ทำไมผู้มารู้ธรรมความประพฤติจึงเปลี่ยนไป
สภาพจิตยังเป็นปกติหรือไม่?
๑. ผมเกิดข้ออยากรู้จากพฤติกรรมของตนเองและผู้อื่น และจากผู้อื่นที่มาบอกดังนี้ครับ
๑. จากการสังเกตคนที่มาศึกษาธรรมะ และเริ่มรู้ธรรมะมาได้ระดับหนึ่ง จะเป็นผู้ที่ใฝ่ธรรมมาก และผมก็เกิดความรู้สึกไม่ค่อยอยากทำงานขึ้นมาเฉยๆ แต่อยากที่จะทำบุญ ทำทาน หากรู้ว่าที่ไหนมีงานบุญ และอยากฟังธรรมอยู่ตลอดเวลา แม้ขณะ ขับรถก็ตาม เพลงที่เคยฟังก็เลิกฟัง และอ่านหนังสือธรรมมะในยามว่าง รวมทั้งหากมีช่วงว่างจากงาน เช่น ในตอนนี้ก็เข้ามาดูเนื้อหาธรรมใน web ถามว่าสภาพเช่นนี้เป็น สภาพปกติของจิตหรือไม่ครับ?
๒. สมมติหากมีคนคนหนึ่งมีครอบครัวแล้ว เขาสนใจแต่ธรรมะและทำบุญอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ค่อยสนใจงานบ้าน ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดเวลา คนๆ นั้นจะบาปหรือไม่
๓. บางคนหรืออาจจะเป็นคนส่วนใหญ่ชอบบอกกันว่าคนถือศีล คนที่ใฝ่ในธรรมะ เป็นคนเห็นแก่ตัว เพราะว่าคนปฏิบัติมักจะบอกว่า ธรรมเป็นของส่วนบุคคลใครทำใครได้ ตายแล้วต่างคนต่าง ไปจึงทำให้บางกลุ่มที่ถือศีล ใฝ่ธรรมมะอาจจะขาดการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่เป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม
ขอขอบคุณและขออนุโมทนาบุญจากท่านผู้รู้ ที่ตอบทุกท่านครับ
๑. เป็นปกติครับ เพราะเห็นประโยชน์ของพระธรรม เห็นประโยชน์ของกุศล แต่ก็อาจเป็นเพียงครั้งคราว ถ้าอกุศลเกิดขึ้น ย่อมยินดีในกาม อยากได้เงินทองและสิ่งสวยงามอยู่ดี
๒. ถ้าเข้าใจธรรมะจริงจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะขณะที่ทำงานบ้านจิตเป็นกุศลก็ได้ เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ถ้าละเลยหน้าที่เป็นการผิดมรรยาทที่ดีจิตเป็นอกุศล
๓. ที่ถูกควรกล่าวว่า ผู้ศึกษาธรรมะ เข้าใจธรรมะ จะเป็นคนมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีเมตตา มีใจกรุณา ทำความดีคือกุศลทุกประการ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
๑. ในทางตรงกันข้าม เมื่อเราสนใจในสิ่งอื่นมาก เช่น ละคร หนัง จิตก็ย่อมน้อมไปที่จะปรุงแต่งให้คิด พูด สนใจไปในสิ่งนั้นมากในเรื่องของละคร หนัง เป็นต้น เมื่อเสพมากขึ้นก็ทำให้จิตย่อมน้อมไปในสิ่งนั้นมากขึ้น ฉันใด เมื่อได้ฟังพระธรรม ถ้าเข้าใจ..ขอย้ำ ว่าเข้าใจ ธรรมคือปัญญานั้นเองย่อมปรุงแต่งเกิดขึ้น ให้เห็นประโยชน์ในพระธรรม สิ่งที่เป็นกุศลมากขึ้นเพราะเราเสพคุ้นกับสิ่งที่ดีบ่อยๆ จิตก็ย่อมน้อมไปในสิ่งที่ดีมากขึ้น เป็นหน้าที่ของธรรมที่ปรุงแต่งเองอันเกิดมาจากการเข้าใจพระธรรม ดังนั้น การคบ สัตบุรุษ จึงเป็นมงคล ทำให้น้อมไปในทางที่ดีนั่นเองครับ
๒. การช่วยเหลือเพื่อให้คนในบ้านเบาแรง นี่ก็เป็นจิตที่เป็นกุศล กุศลควรเจริญทุกประการ ไม่ใช่แค่การฟังธรรมเมื่อเข้าใจพระธรรมมากขึ้น ความเห็นแก่ตัวก็น้อยลงและประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนทั้งในและนอกบ้านด้วยจิตที่เป็นกุศล ดังข้อความใน
พระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้าที่ ๖๔๒
พึงปรารภความเพียรในประโยชน์ของสัตว์นั้นๆ พึงอดกลั้นสิ่งทั้งปวงมีสิ่งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาเป็นต้น. พึงไม่พูดผิดความจริง. พึงแผ่เมตตาและกรุณาแก่สัตว์ทั้งปวงโดยไม่เจาะจง. การเกิดขึ้นแห่งทุกข์ อย่างใดอย่างหนึ่งจะพึงมีแก่สัตว์ทั้งหลาย พึงหวังการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ทั้งปวง นั้นไว้ในตน. อนึ่ง พึงอนุโมทนาบุญของสัตว์ทั้งปวง.
๓. เมื่อเข้าใจพระธรรมมากขึ้น กุศลประการต่างๆ ก็เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าเมตตา การช่วย เหลือ เมื่ออยู่ร่วมกันในสังคม พระธรรมเท่านั้นที่จะช่วยขัดเกลากิเลสจากที่เป็นคนเห็นแก่ตัว นึกถึงตนเองก่อนเมื่ออยู่ในสังคม เปลี่ยนเป็นนึกถึงคนอื่นก่อนตัวเองและกุศลประการต่างๆ ก็เพิ่มมากขึ้น เมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่น เพราะกิเลสต่างหากที่ทำให้เห็นแก่ตัว แต่กิเลสน้อยลง ความเห็นแก่ตัวก็น้อยลงเพราะเข้าใจพระธรรม
แถมให้เรื่อง เผื่อคนที่ชอบอ่านยาว เป็นเรื่องที่ควรทำกิจการงาน (สำหรับข้อคำถามข้อ ๒) ถ้าเกิดขี้เกียจ ไม่ทำขณะนั้นก็เป็นอกุศล และอกุศลแม้ ประมาณเล็กน้อยก็เพิ่มพูนจนใหญ่ได้ ลองอ่านดูนะ
[เล่มที่ ๔๒] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ ๒๔
๕. เรื่องภิกษุไม่ถนอมบริขาร [๙๙]
ข้อความเบื้องต้นพระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่ง ผู้ไม่ถนอมบริขาร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "มาวมญฺเถ ปาปสฺส" เป็นต้น. ของสงฆ์ใช้แล้วควรรีบเก็บ ได้ยินว่า ภิกษุนั้น ใช้สอยบริขารอันต่างด้วยเตียงและตั่งเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ในภายนอกแล้ว ทิ้งไว้ในที่นั้นนั่นเอง. บริขารย่อมเสียหายไป เพราะฝนบ้าง แดดบ้าง พวกสัตว์มีปลวกเป็นต้นบ้าง. ภิกษุนั้น เมื่อพวกภิกษุกล่าวเตือนว่า "ผู้มีอายุ ธรรมดาบริขาร ภิกษุควร เก็บงำมิใช่หรือ" กลับกล่าวว่า "กรรมที่ผมทำนั่นนิดหน่อย ผู้มีอายุ, บริขารนั่นไม่มีจิต, ความวิจิตรก็ไม่มี" ดังนี้แล้ว (ยังขืน) ทำอยู่อย่างนั้น นั่นแลอีก. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลกิริยา (การ) ของเธอแด่พระศาสดา
พระศาสดารับสั่งให้เรียกภิกษุนั้นมาแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุ ข่าวว่า เธอทำอย่างนั้นจริงหรือ" เธอแม้ถูกพระศาสดาตรัสถามแล้ว ก็กราบทูลอย่างดูหมิ่นอย่างนั้นนั่นแหละว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้อนั้น จะเป็นอะไร, ข้าพระองค์ทำกรรมเล็กน้อย. บริขารนั้น ไม่มีจิต. ความวิจิตรก็ไม่มี"
อย่าดูหมิ่นกรรมชั่วว่านิดหน่อย
ทีนั้น พระศาสดาตรัสกับเธอว่า "อันภิกษุทั้งหลายทำอย่างนั้น ย่อมไม่ควร, ขึ้นชื่อว่าบาปกรรม ใครๆ ไม่ควรดูหมิ่นว่า นิดหน่อย; เหมือนอย่างว่า ภาชนะที่เขาเปิดปากตั้งไว้กลางแจ้ง เมื่อฝนตกอยู่ ไม่เต็มได้ด้วยหยาดน้ำหยาดเดียวโดยแท้, ถึงกระนั้น เมื่อฝนตกอยู่บ่อยๆ ภาชนะนั้นย่อมเต็มได้แน่ๆ ฉันใด. บุคคลผู้ทำบาปกรรมอยู่ ย่อมทำกองบาปให้ใหญ่โตขึ้นโดยลำดับได้อย่างแน่ๆ ฉันนั้นเหมือนกัน" ดังนี้แล้ว. เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
"บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบาปว่า ่บาปมีประมาณ น้อยจักไม่มาถึง ' แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ ตกลง (ทีละหยาดๆ ) ได้ฉันใด, ชนพาลเมื่อสั่งสม บาปแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบาปได้ ฉันนั้น"
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
แต่ก่อนดิฉันยังไม่เข้าใจในการศึกษาธรรมะ ยังไม่รู้จักว่าปัญญาคืออะไร ใคร (พระ ภิกษุ) บอกอย่างไรก็เชื่อ อ่านหนังสือก็เข้าใจว่ารู้ตามหนังสือ และมีพฤติกรรมกรรมคล้ายๆ ที่ ถามมา ต่อมาได้ฟังการบรรยายของท่านอ.สุจินต์บ่อยๆ เข้า ความเข้าใจในธรรมมีมาก ขึ้น เริ่มรู้จักกุศลและอกุศลมากขึ้น รู้ว่าถ้าขาดการฟังย่อมเป็นช่องทางให้อกุศลเข้ามา ครอบงำเหมือนเดิมได้ เห็นโทษภัยของอกุศลย่อมชักชวนให้มิตรสหายญาติทั้งหลาย ร่วมเจริญกุศลโดยการฟังพระธรรมหรือให้หนังสือธรรมะอ่าน เมื่อมีโอกาสก็ชวนสนทนาธรรม จะไม่เห็นแก่ตัวหลีกหนีสังคมแบบขาดเมตตา สำหรับคนมักน้อยสันโดษ ก็เป็นอัธยาศัยของเขา แม้เขาไม่ยินดีในธรรม เขาก็เป็นเช่นนั้นเอง ผู้ที่เข้าใจในธรรม ย่อมปฏิบัติตนเป็นปกติ ไม่ทำอะไรที่ผิดปกติ เมื่อรู้หลักธรรมคำสั่งสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าดีแล้วว่าทุกอย่างเป็นธรรมะ และเป็นอนัตตา จะเป็นผู้รู้จักตนเองดีขึ้นละเอียดขึ้น ในทำนองเดียวกันก็จะรู้จักผู้อื่นด้วย โดยการสังเกตพฤติกรรมทางกายหรือทางวาจา