ห้ามคนอื่นให้ทาน [ชัปปสูตร]

 
ไตรสรณคมน์
วันที่  10 พ.ย. 2550
หมายเลข  5483
อ่าน  2,330

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม 34 หน้าที่ 227

๗. ชัปปสูตร

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า วัจฉะ

ผู้ใดห้ามคนอื่นที่ให้ทาน ผู้นั้นชื่อว่าทำอันตรายต่อคน ๓ คน

ทำร้ายต่อคน ๓ คน ๓ คนคือใคร คือ

ทำอันตรายต่อบุญของทายก

ทำอันตรายต่อลาภของปฏิคาหกอนึ่ง ตัวของผู้นั้นชื่อว่าถูกก่น (ขุดรากคือความดี) และ

ถูกประหาร (ตายไปจากความดี) เสียก่อนแล้ววัจฉะ ผู้ใดห้ามคนอื่นที่ให้ทาน

ผู้นั้นชื่อว่าทำอันตรายต่อคน ๓ คน

ทำร้ายต่อคน ๓ คนนี้เราตถาคตกล่าวอย่างนี้ต่างหากวัจฉะ ว่า

แม้สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในหลุมโสโครกหรือท่อโสโครก

ผู้ใดเทน้ำล้างหม้อก็ดี น้ำล้างชามก็ดี ลงไปในหลุมและท่อโสโครกนั้น

ด้วยเจตนาให้สัตว์ในนั้นได้เลี้ยงชีพอย่างนี้เราตถาคตยังกล่าวการได้บุญอันมีกิริยาที่ทำอย่างนั้นเป็นมูลจะกล่าวอะไร (ถึงการให้ทาน) ในผู้ที่เป็นมนุษย์เล่า


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
wannee.s
วันที่ 10 พ.ย. 2550

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 168

๖. ทานสูตร

ว่าด้วยให้ทานที่ให้แล้วมีผลมาก

[๒๐๔] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับ

มาแล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้ผลแห่งการจำแนกทาน

เหมือนอย่างเรารู้ไซร้ สัตว์ทั้งหลายยังไม่ให้แล้ว ก็จะไม่พึงบริโภค อนึ่ง

ความตระหนี่อันเป็นมลทิน จะไม่พึงครอบงำจิตของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่านั้น

ไม่พึงแบ่งคำข้าวคำหลังจากคำข้าวนั้นแล้วก็จะไม่พึงบริโภค ถ้าปฏิคาหกของ

สัตว์เหล่านั้นพึงมี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แต่เพราะสัตว์ทั้งหลายไม่รู้ผลแห่งการ

จำแนกทานเหมือนอย่างเรารู้ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายไม่ให้แล้วจึงบริโภค อนึ่ง

ความตระหนี่อันเป็นมลทินจึงยังครอบงำจิตของสัตว์เหล่านั้น.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 10 พ.ย. 2550

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มี-

พระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

ถ้าว่าสัตว์ทั้งหลาย พึงรู้ผลแห่งการ

จำแนกทาน เหมือนอย่างที่ พระผู้มีพระ-

ภาคเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ตรัสแล้วโดย วิธีที่ผลนั้นเป็นผลใหญ่ไซร้ สัตว์ทั้งหลาย พึงกำจัดความตระหนี่ อันเป็นมลทินเสีย แล้ว มีใจผ่องไส พึงให้ทานทีให้แล้ว มี ผลมาก ในพระอริยบุคคลทั้งหลายตามกาล อันควร อนึ่ง ทายกเป็นอันมาก ครั้นให้ ทักษิณาทาน คือ ข้าวในพระทักษิไณยบุคคล ทั้งหลายแล้ว จุติจากความเป็นมนุษย์นี้แล้ว ย่อมไปสู่สวรรค์ และทายกเหล่านั้นผู้ใคร่กาม ไม่มีความตระหนี่ ไปสู่สวรรค์แล้ว บันเทิงอยู่ ในสวรรค์นั้น เสวยอยู่ซึ่งผลแห่งการจำแนก ทาน.

เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้า

ได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล.

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ครูโอ
วันที่ 10 พ.ย. 2550


00324 บุญทั้งหลายเป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

ชนเหล่าใดมีใจผ่องใสแล้ว ให้อาหารนั้นด้วยศรัทธา

อาหารนั้นแลย่อมพะนอเขาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

เพราะเหตุนั้น

บุคคลพึงนำความตระหนี่ออกไปเสีย

พึงข่มความตระหนี่ซึ่งเป็นตัวมลทินแล้วให้ทาน

เพราะบุญทั้งหลาย

เป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ในโลกหน้า.


ธรรมเตือนใจวันที่ : 27-08-2548



 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
takecare
วันที่ 10 พ.ย. 2550

ขอบูชาคุณพระรัตนตรัย

ประสบกับตนเอง เดินทางไปอินเดีย ที่ดงคสิริ ขอทานเยอะ มีการห้ามบอกว่าอย่าให้

เดี๋ยวรถไม่ได้ไป ขอทานจะมารุมที่รถ เดี๋ยวไปไม่ได้ เมื่อมีการห้าม รถคันนั้นไม่ให้ มีผู้

ชมคนที่ห้ามคนที่ห้ามให้ทานได้ว่า เก่งจัง ห้ามคนที่จะให้ได้...แต่สุดท้าย รถไปไม่ได้

ไม่ใช่เพราะขอทานมารุม แต่เจอหลุมใหญ่ขวางทาง รถไปไม่ได้.....นี่แหละธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา และการที่รถจะไปได้ไม่ได้ก็เพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ไม่ใช่เพราะการให้ เพราะเรามองแต่เหตุการณ์ใกล้ๆ ไม่เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม การห้ามจึงทำ

อันตราย ...ดังที่กล่าวแล้วในพระไตรปิฎก ขออนุโมทนาและขอยกเรื่องที่มีคนห้ามให้

ทาน แต่ผู้มีปัญญาย่อมมั่นคงและก็ยังให้แม้ตัวจะต้องตาย ลองอ่านดูนะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
takecare
วันที่ 10 พ.ย. 2550

ขอเล่าดีกว่านะ ข้อความยาว คือ พระปัจเจกพระพุทธเจ้า ท่านออกจากสมาธิ (สมาบัติ)

ก็จะไปบิณฑบาตร ซึ่งจะไปรับที่เรือนของพระโพธิสัตว์ มารรู้ก็เลยไปเนรมิต หลุมถ่าน

เพลิงลึก 80 ศอก ขวางทางระหว่างพระโพธิสัตว์กับพระปัจเจก เพื่อไม่ให้พระโพธิสัตว์

ให้ทาน พระโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า แม้ตัวท่านจะต้องตกลงไปในหลุมนี้ ท่านก็จะไม่

ทำลายธรรม คือ การให้ของท่าน ท่านยอมสละชีวิต ก้าวไปที่หลุมถ่านเพลิง ทันใดนั้น

ดอกปทุมก็ผุดขึ้นมารับที่เท้าของพระโพธิสัตว์ และท่านก็ไปถึงพระปัจเจก ถวายทาน

ได้ ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ครูโอ
วันที่ 10 พ.ย. 2550

กำลังอ่านข้อความถึง ลองอ่านดูนะ... เกิดดีใจขึ้นมาที่จะได้อ่านพระสูตร พออ่านต่อไป เจอข้อความด้านล่างว่า ขอเล่าดีกว่านะ ข้อความยาว ความรู้สึกเปลี่ยนควับทันที จิตคิดเกิด คิดว่า "อ่าว ไหงเป็นงี้เนี่ย อดเลย"
แต่ก็ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
takecare
วันที่ 10 พ.ย. 2550

ขออนุญาตแก้ตัวด้วยเรื่องใหม่ อยากอ่านยาวๆ ก็จัดให้นะ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการให้ของพระโพธิสัตว์เหมือนกัน ลองอ่านดูนะ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ 648

อรรถกถาวิสัยหชาดกที่ ๑๐

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ใน

นครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นเศรษฐีนามว่า วิสัยหะ มีทรัพย์

สมบัติ ๘๐ โกฏิ ได้เป็นผู้ประกอบด้วยศีล ๕ มีอัธยาศัยในทางทาน

ยินดียิ่งในทาน. พระโพธิสัตว์นั้นให้สร้างโรงทานในที่ ๖ แห่ง คือ

ที่ประตูเมืองทั้ง ๔ ประตู ท่ามกลางพระนครและที่ประตูนิเวศน์

ของตน แล้วยังการให้ทานให้เป็นไปอยู่. บริจาคทรัพย์วันละหกแสน

ทุกวัน. พระโพธิสัตว์และยาจกทั้งหลาย ย่อมมีภัตตาหารเป็นเช่น

เดียวกัน. เมื่อพระโพธิสัตว์นั้นให้ทานกระทำชมพูทวีปทั้งสิ้นให้มี

งอนไถอันยกขึ้นแล้ว คือ ไม่ต้องทำไร่ไถนา ภพของท้าวสักกะก็กัม-

ปนาทหวั่นไหวด้วยอานุภาพของการให้ทาน บัณฑุกัมพลศิลาอาศน์

ของท้าวเทวราชแสดงอาการร้อน. ท้าวสักกะทรงดำริว่า ใครหนอ

ประสงค์จะให้เราเคลื่อนจากที่ จึงทรงพิจารณาใคร่ครวญอยู่. ทรงเห็น

ท่านมหาเศรษฐี จึงทรงพระดำริว่า วิสัยหเศรษฐีนี้แผ่ไปกว้างขวาง

ยิ่งนัก ให้ทานกระทำชมพูทวีปทั้งสิ้นให้ไม่ต้องทำไร่ไถนา ชะรอย

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
takecare
วันที่ 10 พ.ย. 2550

จักให้เราเคลื่อนจากที่แล้วเป็นท้าวสุกกะเสียเองด้วยทานแม้นี้ เราจัก

ทำทรัพย์ของเขาให้ฉิบหายเสีย กระทำเศรษฐีนั่นให้เป็นคนขัดสนจน

ให้ทานไม่ได้ จึงบันดาลทรัพย์ทั้งปวง แม้แต่ข้าวเปลือก น้ำมัน

น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยเป็นต้น จนชั้นที่สุดแม้ทาสและกรรมกรให้

อันตรธานหายไป. พวกคนผู้จัดทานมาบอกท่านเศรษฐีว่า ข้าแต่นาย

โรงทานขาดหายไป พวกข้าพเจ้าไม่เห็นอะไรๆ ในที่ที่เก็บไว้. ท่าน

เศรษฐีกล่าวว่า พวกท่านจงนำทรัพย์สำหรับจับจ่ายไปจากที่นี้ อย่า

ตัดขาดทานเสียเลย แล้วเรียกภรรยามาพูดว่า นางผู้เจริญ เธอจงให้

ทานดำเนินไป. ภรรยานั้นค้นหาจนทั่วเรือนไม่พบแม้แต่กึ่งมาสก

จึงกล่าวว่า ข้าแต่นาย ดิฉันไม่เห็นอะไรๆ อื่น ยกเว้นผ้าที่เราทั้งหลาย

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
takecare
วันที่ 10 พ.ย. 2550

นุ่งห่มอยู่ ว่างเปล่าไปทั่วทั้งเรือน. ท่านเศรษฐีให้เปิดประตูห้องเก็บ

รัตนะ ๗ ก็ไม่เห็นอะไรๆ แม้ทาสและกรรมกรอื่นๆ ก็ไม่ปรากฏ

ยกเว้นเศรษฐีกับภรรยา. มหาสัตว์เรียกภรรยามาอีกแล้วกล่าวว่า

นางผู้เจริญ เราไม่อาจตัดขาดการให้ทาน เธอจงค้นหาให้ทั่วนิเวศน์

พิจารณาดูของบางอย่าง. ขณะนั้น คนหาบหญ้าคนหนึ่ง ทิ้งเคียว

คาน และเชือกมัดหญ้าไว้ระหว่างประตูแล้วหนีไป. ภรรยาของ

เศรษฐีเห็นดังนั้น จึงได้นำมาให้โดยพูดว่า ข้าแต่นายเว้นสิ่งนี้ ดิฉัน

ไม่เห็นของอย่างอื่น. พระมหาสัตว์กล่าวว่า นางผู้เจริญ ธรรมดาหญ้า

เราไม่เคยเกี่ยวตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ แต่วันนี้ เราจักเกี่ยวหญ้า

นำมาขายแล้วให้ทานตามสมควร เพราะกลัวการให้ทานจะขาด จึง

ถือเอาเคียว คาน และเชือกออกจากพระนครไปยังที่มีหญ้าแล้ว

เกี่ยวหญ้าคิดว่า หญ้าฟ่อนหนึ่งจักเป็นของพวกเรา และจักให้ทาน

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
takecare
วันที่ 10 พ.ย. 2550

ด้วยหญ้าฟ่อนหนึ่ง จึงมัดหญ้าเป็น ๒ ฟ่อน คล้องที่คานถือเอาไป

ขายที่ประตูเมือง ได้มาสกมาแล้วได้ให้ส่วนหนึ่งแก่พวกยาจก แต่

พวกยาจกมีมากด้วยกัน เมื่อพวกเขาร้องขอว่า ให้ข้าพเจ้าบ้าง จึงได้

ให้ส่วนแม้นอกนี้ไปอีก วันนั้น จึงไม่มีอาหารพร้อมทั้งภรรยา ให้

เวลาล่วงผ่านไป. โดยทำนองนี้ ล่วงไป ๖ วัน. ครั้นวันที่ ๗ เมื่อ

เศรษฐีนั้นกำลังนำหญ้ามา เป็นผู้อดอาหารมา ๗ วัน ทั้งเป็น

สุขุมาลชาติ พอเมื่อแสดงอาทิตย์กระทบหน้าผาก นัยน์ตาทั้งสองข้าง

ก็พร่าพราย. เศรษฐีนั้นไม่อาจดำรงสติไว้ได้ จึงล้มทับหญ้าลงไป.

ท้าวสักกะเสด็จเที่ยวตรวจดูกิริยาอาการของเศรษฐีนั้นอยู่. ทันใดนั้น

ท้าวเธอเสด็จมาประทับยืนในอากาศ ตรัสกล่าว่าคาถาที่ ๑ ว่า :-

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
takecare
วันที่ 10 พ.ย. 2550

ดูก่อนวิสัยหะ แต่ก่อนท่านได้ให้ท่าน

เมื่อท่านให้อยู่อย่างนั้น ความเสื่อมได้มี

แต่ท่านแล้ว ต่อแต่นั้นไป ถ้าท่านจักไม่ให้

ทานไซร้ เมื่อท่านประหยัดไว้ โภคะทั้งหลาย

ก็คงดำรงอยู่ตามเดิม.

อธิบายคำที่เป็นคาถานั้นว่า ท่านวิสัยหะผู้เจริญ เมื่อก่อน

แต่กาลนี้ เมื่อทรัพย์ในเรือนของท่านยังมีอยู่ ท่านได้ให้ทานทำ

สกลชมพูทวีปทั้งสิ้นให้ยกงอนไถขึ้นแล้ว และเมื่อท่านนั้นให้ทานอยู่

อย่างนี้ ธรรมคือความเสื่อมได้แก่สภาวะคือความเสื่อมโภคะจึงได้มี

ขึ้น คือทรัพย์ทั้งมวลหมดสิ้นไป แม้ถ้าเบื้องหน้าแต่นี้ ท่านจะไม่

ให้ทานไซร้ คือจะไม่ให้อะไรๆ แก่ใครๆ เมื่อท่านประหยัดไว้ คือ

ไม่ให้อยู่ โภคทั้งหลายจะพึงดำรงอยู่เหมือนอย่างเดิม ท่านจง

ปฏิญญาว่า ตั้งแต่นี้ไปจักไม่ให้ทาน เราจักให้โภคะทั้งหลายแก่ท่าน.

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
takecare
วันที่ 10 พ.ย. 2550

พระมหาสัตว์ได้ฟังดำรัสของท้าวสักกะนั้นแล้วจึงถามว่า ท่าน

เป็นใคร. ท้าวสักกะตรัสว่าเราเป็นท้าวสักกะ. พระโพธิสัตว์กล่าวว่า

ธรรมดาท้าวสักกะ พระองค์เองให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถ

บำเพ็ญวัตรบท ๗ ประการ จึงถึงความเป็นท้าวสักกะ แต่พระองค์

ทรงห้ามการให้ทานอันเป็นเหตุแห่งความเป็นใหญ่ของพระองค์ ทรง

ทำวัตรจรรยาอันมิใช่ของอารยชน แล้วได้กล่าวคาถา ๓ คาถาว่า :-

ข้าแต่ท้าวสหัสสเนตร พระอริยะ

ทั้งหลายกล่าวถึงบาปกรรมว่า อันอารยชน

ถึงจะเป็นคนยากจนเข็ญใจก็ไม่ควรทำ ข้า-

แต่พระองค์ผู้เป็นจอมเทพ ข้าพระบาทจะพึง

เลิกละศรัทธา เพราะการบริโภคทรัพย์อันใด

เป็นเหตุ ทรัพย์อันนั้นอย่าได้มีเลย.

รถคันหนึ่งแล่นไปทางใด รถคันอื่น

ก็แล่นไปทั้งนั้น ข้าแต่ท้าววาสวะ วัตรที่

ข้าพระบาทบำเพ็ญมาแล้วแต่ครั้งก่อน ขอจง

เป็นไปเหมือนอย่างนั้นเถิด.

ถ้ายังมียังเป็นอยู่ ข้าพระบาทก็จะให้

เมื่อไม่มีไม่เป็น จะให้ได้อย่างไร แม้ถึงจะ

มีสภาพเป็นอย่างนี้แล้วก็ตาม ก็จะต้อง

ให้ เพราะข้าพระบาทจะลืมการให้ทานเสีย

มิได้.

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
takecare
วันที่ 10 พ.ย. 2550

ท้าวสักกะเมื่อไม่อาจทรงห้ามวิสัยหะเศรษฐีนั้น จึงตรัสถามว่า

ท่านให้ทานเพื่อประโยชน์อะไร? วิสัยหะเศรษฐีทูลว่า ข้าพระบาทมิได้

ปรารถนาความเป็นท้าวสักกะ หรือความเป็นพระพรหม แต่ปรารถนา

พระสัพพัญญุตญาณ จึงให้ทาน. ท้าวสักกะได้ทรงสดับคำของวิสัยหะ

นั้นแล้ว ดีพระทัย จึงเอาพระหัตถ์ลูบหลัง. เมื่อพระโพธิสัตว์พอถูก

ท้าวสักกะทรงลูบหลังในขณะนั้นนั่นเองสรีระทั้งสิ้นก็เต็มบริบูรณ์และด้วยอานุภาพของท้าวสักกะ กำหนดเขตแห่งทรัพย์สมบัติทั้งหมดของพระ-โพธิสัตว์นั้นก็กลับเป็นไปตามปกติอย่างเดิม. ท้าวสักกะตรัสว่าท่านมหา-เศรษฐี จำเดิมแต่นี้ไป ท่านจงสละทรัพย์ ๑๒ แสน ให้ทานทุกวันเถิดแล้วประทานทรัพย์หาประมาณมิได้ไว้ในเรือนของพระโพธิสัตว์นั้น ทรงส่งพระโพธิสัตว์แล้ว เสด็จไปเทวสถานของพระองค์.

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า ภรรยาของเศรษฐีในครั้งนั้น ได้เป็นมารดาพระราหุล ส่วนวิสัยห-เศรษฐี ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ครูโอ
วันที่ 11 พ.ย. 2550

ซาบซึ้งยิ่งนักแล



ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
dron
วันที่ 11 พ.ย. 2550

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
orawan.c
วันที่ 11 พ.ย. 2550

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
olive
วันที่ 12 พ.ย. 2550

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
พุทธรักษา
วันที่ 12 พ.ย. 2550

..................ขออนุโมทนาในวิริยะที่จัดให้นะคะ.................
 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
wannee.s
วันที่ 17 พ.ย. 2550

[เล่มที่ 23] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 396

[๗๑๘] ดูก่อนอานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก และฝ่าย

ปฏิคาหกอย่างไร. ดูก่อนอานนท์ในข้อนี้ ทายกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม

ปฏิคาหกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ทั้งฝ่าย

ทายกและฝ่ายปฏิคาหก.

ดูก่อนอานนท์ นี้แล ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา ๔ อย่าง.

[๗๑๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดา ได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้

แล้วได้ตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ ต่อไปอีกว่า

(๑) ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม

มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลแห่งธรรม

อย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล ทักษิณาของ

ผู้นั้น ชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก.

(๒) ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่

เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมไสไม่เชื่อธรรม

และผลของธรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคน

มีศีล ทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่าย

ปฏิคาหก.

(๓) ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่

เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใสไม่เชื่อกรรม

และผลของธรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคน

ทุศีล เราไม่กล่าวทานของผู้นั้นว่า มีผล

ไพบูลย์.

(๔) ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม

มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรม

อย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล เรากล่าว

ทานของผู้นั้นแลว่า มีผลไพบูลย์.

(๕) ผู้ใดปราศจากราคะแล้ว ได้

ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อ

กรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทาน

ในผู้ปราศจากราคะ ทานของผู้นั้นนั่นแล

เลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย.

จบ ทักขิณาวิภังคสูตร ที่ ๑๒

จบ วิภังควรรค ที่ ๔

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
pornchai.s
วันที่ 18 พ.ย. 2550

พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมงามทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด เปรียบเหมือนบุคคลผู้หงายของที่คว่ำอยู่ - เปิดของที่ปิดอยู่ - บอกทางแก่คนหลงทาง หรือ ส่องประทีปในที่มืดเพื่อผู้มีจักษุจะพึงเห็นรูปได้ ฉะนั้น ....... ข้าพเจ้าขอถึงพระรัตนตรัย ว่าเป็นสรณะ ...... ตลอดชีวิต

แม้เพียง ทาน ที่เป็นทรัพย์นอกกาย ยังให้ผลนับไม่ได้ ก็ชวนให้นึกถึง " ธรรมทาน "ซึ่งชนะการให้ทั้งปวง (เพราะเป็นไปเพื่อความไม่เกิด) แล้วก็คิดต่อไปถึง ท่านอาจารย์สุจินต์ ที่ให้ธรรมทาน มาตั้งแต่ท่าน อายุ 26 จนบัดนี้ อายุ 81 แล้ว ก็ยังให้ ธรรมทาน อยู่ แม้ท่านจะป่วยก็ไม่เคยย่อท้อเลย มีใจที่เข้มแข็ง เพื่อ ธรรมทาน จริงๆ ครับ

ขอกราบอนุโมทนา กับ ท่านด้วยเศียรเกล้า

รองลงมาก็ขอ อนุโมทนา กับ วิทยากรของ มศพ. ที่ช่วยพระศาสนาในการเผยแพร่ กับ ท่านอาจารย์ ทุกเสาร์ -อาทิตย์ ที่ มศพ. และวันอื่น-ที่อื่นด้วยตามกำลัง รวมถึง กรรมการของมศพ. อีก 8 ท่าน ที่ทำงานให้ มศพ.โดยไม่เห็นแก่ความสุขส่วนตัว

ที่จะลืมเสียมิได้ คือ ทีมงาน เวปไซด์ บ้านธัมมะ ทุกท่าน ที่ช่วยกันพัฒนาเวปนี้จนถึงวันนี้ และ สมาชิกทุกท่าน ที่เกิดมหากุศลญาณสัมปยุตต์จากการศึกษาพระธรรม ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
phawinee
วันที่ 29 ต.ค. 2556

ขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ