แด่ผู้มีทุกข์ ๐๕ - มัวเมาในการศึกษา ปฏิภาณ ...
บางคนเป็นผู้ที่ มัวเมาในการศึกษา ว่าตนเป็นผู้ที่มีการศึกษามาก
บางคนเป็นผู้ที่ มัวเมาในปฏิภาณ คือความฉลาดในการโต้ตอบในการแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งเมื่อคนอื่นไม่ยกย่องก็ขุ่นใจ
บางคนเป็นผู้ที่มัวเมาในรัตตัญญู คือ ความเป็นผู้เก่าแก่ ได้พบเห็นและสันทัดในกิจการต่างๆ ถ้าคนอื่นไม่เชื่อหรือไม่เห็นด้วยในความคิด ความเห็น ในการงานนั้น ก็ขุ่นเคือง
บางท่านซึ่งเป็นพระภิกษุ ก็มัวเมาในการถือบิณฑบาตเป็นวัตร ว่าเป็นผู้ที่ถือมาตั้งแต่บวช ส่วนคนอื่นนั้นเพิ่งจะถือ ซึ่งเมื่อบุคคลอื่นไม่ชื่นชมอนุโมทนาก็เสียใจ
บางคนก็เป็นผู้ที่มัวเมาในความไม่มีใครดูหมิ่น อาจจะเป็นผู้ที่มีความดีหลายอย่าง จนกระทั่งคนอื่นไม่ติ จึงทำให้เกิดความมัวเมาได้ว่าเราไม่เคยถูกใครดูหมิ่นเลย เมื่อมีใครติเตียนสักนิดเดียวจะรู้สึกอย่างไร อาจจะเป็นทุกข์หนักกว่าคนซึ่งรู้ตัวเองว่ามีหลายๆ อย่างซึ่งไม่ดี ซึ่งเมื่อคนอื่นติก็ควรที่จะรับฟัง ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ควรจะขุ่นเคืองใจ
บางคนก็มัวเมาในอิริยาบถที่น่าเลื่อมใส
ในกิริยามรรยาทที่งาม ถ้าเกิดทำอะไรพลาดสักนิดเดียวจะเดือดร้อนไหม ตัวอย่างเช่นถือชามแกงแล้วตกลงไป หรือช้อนส้อมอาจจะตก แก้วอาจจะตก น้ำเปรอะพื้น เป็นต้น ซึ่งไม่เคยกระทำมาก่อน แต่ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเกิดขึ้นได้ ฉะนั้นถ้าเป็นผู้ไม่มัวเมา ก็จะไม่เป็นทุกข์มาก
นอกจากนั้นก็เป็นผู้ที่ มัวเมาในอิทธิฤทธิ์ มัวเมาในยศ มัวเมาในศีล
มัวเมาในฌาน ถึงกับคิดว่า คนอื่นไม่ได้ฌานในกาลแม้สักว่าการดื่มน้ำของไก่ คือเก่งมากเลย คนอื่นนั้นฌานจิตแม้เพียงชั่วขณะจิตเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่เกิด
บางคนก็มัวเมาในศิลปะ คือความสามารถในการงาน ความมัวเมาไม่มีวันจบ ยังมีความมัวเมาต่อไปอีก
แม้ในความมีทรวดทรงสูง ก็เห็นว่า คนอื่นมีทรวดทรงเตี้ยต่ำ หรือบางคนมีความมัวเมาในทรวดทรงสันทัด ก็เห็นว่าคนอื่นสูงไป เตี้ยไปบ้าง หรือว่าเป็นผู้ที่มีความมัวเมาในทรวดทรงงาม ก็เห็นว่า คนอื่นมีรูปร่างแปลก ไม่น่าชม อะไรๆ ของเขาก็แปลกไปทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคิ้ว ตา จมูก ปาก แต่ว่าทรวดทรงของเรางาม น่าปลื้มใจ น่าเลื่อมใส เมื่อทรวดทรงงามเปลี่ยนแปลงไป ก็ย่อมเสียใจ เป็นทุกข์ บางคนแม้จะไม่มีทรวดทรงงาม แต่ก็ยังมีความมัวเมาในร่างกายที่บริบูรณ์ ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า แม้เส้นผมก็ไม่มีการที่จะไม่บริบูรณ์ จะเห็นได้ว่า ยิ่งมัวเมาก็ยิ่งเป็นทุกข์ เพราะว่าสภาพธรรมย่อมไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ฉะนั้น แทนที่จะคิดว่าคนอื่นไม่งาม หรือว่าคนอื่นดีกว่าเราไม่ได้ หรือว่า แม้ว่าเขาจะดี ก็คิดว่าสู้เราไม่ได้ แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ก็ควรที่จะเห็นกิเลสของตนเอง แล้วพยายามขัดเกลา ต้องมีความพยายามตั้งใจจริงๆ ซึ่งเมื่อเห็นความไม่ดีของตนเองแล้ว ก็ยังจะต้องตั้งใจจริงๆ ที่จะขัดเกลาด้วย
นี่เป็นเรื่องของความทุกข์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่ามาจากเหตุหลายอย่าง แต่มีทางที่จะเป็นผู้เบิกบานอิ่มเอิบในกุศลและลดคลายอกุศลซึ่งเป็นโทสมูลจิตลงได้ ถ้าพิจารณาถึงเหตุที่จะให้เกิดโทสมูลจิตของตนเองโดยละเอียด
ขอเชิญคลิกอ่านตอนต่อไป ...