การเห็นครั้งสุดท้าย .. พระสารีบุตรปรินิพพาน [อรรถกถาจุนทสูตร]
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยและพระสารีบุตร
[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 426
อรรถกถาจุนทสูตร
พระธรรมเสนาบดี สารีบุตร แสดงวัตรถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ไปที่พักกลางวัน เพื่อนเหล่าอันเตวาสิกในที่นั้นแสดงวัตรหลีกไปแล้ว ท่านจึงกวาดที่พักกลางวัน ปูแผ่นหนัง ล้างเท้าแล้วนั่งคู้บัลลังก์เข้าผลสมาบัติ ลำดับนั้นเมื่อท่านออกจากผลสมาบัตินั้นตามกำหนดแล้ว เกิดความปริวิตกนี้ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จักปรินิพพานก่อนหรือหนอ หรือว่าพระอัครสาวกปรินิพพานก่อน แต่นั้นรู้แล้วว่า พระอัครสาวกปรินิพพานก่อน แล้วจึงตรวจดูอายุสังขารของตน รู้แล้วว่า อายุสังขารของเราจักเป็นไปได้เพียง ๗ วัน เท่านั้น
[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 429
พระเถระได้เหยียดมือมีสีดังครั่งสด แล้วจับที่ข้อพระบาท เช่นกับลายเต่าทองของพระศาสดา พลางกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์บำเพ็ญบารมีมาหนึ่งอสงไขย กำไรแสนกัป ก็เพื่อถวายบังคมพระบาททั้งสองนี้ของพระองค์ มโนรถของข้าพระองค์ถึงที่สุดแล้ว บัดนี้ แต่นี้ไปการประชุมกันในที่เดียวกันด้วยอำนาจปฏิสนธิจะมิได้มีอีกแล้ว สมาคมก็จะมิได้มี ความคุ้นเคยกันได้ขาดแล้ว ข้าพระองค์จักเข้าเมือง คือ พระนิพพาน ที่ไม่แก่ ไม่ตาย เกษมมีสุข เย็นสนิทไม่มีภัย ที่พระพุทธเจ้าหลายแสนพระองค์เข้าไปแล้ว
[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 429
ถ้าว่า พระองค์ไม่ทรงชอบพระทัย โทษไรๆ ของข้าพระองค์ ที่เป็นไปทางกายหรือทางวาจา ขอพระองค์ทรงอดโทษนั้นด้วย ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า นี้เป็นการไปของข้าพระองค์แล้ว.
พ. สารีบุตร เราอดโทษต่อเธอ ก็โทษไรๆ ของเธอที่เป็นไปทางกาย หรือทางวาจา ที่ไม่ชอบใจเราไม่มีเลย สารีบุตร บัดนี้เธอจงสำคัญกาลอันควรเถิด.
เมื่อท่านพระสารีบุตรพถวายบังคมพระบาท พระศาสดา ลุกขึ้นในลำดับที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตแล้ว แผ่นดินใหญ่แม้ที่กำหนดนับด้วยภูเขาสิเนรุ ภูเขาจักรวาล ภูเขาหิมพานต์ และภูเขาบริภัณฑ์ ร้องขึ้นพร้อมกันดุจกล่าวว่า เราไม่อาจจะทรงกองแห่งพระคุณนี้ไว้ได้ในวันนี้ ได้ไหวแล้วจนถึงน้ำเป็นที่สุด
[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 430
พระเถระทำประทักษิณ ๓ ครั้งแล้ว ถวายบังคมในที่ ๔ แห่ง กราบทูลแล้วว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เลยไปหนึ่งอสงไขย กำไรแสนกัปแต่กัปนี้ไป ข้าพระองค์หมอบลงที่ใกล้พระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า อโนมทัสสี ปรารถนาเห็นพระองค์ ความปรารถนาของข้าพระองค์นั้นสำเร็จแล้วข้าพระองค์เห็นพระองค์แล้ว เป็นการเห็นครั้งแรก นี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย การได้เห็นพระองค์ไม่ได้มีอีกแล้ว ดังนี้ แล้วประคองอัญชลี ซึ่งรุ่งเรืองด้วยการประชุมแห่งนิ้วทั้งสิบ หันหน้าเฉพาะตราบเท่าที่ที่จะเห็นได้ ถอยกลับแล้วถวายบังคมแล้วหลีกไป. มหาปฐพีไม่อาจจะทรงไว้ได้ ไหวจนถึงน้ำรองรับแผ่นดิน.
[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 432
เมื่อนางพราหมณี เห็นพวกเทวดา เทวดาเหล่านี้ ไหว้บุตรของเราแล้วก็ไป
ม. พ่อยังใหญ่กว่ามหาพรหมพระเจ้าของโยมหรือ.
ส. ใช่ อุบาสิกา เล่ากันมาว่า ชื่อว่ามหาพรหม ๔ เหล่านั้น วันที่พระศาสดาของพวกเราประสูติ เอาข่ายทองรองรับพระมหาบุรุษ.
ขณะนั้น เมื่อนางพราหมณีคิดว่า เพียงลูกของเรายังมีอานุภาพเท่านี้ พระศาสดาซึ่งเป็นพระเจ้าของลูกเราจักมีอานุภาพขนาดไหนหนอ พลันปีติห้าอย่างเกิดขึ้นแผ่ไปทั่วสรีระ. พระเถระคิดว่า ปีติโสมนัสเกิดขึ้นแล้วแก่มารดาเทียว. บัดนี้เป็นเวลาสมควรแสดงธรรม จึงกล่าวว่า มหาอุบาสิกา ท่านกำลังคิดอะไร.
ม. พ่อ แม่กำลังคิดถึงเห็นว่า เพียงลูกเรายังมีคุณถึงเพียงนี้ แล้วศาสดาของลูกนั้นจะขนาดไหน.
ส. มหาอุบาสิกา ในขณะที่พระศาสดาของอาตมาประสูติ ในขณะเสด็จออกผนวช ในขณะตรัสรู้ และในขณะประกาศธรรมจักร หมื่นโลกธาตุหวั่นไหวแล้ว ขึ้นชื่อว่าผู้ที่เสมอด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติและวิมุตติญาณทัสสนะไม่มี แล้วก็แสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับพระคุณของพระพุทธเจ้า ที่ขยายให้พิสดารว่า แม้เพราะเหตุนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ดังนี้ เป็นต้น.
เวลาจบธรรมเทศนาของลูกรัก นางพราหมณี ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผลแล้ว จึงกล่าวกับลูกว่า พ่ออุปติสสะ ทำไม พ่อจึงทำอย่างนั้น พ่อไม่ได้ให้อมตธรรมเห็นปานนี้แก่แม่ตลอดกาลเท่านี้.
พระเถระคิดว่า บัดนี้เราให้เท่านี้ก็ควรแก่มารดาแล้ว ค่าเลี้ยงดูสำหรับแม่พราหมณีสารี จักควรด้วยเหตุเท่านี้
[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 435
ลำดับนั้น พระเถระดึงมหาจีวรมาปิดหน้า นอนโดยข้างขวา เข้าสมาบัติ ๙ ตามลำดับสมาบัติทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลม เหมือนพระศาสดา แต่ว่า เข้าต้นแต่ปฐมฌานจนถึงจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานนั้นแล้ว ให้มหาปฐพีสั่นสะเทือนในทันใดนั้นเอง ปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.
อุบาสิกาคิดว่า ลูกของเราไม่กล่าวอะไรเลยหรือหนอ ลุกขึ้นนวดหลังเท้ารู้ว่าปรินิพพานแล้ว เปล่งเสียงดัง หมอบที่เท้า กล่าวว่า พ่อ พวกเราไม่รู้คุณของพ่อ ก่อนแต่นี้ ก็บัดนี้แม่ไม่ได้เพื่อนิมนต์ภิกษุร้อยหลายพัน หลายแสน ตั้งต้นแต่พ่อให้นั่งฉันในนิเวศน์นี้ ไม่ได้เพื่อให้นุ่งห่มด้วยจีวร ไม่ได้เพื่อให้สร้างวิหารเป็นพัน ดังนี้ คร่ำครวญอยู่แล้ว จนถึงอรุณขึ้น.
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
อนุโมทนาค่ะ
ในวันลอยกระทง จะได้กระทำสิ่งที่สมควรได้ถูกต้องมากยิ่งขื้นค่ะ
เป็นพระสูตรที่ไพเราะจับใจทุกครั้งที่ได้อ่านหรือได้ฟัง และยังได้ความรู้เพิ่มเติมว่า พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร อัครสาวกผู้เลิศด้วยปัญญา ปรินิพพานในวันเพ็ญเดือนสิบสอง
ขออนุโมทนา
ขออนุโมทนา และเรียนถามว่ามีคำสอนที่ท่านพระสารีบุตรโปรดพระมารดาหรือไม่
พระสารีบุตรแสดงธรรมะ โดยขยายพระพุทธคุณว่า แม้เพราะเหตุนี้ (ความคิดเห็นที่ 4) แต่ได้ฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ ท่านอธิบายว่า แม้เพราะเหตุนี้ ก็คือเหตุที่จะให้บรรลุ มรรค ผล เหตุนั้นคืออะไร ก็ไม่พ้นจากขณะนี้ คือ การเจริญสติปัฏฐาน และมารดาพระสารีบุตรจะบรรลุเป็นพระโสดาบันได้ ก็ด้วยหนทางเดียวคือการเจริญสติปัฏฐาน ระลึกสภาพธรรมะในขณะนั้นว่าเป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา ขณะที่ท่านพระสารีบุตรกำลังแสดงธรรมค่ะ
พระสุตตันตปิฏก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค. สุสิมสูตร
ครั้งนั้น สุสิมเทพบุตร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า ปรารภถึงท่านพระสารีบุตรว่า ...
ท่านพระสารีบุตร คนรู้จักท่านดีว่าเป็นบัณฑิต ไม่ใช่คนมักโกรธ มักน้อย สงบเสงี่ยม ฝึกฝนมาดี มีคุณงาม อันพระศาสดาทรงนำมาสรรเสริญ เป็นผู้แสวงคุณ. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถาตอบ สุสิมเทพบุตรปรารภถึงท่านพระสารีบุตรว่า ...
สารีบุตร ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นบัณฑิต ไม่ใช่คนมักโกรธ มักน้อย สงบเสงี่ยมอบรม ฝึกฝนมาดี จำนงอยู่ก็แต่กาลเป็นที่ ปรินิพพาน.
ขออนุโมทนาครับ ได้ฟังท่านอาจารย์สนทนาเรื่องท่านพระสารีบุตรปรินิพพานสองสามหนเกิดความปีติซาบซึ้งทุกครั้งแม้ในครั้งนี้ที่อ่านโดยย่อก็ตาม
ขออนุโมทนาค่ะ พระสูตรนี้ไพเราะมากจริงๆ ยิ่งได้ฟังท่านอาจารย์บรรยายในเทปหลายครั้ง ทั้งน้ำเสียงและท่วงทำนองที่บรรยายช่างไพเราะจับใจเหลือเกิน ซาบซึ้งและเกิดปีติทุกครั้งที่ได้ฟัง ฤดูลอยกระทงทุกปีจิตน้อมระลึกถึงท่านพระสารีบุตรปรินิพพานเสมอมา
เมื่อทราบเรื่องพระสารีบุตรแล้ว อยากทราบว่าพระโมคคัลลานะปรินิพพานอย่างไรบ้างคะ และปรินิพพานเมื่อไร ขอความกรุณาเล่าให้ฟังด้วย
ขอบคุณค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
เรื่อง พระสารีบุตร ปรินิพพานวันเพ็ญเดือนสิบสอง
เรื่อง พระโมคคัลลานะ ปรินิพพานหลังจากที่พระสารีบุตรปรินิพพานครึ่งเดือน
[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 445
อรรถกถาเจลสูตร
พึงทราบอธิบายใน เจลสูตรที่ ๔.
บทว่า เมื่อพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ปรินิพพานแล้วไม่นาน ความว่า เมื่อพระอัครสาวกทั้งสองปรินิพพานนานแล้วหามิได้ ก็บรรดาพระอัครสาวกทั้งสองนั้น พระธรรมเสนาบดี ปรินิพพานในวันเพ็ญเดือนสิบสอง จากนั้นล่วงมาครึ่งเดือน ในวันอุโบสถแห่งกาฬปักข์กึ่งเดือนนั้น พระมหาโมคคัลลานะจึงปรินิพพาน
เรื่อง พระมหาโมคคัลลานะ ปรินิพพาน
[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 95
ข้อความบางตอนจาก เรื่องพระมหาโมคคัลลานเถระ
[๑๑๓] พระเถระถูกพวกโจรทุบ
พระเถระ ทราบความที่ตนถูกพวกโจรเหล่านั้นล้อมแล้ว จึงออกไปทางช่องลูกกุญแจหลีกไปเสีย. ในวันนั้น พวกโจรนั้น มิได้เห็นพระเถระ. วันรุ่งขึ้น จึงไปล้อม (อีก) .
พระเถระทราบแล้ว ก็ทำลายมณฑลช่อฟ้าเหาะไปสู่อากาศ. เมื่อเป็นเช่นนี้ ในเดือนแรกก็ดี ในเดือนท่ามกลางก็ดี พวกเดียรถีย์นั้น ก็มิได้อาจจับพระเถระได้. แต่เมื่อมาถึงเดือนสุดท้าย. พระเถระทราบภาวะคือการชักมาแห่งกรรมอันตนทำไว้แล้ว จึงมิได้หลบเลี่ยง.
พวกโจรไปจับพระเถระได้แล้ว ทุบกระดูกทั้งหลายของท่านให้ (แตกยับเป็นชิ้นน้อย) มีประมาณเท่าเมล็ดข้าวสารหัก. ที่นั้น พวกโจรเหวี่ยงท่านไปที่หลังพุ่มไม้แห่งหนึ่ง ด้วยสำคัญว่า 'ตายแล้ว.' ก็หลีกไป.
พระเถระประสานกระดูกแล้วไปเฝ้าพระศาสดา
พระเถระคิดว่า "เราเฝ้าพระศาสดาเสียก่อนแล้วจักปรินิพพาน" ดังนี้แล้ว จึงประสานอัตภาพด้วยเครื่องประสานคือฌาน ทำให้มั่นคงแล้ว ไปสู่สำนักพระศาสดาโดยอากาศ ถวายบังคมพระศาสดาแล้วกราบทูลว่า "ข้าพระองค์จักปรินิพพาน พระเจ้าข้า"
พระเถระ จักปรินิพพาน พระเจ้าข้า
พระศาสดา เธอจักปรินิพพาน ณ ที่ไหน
พระเถระ ข้าพระองค์จักไปสู่ประเทศชื่อกาฬสิลาแล้วปรินิพพานพระเจ้าข้า
พระศาสดา โมคคัลลานะ ถ้ากระนั้น เธอกล่าวธรรมแก่เราแล้วจึงค่อยไป เพราะบัดนี้ เราไม่พบเห็นสาวกผู้เช่นเธอ (อีก)
พระผู้มีพระภาคเจ้า. เธอจักปรินิพพานหรือ โมคคัลลานะ.
พระเถระแสดงฤทธิ์แล้วปรินิพพาน
พระเถระกราบทูลว่า "ข้าพระองค์จักทำอย่างนั้น พระเจ้าข้า" ดังนี้แล้ว ถวายบังคมพระศาสดา เหาะขึ้นไปในอากาศ แสดงฤทธิ์มีประการต่างๆ อย่างพระสารีบุตรแสดงฤทธิ์ในวันปรินิพพานแล้วกล่าวธรรมถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ไปสู่ดงใกล้กาฬสิลาประเทศ ปรินิพพานแล้ว.
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
อรรถกถาสุสิมสูตร
จริงอยู่ พระขีณาสพย่อมไม่กระหยิ่มยินดีความตาย ไม่มุ่งหมายความเป็น เหมือนบุรุษยืนคอยค่าจ้างไปวันหนึ่งๆ ด้วยเหตุนั้น ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวว่า เราไม่ยินดีความตาย เราไม่ยินดีความเป็นอยู่ แต่เรารอเวลา (ปรินิพพาน) เหมือนลูกจ้างรอค่าจ้าง ฉะนั้น.
จบ อรรถกถาสุสิมสูตร
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยและพระสารีบุตร
ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาน้องเต้ย พระสูตรซาบซึ้งมากค่ะ