แด่ผู้มีทุกข์ ๐๔ - มัวเมาในสักการะ ความเป็นหัวหน้า ความเคารพ บริวาร ลาภ วัณณะ
บางคนก็มัวเมาในสักการะ คือของที่ผู้อื่นนำมาบูชา หรือเอามาให้โดยเห็นความสำคัญ ความยิ่งใหญ่ หรือเห็นคุณความดีต่างๆ เมื่อถึงเวลาหมดบุญ ไม่มีใครเหลียวแลเลย ก็เป็นทุกข์โทมนัส
บางคนก็มัวเมาในความเคารพ ถึงกับคิดว่าคนทั้งหลายไม่เคารพคนนั้นคนนี้ แต่ทำความเคารพเรา คิดว่า เขาเหล่านั้นเห็นเราแล้วย่อมไหว้ ทำความเคารพ เป็นราวกะว่า ฉัตรติดตั้งอยู่ที่หิน ซึ่งก็จะต้องพิจารณาความละเอียดของจิตใจ เพราะว่าทุกคนก็กระทำการเคารพเป็นประจำ แต่ถ้าบังเอิญใครสักคนหนึ่งซึ่งเคยทำความเคารพแต่เกิดไม่แสดงความเคารพ ก็อาจจะเกิดขุ่นใจ เคืองใจ นี่คือ ความสำคัญตน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่พิจารณาเห็นว่ามัวเมาในการทำความเคารพของคนอื่น
ข้อความในอรรถกถาแสดงความละเอียดต่อไป จนถึง
ความเป็นผู้มัวเมาในความเป็นหัวหน้า ซึ่งเป็นผู้ที่ตัดสินปัญหาของหมู่คณะ หรือแม้ภิกษุที่ไปบิณฑบาต เมื่อเดินนำก็มีมานะว่า ผู้อื่นตามตนไป เพราะตนเป็นหัวหน้า เมื่อหมดสภาพของความเป็นหัวหน้า ก็ย่อมทำให้เกิดโทมนัสได้
นอกจากนั้นก็เป็นผู้ที่มัวเมาในบริวาร ชอบที่จะมีผู้คนแวดล้อมมาก ถ้ามีน้อยลงจะรู้สึกอย่างไร และถ้าไม่มีเลยจะรู้สึกอย่างไร นี่คือเหตุที่จะให้เกิดทุกข์ในวันหนึ่งๆ ซึ่งสามารถที่จะกำจัดได้ ละคลายได้ ถ้าพิจารณาจริงๆ ว่า อกุศลใดเป็นเหตุให้เกิดโทมนัสเวทนานั้นๆ
นอกจากนั้น ผู้ที่มัวเมาในโภคสมบัติ ในลาภซึ่งได้มา ก็ไม่ใช่ว่าจะได้มาเป็นประจำ ได้มาเป็นครั้งคราว แต่สำหรับ โภคสมบัติคือเงินทองสำหรับใช้สอยประจำวัน ผู้ที่มัวเมา ในโภคสมบัติซึ่งมีมากนั้น ถ้ามีโภคสมบัติน้อยลงก็ต้องเป็นเหตุให้เกิดทุกข์โทมนัส
นอกจากนั้นก็มีผู้ที่ มัวเมาในวัณณะ ซึ่งเป็นความสวยงามของร่างกาย หรือในคุณความดี ที่มีผู้สรรเสริญ เช่นความเป็นพหูสูต หรือมีศีล หรือเป็นผู้รักษาธุดงค์ ถ้าคนอื่นไม่รู้ก็เสียใจ นี่ก็เป็นเรื่องของความมัวเมาทั้งนั้น ซึ่งถ้ามัวเมาแล้ว ก็เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์มากกว่าผู้ที่ไม่มัวเมา
ขอเชิญคลิกอ่านตอนต่อไป ...