ผลกรรมหรือโทษทัณท์ที่ได้รับจากการทำผิดศีล?
ยุติธรรมหรือไม่
ได้รู้มาจากพระไตรปิฏกว่าว่าหากเราทำบุญกับ สัตว์เดรฉาน ๑๐๐ เท่า คนไม่มีศีล ๑,๐๐๐ เท่า ผู้รักษาศีล ๕ พึงหวังผล ๑๐,๐๐๐ เท่า ฯลฯ
๑. สมมติว่าให้ทาน ๑ บาท แก่คนมีศีล ๕ พึงหวังผลในทานนั้น ๑๐,๐๐๐ บาท ใช่หรือไม่?
๒. ในทางกลับกันทำบาปขโมยเงิน ๑ บาทก็ต้องได้รับโทษ ๑๐,๐๐๐ บาท ใช่มั๊ยครับ
๓. ผมคิดแบบนักคณิตศาสตร์ว่าทำบาป ๑ บาท ทำไมไม่ได้รับโทษแค่ ๑ บาท หากผมขโมยเขามา ๑ บาท ตอนหลังสำนึกผิดนำเงินไปคืน ๑ บาทกรรมที่เคยกระทำหมดไปหรือไม่ครับ ผมเลยคิดว่าตามกฎของธรรมชาติน่าจะ ๑ = ๑ อย่าเพิ่งว่ากันนะครับว่าทำไมคิดมากขนาดนี้ เพราะว่าธรรมอันเล็กๆ น้อยๆ นี้สามารถ ที่จะทำให้ได้รู้ธรรมอันอื่นที่ละเอียดขึ้นไปอีก อีกทั้งยังสามารถไปตอบผู้ที่ยังไม่รู้ธรรมอีกมากหากมีมาถาม ขอความกระจ่างจากผู้รู้ทุกท่านครับ และขออนุโมทนากับธรรมทาน ทุกท่านที่ให้คำตอบครับ
๑. หากเคยขโมยเงินเขามา ๑ บาท แต่ตอนหลังสำนึกเอาเงินไปคืนจำนวน ๑ บาทกรรมที่
๑. ให้ทานเป็นบุญเป็นกุศล ถ้าหวังผลของกุศลมีโลภะมาแทรก อานิสงส์ของทานก็ลดน้อยลง
๒. ผลของการลักทรัพย์ ทำให้เกิดในอบายภูมิ ภายหลังมาเกิดเป็นมนุษย์ ทำให้ยากจน ขัดสนทรัพย์
๓. ถ้าขโมยเงิน ศีลข้อ ๒ ขาดแล้ว คือ กรรมได้ทำสำเร็จไปแล้ว แต่ภายหลังสำนึกผิดเอามาคืน คนละขณะกัน ถ้าศีลขาด รักษาใหม่ คือมีความตั้งใจสำรวมระวัง งดเว้น ไม่ ล่วงศีล ๕ ค่ะ
ขอบูชาคุณพระรัตนตรัย
ต้องเข้าใจก่อนว่า บุญหรือกุศลจิต เป็นนามธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่รูปธรรมกุศลที่ทำจะมีผลมากไม่มากนั้นขึ้นอยู่กับหลายประการ คือ ประการที่หนึ่ง จิตที่บริสุทธิ์ผ่องใสคือไม่มีกิเลสเป็นปัจจัย เช่น บางคนอยากได้บุญก็ทำบุญ ตัวอยากเป็นโลภะ จิตก็ไม่ผ่องใส บริสุทธิ์ อานิสงส์ผลบุญก็น้อยตามด้วย ประการที่สอง ผู้ที่รับทาน ถ้าเป็นผู้ที่มีคุณธรรมมาก ก็มีอานิสงส์มาก เป็นต้น มาเข้าใจคำว่า อานิสงส์ร้อยเท่าก่อน จากที่กล่าวว่าให้ทานกับสัตว์พึงหวังอานิสงส์ร้อยเท่า ไม่ได้หมายความว่า ให้ ๑ บาท ได้ ๑๐๐ บาท จะให้เท่าไหร่ก็ตาม ให้อาหารเท่าไหร่ อานิสงส์ก็ร้อยเท่า ร้อยเท่าในที่นี้หมายถึง จำนวนชาติที่เกิด คือถ้าบุญนั้นให้ผล (ให้สัตว์) ผลบุญนั้น ย่อมทำให้มีอายุยืนร้อยชาติ มีวรรณะ ผิวพรรณดีร้อยชาติ มีสุขร้อยชาติ มีพละร้อยชาติ มีปฏิภาณร้อยชาติ สรุปคือคำว่าร้อยเท่าหมายถึงจำนวนชาติที่บุญนั้นให้ผลที่เป็นอายุ ปฏิภาณซึ่งจะขอแสดงข้อความในพระไตรปิฎกในความคิดเห็นต่อไป
ดังนั้นจาก
ข้อ ๑. ที่ให้ทานกับคนมีศีล ๑ บาท ได้อานิสงส์ ๑๐,๐๐๐ บาทใช่ไหม
คำตอบคือ จะให้กี่บาทก็ตาม ให้กับผู้มีศีล อานิสงส์ แสนเท่าไม่ใช่หมื่นเท่า แต่แสนเท่าคือจำนวนชาติที่เกิด แสนชาติที่จะได้รับ อายุ...ปฏิภาณที่ดีนั่นเอง
ข้อ ๒. ถ้าทำผิดกับผู้มีคุณมากก็โทษมาก ก็ต้องตกนรกขุมหนักมาก จำนวนเวลาก็นานมาก มีคุณน้อยก็ลดลงตามความเหมาะสมของกรรม
ข้อ ๓. ในขณะที่เป็นกุศลนั้น จิตที่เป็นกุศลเป็นชวนจิตเกิดดับ ๗ ขณะ ไม่ใช่แค่หนึ่งขณะ กุศลขณะแรก ใน ๗ ขณะเมื่อให้ผลย่อมให้ผลในชาติปัจจุบัน ขณะที่ ๒-๖ ให้ผลในชาติ ถัดๆ ไป ขณะที่ ๗ ให้ผลในชาติหน้า ดังนั้นเมื่อทำกุศลครั้งหนึ่ง ผลย่อมมีมากน้อยตามควรแก่กุศลนั้น และที่สำคัญการทำกุศลครั้งหนึ่ง กุศลก็ไม่ใช่เกิดขณะจิตเดียว อาจเกิดบ่อยๆ ได้ก็เป็นเหตุปัจจัยให้ผลไม่ใช่ชาติเดียวเพราะกุศลที่เกิดที่ชวนจิต มี ๗ ขณะและ แต่ละขณะก็ให้ผลตามแต่ละชาติ ไม่ใช่แค่ชาติเดียวครับ ตามกำลังกุศลด้วย
ต่อจากข้อ ๓ กรรมใดที่ทำไปแล้ว เป็นอันทำไปแล้ว ไม่มีการล้างบาป เพียงแต่เราเห็นโทษตอนหลังได้และสำรวมที่จะไม่ทำต่อไป แต่กรรมที่ทำทีแรกสำเร็จไปแล้วครับ
[เล่มที่ 23] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 394
ทักขิณาวิภังคสูตร
[๗๑๑] ดูก่อนอานนท์ ใน ๑๔ ประการนั้น บุคคลให้ทานในสัตว์ เดียรัจฉาน พึงหวังผลทักษิณาได้ร้อยเท่า ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผล ทักษิณาได้พันเท่า ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า
อานิสงส์ร้อยเท่าหมายถึง
[เล่มที่ 23] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 405
อรรถกถา ทักขิณาวิภังคสูตร
ดังนี้. บทว่า สตคุณา ได้แก่มีอานิสงส์ร้อยเท่า.
บทว่า ปาฏิกงฺขิตพฺพา คือ พึงปรารถนา. มีอธิบายว่า ทักขิณานี้ย่อมให้อานิสงส์ห้าร้อยเท่า คือ อายุร้อยเท่าวรรณะร้อยเท่า สุขร้อยเท่า พละร้อยเท่า ปฏิภาณร้อยเท่า. ทักขิณาให้อายุในร้อยอัตภาพ (ชาติ) ชื่อว่าอายุร้อยเท่า ให้วรรณะในร้อยอัตภาพ ชื่อว่า วรรณะร้อยเท่า ให้สุขในร้อยอัตภาพ ชื่อว่า สุขร้อยเท่า ให้พละในร้อยอัตภาพ ชื่อว่า พละร้อยเท่า ให้ปฏิภาณ ทำความไม่สะดุ้งในร้อยอัตภาพ ชื่อว่า ปฏิภาณร้อยเท่า.
คิดผิด ผิดศีล (ไม่เห็นโทษ) ไม่เป็นไร รักษาได้ (ยังพอใจที่จะกระทำผิดอยู่) คิดถูก ศีลขาด เห็นโทษด้วยปัญญา รักษาใหม่ (ละอายใจที่จะกระทำผิดอีก) ไม่มีใครหนีพ้นผลของกรรม กรรมเท่านั้นที่ให้ผลอย่างยุติธรรม
อกุศล ท่านไม่เรียกว่ามหาอกุศล กุศล ท่านเรียกว่ามหากุศล (มี ๘ ประเภท) โดยเฉพาะ มหากุศลญาณสัมปยุตต์ ที่เป็นวิปัสสนาปัญญา (สติปัฏฐาน) มีอานิสงส์มาก ถ้าเป็นมรรคจิต ก็สามารถดับกิเลสได้เด็ดขาด ดังนั้นจิตฝ่ายดีงาม (โสภณะ) ย่อมมีกำลัง มากกว่า จิตที่ไม่ดีงาม (อโสภณะ)