำข้าว) อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า รังของนางนกชื่อว่า คุลา ดังนี้ก็มี พึงประกอบเนื้อความโดยนัยก่อนว่า แม้ทั้งสองนั้น ก็ยุ่งยากที่จะกำหนดปลายกับปลาย หรือโคนกับโคน ฉันใด

บทว่า มุญฺชปพฺพชภูโต ได้แก่ เกิดเป็นดุจหญ้ามุงกระต่าย และหญ้าปล้อง คือ โลกเกิดเป็นเช่นนั้น การที่จะถือเอาเชือกที่เขาทุบหญ้าเหล่านั้นๆ ทำแล้วตกไปในที่ไหนๆ ในเวลาที่มันเก่าแล้ว ก็ยากที่จะเก็บกำหนดปลายหรือโคนของหญ้าเหล่านั้นได้ว่า นี้ปลาย นี้โคน ดังนี้ ผู้ที่ตั้งอยู่ในความพยายามเฉพาะตัวจึงสามารถทำเชือกแม้นั้นให้ตรงได้ เว้นพระโพธิสัตว์เสีย สัตว์อื่นก็ไม่สามารถจะทำลายตาข่าย คือตัณหา โดยธรรมดาของตนแล้ว ทำทางแล่นออกจากทุกข์ของตนให้ตรงได้ ฉันใด โลกนี้ก็ฉันนั้น ถูกตาข่ายคือตัณหาหุ้มรัดไว้ย่อมไม่ล่วงพ้นอบาย ทุคติ วินิบาต และวัฏสงสารไปได้ ในบทเหล่านั้น

บทว่า อปาโย ได้แก่ นรก กำเนิดเดียรัจฉานเปตติวิสัยและอสุรกาย. แม้ทั้งหมดเหล่านั้นท่านเรียกว่า อบาย เพราะไม่มีความเจริญ กล่าวคือ ไม่มีความงอกงาม. อนึ่ง ชื่อว่า ทุคติ เพราะความเป็นทางไปแห่งทุกข์ ชื่อ วินิบาต เพราะตกไปจากกายที่เป็นสุข. ส่วนนอกนี้ มีอธิบายว่าลำดับแห่งขันธ์ ธาตุ อายตนะเป็นไปอยู่ไม่ขายสาย ท่านเรียกว่า สังสาระ. โลกไม่ล่วงไม่พ้นทั้งหมดนั้น โดยที่แท้ โลกถือเอาจุติและปฏิสนธิบ่อยๆ อย่างนี้ คือ ต่อจากจุติถือเอาปฏิสนธิ ต่อจากปฏิสนธิถือเอาจุติย่อมหมุนเวียนไปในภพ ๓ กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐิติ ๗ สัตตาวาส ๙ ดุจเรือถูกลมซัดไปในมหาสมุทร ดุจโคที่เทียมยนต์

บทว่า อชฺฌตฺติกสฺส อุปาทาย แปลว่า อาศัยขันธปัญจกภายใน

บทว่า อชฺฌตฺติกสฺส นี้เป็น ฉัฏฐิวิภัตติ ลงในอรรถแห่งทุติยาวิภัตติ

บทว่า พาหริสฺส อุปาทาย แปลว่า อาศัยขันธปัญจกภายนอก

บทว่า อสฺมีติ ภิกฺขเว สติ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การรวมถือเอาด้วยอำนาจตัณหามานะทิฏฐิ อาศัยขันธปัญจกภายในนี้ใด ย่อมมี ความนึกว่าเราเป็น ย่อมมี คือ ความนึกในขันธปัญจกนั้น. ก็ในบททั้งหลายมีอาทิว่า อิตฺถสฺมีติ โหติ ดังนี้ เมื่อมีการยึดถือโดยรวบรัดอย่างนี้ว่า “เป็นเรา” ย่อมเป็นอันยึดถือโดยส่วนสอง คือ ไม่เทียบและเทียบ ในบทเหล่านั้นบทว่า อนุปนิธาย ความว่าไม่เทียบเหตุอื่น คือ ความนึกว่า“เราเป็นอย่างนี้” ย่อมมี เพราะทำให้เป็นอารมณ์ในธรรม คือความลามกตามภาวะของตน อธิบายว่า ความนึกว่า “ในบรรดากษัตริย์เป็นต้น เราเป็นอย่างนี้” ย่อมมีด้วยอำนาจตัณหามานะและทิฏฐิอย่างนี้. นี้คือการไม่เทียบยึดถือ. ส่วนการเทียบยึดถือมีสองอย่าง คือ โดยเสมอกัน และโดยไม่เสมอกัน เพื่อทรงแสดงข้อนั้น จึงตรัสว่า เราเป็นอย่างนั้น และเราเป็นอย่างอื่น. ในบทเหล่านั้นบทว่า เอวสฺมิ นี้ได้แก่ เทียบยึดถือโดยเสมอกันว่า เราเป็นเหมือนกษัตริย์องค์นี้ เป็นเหมือนพราหมณ์ผู้นี้

บทว่า อญฺถาสฺมิ ความว่า ก็การยึดถือโดยไม่เสมอกันดังนี้ว่า เราเป็นคนเลว หรือ เป็นคนดีกว่า นอกจากกษัตริย์องค์นี้ นอกจากพราหมณ์ผู้นี้ พึงทราบ ตัณหาวิจริต (ความคิดนึกด้วยอำนาจตัณหา) ๔ อย่าง เหล่านี้ โดยอำนาจปัจจุบันกาลก่อน. ก็ตัณหาวิจริตสองเหล่านี้ คืออสสฺมีติ สตสฺมีติ พึงทราบว่า เพราะเหตุที่ บทว่า อสสฺมิ นี้เป็นชื่อของความเที่ยงของสิ่งที่ไม่เที่ยง

บทว่า สตสฺมิ เป็นชื่อของความไม่เที่ยงของสิ่งที่เที่ยง ฉะนั้น จึงตรัสด้วยอำนาจสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ. ตัณหาวิจริต ๔ มีคำว่า สนฺติ (เราพึงเป็น) เป็นต้นต่อจากนี้ ตรัสด้วยอำนาจความสงสัยและความปริวิตก. ในตัณหาวิจริตทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า สนฺติ โหติ (ความนึกว่าเราพึงเป็น) พึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า ความนึกว่า “เราพึงเป็น” ย่อมมี. ส่วนการอธิบายในบทนี้ พึงถือเอาโดยนัยที่กล่าวแล้วในหมวด ๔ ก่อนๆ อีกอย่างหนึ่ง ตัณหาวิจริต ๔ มีคำว่า อปิ สนฺติ (แม้ไฉนเราพึงเป็น) เป็นต้น ตรัสด้วยอำนาจความปรารถนา และความตั้งใจ อย่างนี้ว่าไฉนเราจะพึงเป็น ดังนี้. ตัณหาวิจริตแม้เหล่านั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในหมวด ๔ ก่อนๆ ก็ตัณหาวิจริต ๔ มีคำว่า ภวิสฺสนฺติ (เราจักเป็น) เป็นต้น ตรัสด้วยอำนาจอนาคตกาล พึงทราบเนื้อความแห่งตัณหาวิจริตเหล่านั้น โดยนัยที่กล่าวแล้วในหมวด ๔ ก่อนๆ นั้นแล. บัณฑิตพึงทำให้แจ้งซึ่งตัณหาวิจริต ๑๘ เหล่านี้ คือ ทิฏฐิสีสะ ๒ สุทธสีสะ ๔ สีสมูลกะ ๑๒ ก็ในตัณหาวิจริตเหล่านั้น ๒ หัวข้อเหล่านี้ คือ อสสฺสมีติ (ความนึกว่าเราเป็นอยู่) และ สตสฺมีติ (ความนึกว่าเราไม่เป็นอยุ่) ชื่อว่า ทิฏฐิสีสะ ๔ หัวข้อเหล่านี้คือ อสฺมีติ (ความนึกว่าเรามี) อิตฺถสฺมีติ (ความนึกว่าเราเป็นอย่างนี้) เอวสฺมีติ (ความนึกว่าเราเป็นอย่างนั้น) และ อญฺญถาสฺมีติ

(ความนึกว่าเราเป็นอย่างอื่น) ชื่อว่า สุทธสีสะ ๑๒ หัวข้อเหล่านี้ คือ ตัณ-หาวิจริต ๓ หมวด (หมวดละ ๔) ที่เหลือ มีบทว่า สนฺติ โหติ (ความนึกว่าเราพึงเป็น) ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า สีสมูลกะ. พึงทราบธรรมคือตัณหาวิจริต ๑๘ เหล่านี้คือ ทิฏฐสีสะ ๒ สุทธสีสะ ๔ สีสมูลกะ ๑๒ ดังกล่าวมาฉะนี้. พึงทราบตัณหาวิจริต ๑๘ อาศัยขันธปัญจกภายในเหล่านี้ก่อน. ส่วนในตัณหาวิจริตอาศัยขันธปัญจกภายนอกก็นัยนี้เหมือนกัน

บทว่า อิมินา พึงทราบความต่างกันนี้ คือ ด้วยรูปนี้หรือ ฯลฯ ด้วยวิญญาณนี้

บทที่เหลือเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน

บทว่า อิติ เอวรูปานิ อตีตานิ ฉตฺตึส ได้แก่ ตัณหาวิจริต ๓๖ ในกาลเป็นอดีตของบุคคลแต่ละคน

บทว่า อนาคตานิ ฉตฺตึส ไ ด้แก่ ตัณหาวิจริต ๓๖ ในอนาคตกาลของบุคคลแต่ละคน.

บทว่า ปจฺจุปฺปนฺนานิ ฉตฺตึส ได้แก่ ตัณหาวิจริต ๓๖ ในปัจจุบันกาลของบุคคลคนหนึ่งหรือมากคน ตามเหตุที่เป็นจริง ตัณหาวิจริต ในอดีตกาล ๓๖ ในอนาคตกาล ๓๖ ในปัจจุบันกาล ๓๖ โดยทำนองนี้แหละของสัตว์ทั้งหมด จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายอันต่างกันด้วยตัณหา มานะทิฏฐิ หาประมาณมิได้ ไม่มีที่สุด ก็ในบทว่า อฏฺตณฺหา วิจริตสตโหตินี้ พึงเห็นความอย่างนี้ว่า ตัณหาวิจริต รวมเป็น ๑๐๘ ดังนี้

จบ อรรถกถาตัณหาสูตรที่ ๙

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
orawan.c
วันที่ 7 พ.ย. 2550

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
spob
วันที่ 8 พ.ย. 2550

๙. ฏีกาตัณหาสูตร

ในตัณหาสูตรที่ ๙ มีคำอธิบาย ดังนี้ ฯ

ตัณหาที่ชื่อว่า ชาลินี เพราะมีตาข่าย ที่ครอบคลุมภพทั้งสามตั้งอยู่ ซึ่งพระผู้มีพระภาค ตรัสถึงไว้ ด้วยพระดำรัสเป็นอาทิว่า อชฺฌตฺติกสฺส อุปาทาย อฏฺฐารส ตณฺหาวิจริ ตานิ ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการนี้ อาศัยขันธปัญกะภายใน เป็นส่วนหนึ่งของตน นั้นๆ เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านจึงกล่าวไว้ในอรรถกถาว่า ตัณหาชื่อว่า ชาลินี เพราะตัณหานี้ครอบงำภพ ๓ อยู่ มีตาข่ายอันเป็นส่วนของตนในภพนั้นๆ ดังนี้ก็มี

ข้อความในอรรถกถาว่า ตตฺถ ตตฺถ ในนั้น ได้แก่ ในภพนั้น หรือ ในอารมณ์นั้นๆ

เมื่อจะแสดงเนื้อความของบทว่า วิสตฺติกา มีรากเป็นพิษ โดยนัยที่มาในคัมภีร์นิทเทสด้วยข้อความเป็นอาทิว่า อปิจ อีกนัยหนึ่ง ท่านพระอรรถกถาจารย์จึงแสดงส่วนหนึ่งแห่งพระบาลีนิทเทส ด้วยข้อความว่า อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นความโดยนัยเป็นต้นว่าตัณหาชื่อ วิสัตติกา มีรากเป็นพิษ ตัณหา ชื่อ วิสัตติกา มีผลเป็นพิษ ฯ จริงอย่างนั้น มีข้อความในคัมภีร์มหานิทเทส ว่าคำว่า วิสัตติกา ความว่า เพราะอรรถว่าอะไร ตัณหา จึงชื่อว่าวิสัตติกา (ซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ) เพราะอรรถว่า วิสตา ซ่านไป ตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา, เพราะอรรถว่า วิสฏา แผ่ไป ตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา เพราะอรรถว่า วิสาล แผ่ขยายตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา เพราะอรรถว่า วิสกฺกติ ครอบงำ ตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา เพราะอรรถว่า วิสํหรติ สะท้อนไป ตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา เพราะ อรรถว่า วิสํวาทิกา เป็นเหตุให้พูดผิด ตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา เพราะอรรถว่า วิสมูลา มีมูลรากเป็นพิษ ตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา เพราะอรรถว่า วิสผลา มีผลเป็นพิษ ตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา เพราะอรรถว่า วิสปริโภคา เป็นเครื่อง บริโภคสิ่งเป็นพิษ ตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา

อีกนัยหนึ่ง ตัณหานั้นแผ่ไปใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ, สกุล คณะ ที่อยู่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร, กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ กามภพ รูปภพ อรูปภพ สัญญาภพอสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ ในอดีต ในอนาคต ในปัจจุบัน แล่นไป ซ่านไป ในรูปที่เห็นแล้ว ในเสียงที่ได้ยินแล้ว กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ ทราบแล้ว, และในธรรมที่พึงรู้แจ้ง ตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 13)

ในบาลีนิทเทสนั้น

คำว่า วิสตา ซ่านไปแล้ว ได้แก่ แผ่ไป โดยการซึมซาบไปในเตภูมิกธรรม มีรูป เป็นต้นท่านกล่าวคำแรกนั่นเองว่า วิสฏา เพราะ แปลง ต อักษร เป็น ฏ อักษร

คำว่า วิสาล แผ่ขยาย ได้แก่ ไพบูลย์ (มากมาย)

คำว่า วิสกฺกติ อดทน ได้แก่ ย่อมอดกลั้น ก็ ชนผู้กำหนัดด้วยวัตถุน่ายินดีแล้ว แม้ถูกบุคคลอื่นเฆี่ยนตีอยู่ ก็อดทนได้. อีกอย่างหนึ่ง อาจารย์บางท่านเรียกการดิ้นรนว่า วิสกฺกนํ

คำว่า วิสหรติ สะท้อนกลับ ความว่า เมื่อเห็นอานิสงส์ในกามทั้งหลายอย่างนั้นๆ จึงนำ คือ ชักจิต จากที่เป็นไปมุ่งเนกขัมมะ มาอีก ด้วยอาการหลายอย่าง ฯ อีกอย่างหนึ่ง คำว่า วิสํ ได้แก่ ทุกข์ ตัณหานี้ย่อมน้อมนำจิตไปสู่ความทุกข์นั้น ฯ

คนที่ถือเอาสภาพธรรมที่ไม่เที่ยงเป็นต้น โดยความเป็นสิ่งที่เที่ยงเป็นต้น ชื่อว่า วิสํวาทิกา ย่อมเป็นผู้พูดผิดๆ

คำว่า วิสมูลา มีมูลเป็นพิษ เพราะความเป็นเหตุแห่งกรรมที่ให้เกิดทุกข์. อีกอย่างหนึ่ง ตัณหานี้ ชื่อว่า วิสมูลา เพราะอรรถว่า มี วิสํ คือ เวทนาที่เป็นทุกขทุกข์เป็นต้น (คือ ทุกขเวทนานั่นแหละ) เป็นมูล

คำว่า วิสผลา มีผลเป็นพิษ เพราะมีความหมายว่า มีผลเป็นพิษ เพราะเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ การบริโภคสิ่งที่เป็นทุกข์มีรูปเป็นต้น ซึ่งไม่ใช่อมตะ ย่อมมีด้วยตัณหา เหตุนั้น ตัณหานั้นท่านจึงกล่าวว่า วิสปริโภคา มีการบริโภคเป็นพิษ บทที่สำเร็จรูปในที่ทั้งปวง พึงทราบตามหลักภาษา

ก็ในนิทเทสนี้ ท่านพระสารีบุตรเถระจะกล่าวเนื้อความที่เป็นหลักอีก จึงกล่าวว่า วิสาลา ปน สา ตณฺหา อีกนัยหนึ่ง ตัณหานั้นแผ่ไป ซ่านไป แล่นไปใน รูป ดังนี้เป็นต้นไว้ กลุ่มด้ายที่ นายช่างหูกพันที่ไม้แล้วคลี่ออก เพื่อการทอผ้า เรียกว่า ตันตะ เพราะอธิบายว่า ตนียติ ย่อมให้คลี่ออก (หมายความว่า ตนฺต คือ ด้ายที่คลี่ออกเสร็จเรียบร้อยแล้วพร้อมที่จะนำไปทอผ้า ส่วน สุตฺตวฏฺฏิ เป็นกลุ่มด้ายที่ยังไม่ได้คลี่ออกสมภพ) ก็ ท่านถือเอาด้ายนั้น ที่ยุ่งเหยิงนั่นแหละ โดยเป็นเครื่องแสดง เพราะเป็นสิ่งที่ยุ่งเหยิงสืบต่อกัน ดังนั้น พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวว่า ยุ่งเหยิงเหมือนด้ายยุ่ง

ข้อความในอรรถกถาว่า ด้ายของช่างหูก เก็บไว้ไม่ดี ถูกหนูกัด ย่อมยุ่งเหยิงในที่นั้นๆ ยากที่จะกำหนดปลายกับปลาย หรือโคนกับโคน ว่า นี้ปลาย นี้โคนดังนี้ ฉันใด เป็นต้นนี้ แสดงเนื้อความที่ได้กล่าวอย่างสังเขปไปแล้วให้กว้างขวาง

ข้อความในอรรถถถาว่า สมาเนตุ กำหนด หมายถึง นำข้างต้นมาทำให้เท่ากันกับข้างปลาย,คือ ทำให้เท่ากัน ให้ตรงกัน. หรืออีกนัยหนึ่ง ความยุ่งเหยิงคือด้าย ชื่อว่า ตนฺตา กุลํ สัตว์โลกเป็นผู้เหมือนความยุ่งเหยิงคือด้าย

เส้นด้ายที่เคลือบด้วยแป้งเปียก ชื่อว่า คุณฐิกะ (ด้ายชุบ) ของนายช่างหูก ที่ได้ชื่อด้วยอำนาจอิตถีลิงค์อย่างนี้ว่า คุลา เพราะการทอ ก็เป็นสิ่งที่รู้ข้างต้นหรือปลายได้ยากทีเดียว เพราะเป็นของที่หมุนไปรอบ ดังนั้น ในอรรถกถาท่านจึงกล่าวว่า คุลาคุณฺฑฐิกํ วุจฺจติ เปสการกญฺชิยสุตฺตํ ด้ายที่ชุบน้ำข้าวของช่างหูก ท่านเรียกว่า คุลาคุณฑิกะ (ด้ายชุบของช่างหูก) นกคุ่ม (ท่านใช้ศัพท์ว่า ปฏปทสกุณิกา มาจาก ปฏ แผ่น + ปท เท้า + สกุณิกา นางนก ที่มีขาเป็นพังผืดน่าจะได้แก่นกที่จัดอยู่ในกลุ่มของนกเป็ด, ในฏีกามหานิทานสูตร มหาวรรคฏีกา อธิบายว่า กุลาวกสกุณิกา ซึ่งเคยแปลกันมาว่า นกคุ่ม, นกไส้, นกกระจาบ) ชื่อว่า สกุณิกา แม่นก ก็นางนกนั้น เป็นนกที่ทำรังไว้ตามกิ่งไม้. มันนำวัสดุ เช่น หญ้าเล็กๆ เป็นต้น จากที่นั้นๆ มาสู่รังนั้นแล้วสานขึ้นชนิดที่ใครๆ ไม่อาจที่กำหนด หรือพิจารณาข้างต้นโดยข้างต้น หรือ ข้างปลายโดยข้างปลายได้ เหมือนอย่างเส้นด้าย ชุบน้ำข้าวของนายช่างหูก ฉะนั้น ฯ เพราะเหตุนี้แหละ

ในอรรถกถา จึงแสดงไว้ว่า ว่า แม้ทั้งสองนั้น ก็ยุ่งยากที่จะกำหนดปลายกับปลาย หรือ โคนกับโคน ฉันใด ฯ ด้ายชุบน้ำข้าวและรังนกแม้ทั้งสองอย่างนั้น ก็เรียกว่า คุลาคุณฐิกะ เหมือนกัน

ข้อความที่ว่า ปุริมนเยเนว พึงประกอบความโดยนัยก่อน หมายถึง โดยนัยที่ได้กล่าวไปแล้วว่า เอวเมว สตฺตา สัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน หญ้าปล้องและหญ้ามุงกระต่ายทั้งหลาย แม้ตามที่เกิดมา ก็เพราะเป็นพืชใบยาวครั้นหล่นไปแล้วจึงปกปิดกันและกัน พัวพันยุ่งเหยิง ตั้งอยู่ในสถานที่ป่า แม้ก็จริง แต่กระนั้นก็จะเป็นสิ่งที่จะพิจารณาได้ยากเหมือนอย่างตอนที่ทำเป็นเชือกแล้ว ก็หามิได้ เพราะเหตุนั้น ในอรรถกถาจึงแสดงไว้ว่า การที่จะถือเอาเชือกที่เขาทุบหญ้าเหล่านั้นๆ แล้วทำตกไปในที่ไหนๆ ในเวลาที่มันเก่าแล้ว ก็ยากที่จะเก็บกำหนดปลายหรือโคนของหญ้าเหล่านั้นได้ว่า นี้ปลาย นี้โคน ดังนี้ ดังนี้ไว้

ข้อความที่เหลือในตอนนี้ มีนัยที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นทีเดียวฯ

ข้อความในอรรถกถาว่า อปายา อบาย ได้แก่ ภูมิที่ไม่มีความเจริญ, หมายความว่า เว้นจากความสุข หรือเหตุของความสุข

ข้อความในอรรถกถาว่า ทุกฺขสฺส คติภาวโต เพราะเป็นทางไปของทุกข์ หมายถึง เพราะเป็นฐานะที่ตั้งของทุกข์ที่มีในอบาย สุขสมุสฺสยโต จากความเจริญสุข ได้แก่ จากความเจริญยิ่งขึ้น เพราะตกไป เพราะตกไปสู่รูปที่น่าเกลียด คือว่า ความเจริญสุข โดยอัตตภาพนั้น จะไม่มีโดยประการใด ก็ตกไปโดยประการนั้น

ข้อความในอรรถกถาว่า อิตโร นอกนี้ หมายถึง สังสาระนอกนี้ ท้วงว่า พระผู้มีพระภาคตรัสถึงสังสาระไว้ ด้วยคำว่า อบาย เป็นต้น นั่นแหละ แล้ว มิใช่หรือ? ตอบว่า คำนั้นเป็นจริงแล้ว, ท่านระบุว่า อบาย เป็นต้น เพื่อแสดงภาวะที่อบายมีนรกเป็นต้นเป็นทุกข์มีประมาณยิ่ง. โปรดทราบว่า ความหมายแบบนี้เป็นการกล่าวแบบโคพ-ลิพัทธนัย

(โคพลิพัทธนัยเป็นสำนวนอย่างหนึ่งในพระไตรปิฎก หมายถึง การกล่าวถึงศัพท์หนึ่งให้หมายถึง สิ่งที่นอกจากศัพท์หนึ่ง เหมือนที่กล่าวว่า โคพลิพัทธ์ นั่นก็คือ ธรรมดาว่า โค ย่อมหมายถึง โคทั่วไป คือ วจฺฉ ลูกวัว ทมฺม วัวหนุ่ม พลิพทฺธ วัวมีกำลัง ชรคฺคว วัวแก่ โดยไม่เจาะจงว่าเป็นโคชนิดไหน แต่เมื่อมีคำว่า พลิพัทธ์ กำกับอยู่ คำว่า โค ข้างหน้า จึงหมายถึงวัวที่เหลืออีก ๔ ประเภท เว้นโคพลิพัทธ์ ฉันใด เมื่อกล่าวถึง คำว่า อบาย เป็นต้น ข้างหน้า แล้วกำกับคำว่า สังสาระ ไว้ข้างหลังอีก ดังนั้น สังสาระที่เหลือ จึงไม่ใช่เหฏฐิมสังสาระ มี อบายเป็นต้น แต่หมายถึง สังสาระทั้งหมด กล่าวคือ ความสืบต่อกันแห่งขันธ์เป็นต้นไม่ขาดสายนั่นเอง มีมนุษย์เป็นต้น ซึ่งนอกจากอบายเป็นต้น ดังที่ท่านพระอรรถกถาจารย์จะพรรณนาคำว่า สังสาระนี้ไว้ต่อจากนี้ฯ

ด้วยเหตุนี้ ท่านพระฏีกาจารย์จึงได้ตั้งปัญหาซักซ้อมความเข้าใจว่า ถึงแม้จะได้กล่าวถึงสังสาระไปส่วนหนึ่งแล้วด้วยคำว่า อบายเป็นต้น แล้ว ทำไมต้องมีคำว่าสังสาระข้างหลังอีกเล่า?)

ข้อความในอรรถกถาว่า ลำดับแห่งขันธ์ หมายความว่า ความเป็นไปสืบต่อกันแห่งขันธ์ห้า โดยความเป็นเหตุและผล

ข้อความว่า เป็นไปอยู่ไม่ขาดสาย หมายความว่า เป็นไปอยู่ โดยไม่ขาดกัน

ข้อความว่า ทั้งหมดนั้น หมายถึง ทุกข์ในอบายและวัฏฏทุกข์ทั้งหมดที่ตรัสไว้ว่า อปายํ ทุคฺคตึ วินิปาตํ สํสารํ (ไม่ให้ล่วงพ้น) อบาย ทุคติ วินิบาต สังสาระ นั้น

ข้อความว่า ดุจเรือถูกลมซัดไปในมหาสมุทร นี้ เป็นอุปมาแสดงสถานที่สัตว์หมุนเวียนไปเป็นสถานที่ยิ่งใหญ่ และแสดงความที่การหมุนเวียนไปเป็นสภาพไม่ตั้งมั่น (ล่องลอยไปมา)

แต่ข้อความว่า ดุจโคที่เทียมยนต์ นี้ ควรทราบว่า เป็นอุปมาแสดงความไม่มีอำนาจ และความหลุดพ้นไปได้ยาก

มีบางท่านอธิบายว่า คำว่า สมูหคฺคาโห ได้แก่ การถือเอาที่สาธารณะแก่ตัณหา มานะ ทิฏฐิ. ก็ควรเห็นว่า การรวมถือเอา คือ การถือเอาไม่ทำให้มีความต่างกันว่า อย่างนั้น, อย่างนี้ อย่างอื่นฯ อนึ่ง ที่ว่า ไม่ทำให้มีความต่างกัน หมายถึง ไม่ทำการจำแนกนี้ว่า ไม่เปรียบเทียบหนึ่ง และเปรียบเทียบโดยเสมอกันและไม่เสมอกัน หนึ่ง เพราะ ท่านกล่าวถึงความไม่เปรียบเทียบกันว่า อิตฺถํ อย่างนั้น กล่าวถึงความเปรียบเทียบโดยเสมอและไม่เสมอกันว่า เอวํ อย่างนี้ และ อญฺญถา อย่างอื่น

ที่ว่า อญฺญํ อาการํ ลักษณะอย่างอื่น ได้แก่ ลักษณะที่เป็นไปในตัวผู้อื่น

ข้อความว่า อตฺถิ มีอยู่ หมายความว่า มีอยู่ทุกเมื่อ

ข้อความว่า สีทติ ย่อมจมลง แปลว่า นสฺสติ ย่อมสูญไป

ข้อความว่า ด้วยอำนาจการสงสัยและปริวิตก คือ ด้วยอำนาจการคิดนึกไป อย่างนี้ว่า เราพึงมีหรือไม่มีกันหนอ?

ข้อความว่า ด้วยอำนาจความปรารถนาและความตั้งใจ คือ ด้วยการตั้งความหวังอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ เราพึงเป็นคนดีฯ

คำว่า สุทธสีสะ หมายถึง สีสะที่ทั่วไปแก่ตัณหา มานะ และทิฏฐิ. สีสะที่ท่านเรียกว่าสุทธสีสะ เพราะไม่อาศัยความต่างกันที่กล่าวว่า อย่างนั้น อย่างนี้ อย่างอื่น (หมายถึงหัวข้อที่สามารถสงเคราะห์ได้ทั้งตัณหาหรือมานะหรือทิฏฐิ เพราะไม่มีการเปรียบเทียบอย่างใดอย่างหนึ่ง)

ในสีสะที่กล่าวมานั้น ท่านแสดงตัณหาที่ไม่เว้นจากทิฏฐินั้น เพราะถูกทิฏฐิถือเอาด้วยทิฏฐิสีสะ (แสดงตัณหาโดยยกทิฏฐิเป็นหัวข้อ) และตัณหานี้นั่นแหละ ท่านแสดงไว้ด้วยสุทธสีสะ ๔ หมวด และ มานะและทิฏฐิ ที่เป็นสีสมูลกะ ๑๒ หมวด (หมายถึง แสดงตัณหาที่ยกมานะ และ ทิฏฐิ เป็นมูลฐานของหัวข้อ) เพราะเหตุนั้น ท่านจึงแสดงไว้ในอรรถกถาว่า พึงทราบธรรมคือตัณหาวิจริต ๑๘ เหล่านี้คือ ทิฏฐสีสะ ๒ สุทธสีสะ ๔ สีสมูลกะ ๑๒ ดังกล่าวมาฉะนี้

ท้วงว่า ท่านประสงค์เอาการถือเอาด้วยมานะทิฏฐิ มิใช่หรือ เพราะในอรรถกถาท่านกล่าวไว้ว่า การรวมถือเอาด้วยอำนาจตัณหามานะทิฏฐิ เพราะเหตุนั้น คำนี้ว่า ตัณหาวิจริต มีได้อย่างไร?

ตอบว่า แม้เมื่อทิฏฐิและตัณหามีอยู่ ควรทราบว่า ท่านใช้คำว่า ตัณหาวิจริต เพราะมีตัณหาเป็นประธาน ทั้งนี้เป็นเพราะทิฏฐิมานะ ซึ่งมีปกติไม่ประกอบกันและกัน แต่ไม่มีการไม่ประกอบกับตัณหา (คือต้องประกอบกับตัณหาอยู่นั่นเอง) เพราะมีตัณหานั้นเป็นมูล ฯ

จบ ฏีกาตัณหาสูตร

(แปลจากคัมภีร์สารัตถมัญชุสา ฏีกาอังคุตตรนิกาย ทุติยภาค ฉบับ มจร. หน้า ๔๗๗)

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
panee.r
วันที่ 9 พ.ย. 2550

ข้อสำคัญใครรู้บ้างว่าขณะนี้ "เรา" ติดอยู่ในข่าย ถ้าเรายังไม่รู้ว่ายังติดอยู่ในข่ายของวัฎฎะ ก็คง ไม่คิดจะหาทางออกแน่ พระสูตรนี้ถ้าศึกษาอย่าง แยบคายจะช่วยให้เข้าใจว่าขณะไหนที่ติดอยู่ ในข่ายขณะไหนเริ่มที่จะหาทางออกจากข่ายบ้าง

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
study
วันที่ 9 พ.ย. 2550
ขออนุโมทนาในวิริยะของคุณ spob ด้วยครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
spob
วันที่ 16 พ.ย. 2550

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
wannee.s
วันที่ 16 พ.ย. 2550

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
suwit02
วันที่ 30 พ.ค. 2551
สาธุ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
suwit02
วันที่ 20 พ.ค. 2552

ขอเรียนถาม ความหมายของถ้อยคำดังนี้

ตัณหาวิจริต ซึ่ง มีพระบาลีว่า ตณฺหาวิจริตานิ ผมเคยได้ยินคำว่า จิตวิจิตร ตัณหาวิจิตร ซึ่งเขียนต่างกันนิดหน่อย (ตณฺหาวิจิตฺตตา) อยากทราบว่า สองคำนี้ ในภาษาบาลี / ไทย มีความหมายเหมือนกัน หรือไม่ อย่างไร

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
prachern.s
วันที่ 21 พ.ค. 2552

คำว่าวิจิตรทั้งสองแห่งควรจะมีความหมายเหมื่อนกัน คือ วิจิตรพิศดาร มากมาย ต่างๆ นาๆ หลากหลาย ฯลฯ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
suwit02
วันที่ 22 พ.ค. 2552

ขอบพระคุณครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ