ขอเรียนถามเรื่องเมตตา...กับการเจริญสติ
จากการฟัง เข้าใจว่า
๑. เมตตา คือ ความเป็นมิตร หวังประโยชน์เกื้อกูล เกิดขึ้นโดยมีบัญญัติ (คนหรือสัตว์) เป็นอารมณ์
๒. ส่วนการเจริญสติ มีปรมัตถ์ (นามและรูป) เป็นอารมณ์ เมื่อสภาพธรรมที่เป็นเมตตาเกิดและดับไปแล้ว สติจึงจะเกิดระลึกได้ว่า ไม่มีเราที่เมตตา ไม่มีคนหรือสัตว์ที่ได้รับความเมตตา เป็นจิตคนละขณะกับข้อ ๑
๓. สภาพธรรมข้อ ๑. เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาขั้นสมถภาวนา
๔. สภาพธรรมข้อ ๒. เป็นเมตตาที่ประกอบด้วยปัญญาขั้นวิปัสสนาเป็นเมตตาบารมี
๕. เมตตาบารมี จะต้องเกิดโดยข้อ ๑. เกิดก่อนและข้อ ๒. เกิดตามลำดับเสมอ ผิดถูกประการใด กรุณาแนะนำ เพื่อเป็นธรรมทานด้วยค่ะ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยข้อ
๑. ถูกต้องครับ เมตตา คือความเป็นมิตร นำประโยชน์ไปให้ โดยไม่ได้หวังอะไร แม้ความเป็นที่รัก เพราะเมตตากับโลภะใกล้กัน เมตตา ไม่ติดข้องและเมตตามีสัตว์ บุคคลเป็นอารมณ์ มีเมตตากับต้นไม้ ไม่ได้ เป็นต้น
ข้อ ๒. ถูกต้องครับ การเจริญสติปัฏฐาน ที่เป็นวิปัสสนาต้องมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ เหตุผลเพราะเพื่อละความยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล (เป็นบัญญัติ) ดังนั้น สติปัฏฐานจึงมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์เพื่อรู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ สิ่งของ การที่กุศลที่เป็นเมตตาเกิดขึ้น สติปัฏฐานจะต้องเกิดขึ้นรู้ในขณะที่กุศลจิตที่เป็นเมตตาดับไปแล้ว คนละขณะครับ เพราะขณะที่เป็นเมตตา ขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐานแต่สติปัฏฐานสามารถเกิดต่อรู้ว่าเมตตาเป็นธรรมไม่ใช่เรา หลังจากเมตตาดับไปครับ เพราะกุศลจิตที่เป็นเมตตาก็เป็นธรรม เป็นปรมัตถ์ สติปัฏฐานจึงมีกุศลจิตที่เป็นเมตตาเป็นอารมณ์ได้
ข้อ ๓. เมตตาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น คิดอยากให้เขามีความสุข หรือมีเมตตาทางกาย วาจา เป็นต้น ที่เกิดเพียงชั่วขณะนั้นไม่ใช่กุศลขั้นสมถภาวนา เพราะกุศลขั้นสมถภาวนาจะต้องประกอบด้วยปัญญาเสมอ คือ รู้ลักษณะของกุศลที่เป็นเมตตาแล้ว รู้ว่าควรจะเจริญอย่างไรให้กุศลที่เป็นเมตตาเกิดขึ้นบ่อยๆ จนถึงอัปนาสมาธิ ดังนั้น ต้องมีปัญญาทีรู้ลักษณะของเมตตา (แต่ไม่ได้รู้ว่าเป็นธรรม) แล้วอบรมให้เจริญขึ้นจนแนบแน่น จึงเป็นกุศลระดับสมถภาวนาที่ประกอบด้วยปัญญา แต่เมตตาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เป็นสมถ คือสงบจากกิเลสเพียงชั่วขณะ แต่ไม่ใช่กุศลระดับสมถภาวนาและกุศลที่เป็นเมตตาสามารถเกิดโดยไม่มีปัญญาก็ได้ แต่สมถภาวนาต้องมีปัญญาเสมอ
ข้อ ๔. ถ้ามีเมตตาเป็นอารมณ์ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด ก็ขาดบารมีไม่ได้แน่นอนครับเป็นเมตตาบารมีและเป็นปัญญาบารมีด้วยครับ
ข้อ ๕. จากคำถามหมายความว่าเมตตาบารมีจะต้องเป็นลักษณะ คือ เมตตาเกิดแล้วสติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา จึงเป็นเมตตาบารมีเท่านั้น ไม่เสมอไปครับ
เมตตาบารมีไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีสติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของเมตตาจึงเป็นเมตตาบารมี แต่กุศลที่เป็นเมตตาเกิดขึ้น อันเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส มีปัญญา (ไม่ใช่ถึงขั้นสติปัฏฐาน) และเห็นโทษของกิเลสและการเกิด เป็นต้น ก็เป็นเมตตาบารมีได้ โดยไม่ต้องจำเป็นที่จะเป็นสติปัฏฐาน ดังเช่น อดีตชาติของพระโพธิสัตว์ ที่มีเมตตาบารมีได้ โดยไม่ต้องมีสติปัฏฐานเกิดร่วมด้วยเสมอ แต่กุศลที่เป็นเมตตาของท่านเกิดขึ้นเพราะเห็นโทษของกิเลสและน้อมจิตไปเพื่อสิ้นกิเลสและช่วยสัตว์โลก เป็นต้น
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์