อนุตริยสูตร - สิ่งยอดเยี่ยม ๖ - ๐๑ ธ.ค. ๒๕๕o
สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ ๑ ธ.ค. ๒๕๕๐ เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น
อนุตตริยสูตร
ว่าด้วยสิ่งยอดเยี่ยม ๖
[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๖๐๘
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๖๐๘อนุตตริยสูตรว่าด้วยสิ่งยอดเยี่ยม ๖
[๓๐๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนุตริยะ ๖ ประการนี้ ๖ ประการเป็นไฉน คือ ทัสสนานุตริยะ ๑ สวนานุตริยะ ๑ ลาภานุตริยะ ๑ สิกขานุตริยะ ๑ ปาริจริยานุตริยะ ๑ อนุสตานุตริยะ ๑.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ทัสสนานุตริยะเป็นไฉน? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมไปเพื่อดูช้างแก้วบ้าง ม้าแก้วบ้าง แก้วมณีบ้าง ของใหญ่ของเล็ก หรือสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิดผู้ปฏิบัติผิด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทัสสนะนั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มีก็แต่ว่าทัสสนะนี้นั้นแลเป็นกิจเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับเพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่นมีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมไปเห็นพระตถาคต หรือสาวกพระตถาคต การเห็นนี้ยอดเยี่ยมกว่าการเห็นทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่นมีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ไปเห็นพระตถาคต หรือสาวกของพระตถาคตนี้ เราเรียกว่าทัสสนานุตริยะ.ทัสสนานุตริยะเป็นดังนี้.
ก็สวนานุตริยะเป็นอย่างไร? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมไปเพื่อฟังเสียงกลองบ้าง เสียงพิณบ้าง เสียงเพลงขับบ้างหรือเสียงสูงๆ ต่ำๆ ย่อมไปเพื่อฟังธรรมของสมณะ หรือพราหมณ์ผู้เห็นผิดผู้ปฏิบัติผิด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การฟังนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการฟังนี้นั้นเป็นกิจเลว. . . ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่นมีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมไปฟังธรรมของพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การฟังนี้ยอดเยี่ยมกว่าการฟังทั้งหลายย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย. . . เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่นมีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ไปเพื่อฟังธรรมของพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตนี้ เราเรียกว่า สวนานุตริยะ. ทัสสนานุตริยะ สวนานุตริยะ เป็นดังนี้.
ก็ลาภานุตริยะเป็นอย่างไร? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมได้ลาภคือบุตรบ้าง ภรรยาบ้าง ทรัพย์บ้าง หรือลาภมากบ้างน้อยบ้าง หรือได้ศรัทธาในสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิดดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ลาภนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าลาภนี้นั้นเป็นของเลว. . . ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่นมีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมได้ศรัทธาในพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การได้นี้ยอดเยี่ยมกว่าการได้ทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย. . . เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่นมีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมได้ศรัทธาในพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตนี้ เราเรียกว่า ลาภานุตริยะ. ทัสสนานุตริยะ สวนานุตริยะ ลาภานุตริยะ เป็นดังนี้.
ก็สิกขานุตริยะเป็นอย่างไร? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมศึกษาศิลปะเกี่ยวกับช้างบ้าง ม้าบ้าง รถบ้าง ธนูบ้าง ดาบบ้างหรือศึกษาศิลปะชั้นสูงชั้นต่ำ ย่อมศึกษาต่อสมณะ หรือพราหมณ์ผู้เห็นผิดผู้ปฏิบัติผิด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การศึกษานี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มีก็แต่ว่าการศึกษานั้นเป็นการศึกษาที่เลว. . .ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่งย่อมศึกษาอธิศีลบ้าง อธิจิตบ้าง อธิปัญญาบ้าง ในธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว การศึกษานี้ยอดเยี่ยมกว่าการศึกษาทั้งหลายย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย. . . เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั่งมั่นมีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมศึกษาอธิศีลบ้าง อธิจิตบ้างอธิปัญญาบ้าง ในธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วนี้ เราเรียกว่าสิกขานุตริยะ. ทัสสนานุตริยะ สวนานุตริยะ ลาภานุตริยะ สิกขานุตริยะ เป็นดังนี้.
ก็ปาริจริยานุตริยะเป็นอย่างไร? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมบำรุงกษัตริย์บ้าง สมณะบ้าง พราหมณ์บ้าง คฤหบดีบ้างบำรุงคนชั้นสูงชั้นต่ำ บำรุงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การบำรุงนี้นั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการบำรุงนี้นั้นเป็นการบำรุงที่เลว. . . ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมบำรุงพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การบำรุงนี้ยอดเยี่ยมกว่าการบำรุงทั้งหลาย. ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย. . . เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่นมีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมบำรุงพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตนี้ เราเรียกว่า ปาริจริยานุตริยะ. ทัสสนานุตริยะ สวนานุตริยะ ลาภานุตริยะ สิกขานุตริยะ ปาริจริยานุตริยะ เป็นดังนี้.
ก็อนุสตานุตริยะเป็นอย่างไร? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมระลึกถึงการได้บุตรบ้าง ภริยาบ้าง ทรัพย์บ้าง หรือการได้มากน้อย ระลึกถึงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การระลึกนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการระลึกนี้นั้นเป็นกิจเลว . . . ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่นมีศรัทธา ไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมระลึกถึงพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การระลึกถึงนี้ ยอดเยี่ยมกว่าการระลึกถึงทั้งหลายย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไรเพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรมเพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่นมีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมระลึกถึงพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต นี้เราเรียกว่า อนุสตานุตริยะ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนุตริยะ ๖ ประการนี้แล.
ภิกษุเหล่าใดได้ ทัสสนานุตริยะ สวนานุตริยะ ลาภานุตริยะ ยินดีในสิกขานุตริยะ เข้าไปตั้งการบำรุง เจริญอนุสติที่ประกอบด้วยวิเวก เป็นแดนเกษมให้ถึงอมตธรรม ผู้บันเทิงในความไม่ประมาท มีปัญญารักษาตน สำรวมในศีลภิกษุเหล่านั้นแล ย่อมรู้ชัดซึ่งที่เป็นที่ดับทุกข์ โดยกาลอันควร.
จบอนุตตริยสูตรที่ ๑๐จบอนุตตริยวรรคที่ ๓
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๖๑๒
อรรถกถาอนุตตริยสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในอนุตตริยสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อุจฺจาวจํ ความว่า อีกอย่างหนึ่ง (ไปเพื่อฟัง) เสียงใหญ่น้อยอย่างใดอย่างหนึ่งชื่อว่า เสียงสูงๆ ต่ำๆ .
บทว่า หีนํ แปลว่า เลว.
บทว่า คมฺมํ ความว่า เป็นการดูของชาวบ้าน.
บทว่า โปถุชฺชนิกานํ ความว่า เป็นของมีอยู่แห่งปุถุชน.
บทว่า อนริยํ ความว่า ไม่ประเสริฐ คือไม่สูงสุด ได้แก่ ไม่บริสุทธิ์.
บทว่า อนตฺถสญฺหิตํ ความว่า ไม่ประกอบด้วยประโยชน์.
บทว่า น นิพฺพิทาย ความว่า มิใช่เพื่อประโยชน์ แก่ความเบื่อหน่ายในวัฏฏะ.
บทว่า น วิราคาย ความว่า มิใช่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การสำรอกราคะเป็นต้น.
บทว่า น นิโรธาย ความว่า ไม่ใช่เป็นไปเพื่อดับความไม่เป็นไป แห่งกิเลสมีราคะเป็นต้น.
บทว่า น อุปสมาย คือ ไม่ใช่เป็นไปเพื่อสงบระงับกิเลสมีราคะเป็นต้น.
บทว่า น อภิญฺญาย ความว่า มิใช่เป็นไป เพื่อต้องการรู้ยิ่ง.
บทว่า น สมฺโพธาย ความว่า มิใช่เพื่อต้องการแทงตลอด มัคคญาณทั้ง ๔ กล่าวคือ สัมโพธิญาณ.
บทว่า น นิพฺพานาย ความว่า ไม่ใช่เป็นไปเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระ-นิพพาน.
บทว่า นิวิฏฺฐสทฺโธ ความว่า ผู้มีศรัทธาตั้งมั่นแล้ว.
บทว่า นิวิฏฺฐเปโม ความว่า ได้แก่มีความรักตั้งมั่นแล้ว.
บทว่า เอกนฺตคโต ความว่า ถึงที่สุดยอด อธิบายว่า มีศรัทธาไม่คลอน-แคลน.
บทว่า อภิปฺปสนฺโน ความว่า เลื่อมใสเหลือเกิน.
บทว่า เอตทานุตฺตริยํ ความว่า การเห็นนี้เป็นการเห็นที่ไม่มีการเห็นอย่างอื่นเยี่ยมกว่า.
บทว่า หตฺถิสฺมิมฺปิ สิกฺขติ ความว่า ศึกษาหัตถิศิลปะที่มีช้าง เป็นนิมิตที่จะต้องศึกษา. แม้ในบททั้งหลายที่เหลือ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
บทว่า อุจฺจาวจํ ได้แก่ ศึกษาศิลปะใหญ่น้อย.
บทว่า อุปฏฐิตา ปาริจริเย ความว่า บำรุงด้วยการปรนนิบัติ.
บทว่า ภาวยนฺติ อนุสฺสตึ ความว่า เจริญอนุสติอันยอดเยี่ยม.
บทว่า วิเวกปฺปฏิสํยุตฺตํ ความว่า กระทำให้อาศัยพระนิพพาน.
บทว่า เขมํ ได้แก่ ปราศจากอุปัทวันตราย.
บทว่า อมตคามินํ ความว่า ให้ถึงพระนิพพาน อธิบายว่า บำเพ็ญอริยมรรค.
บทว่า อปฺปมาเท ปโมทิตา ความว่า บันเทิงทั่วในความไม่ประมาทกล่าวคือ การไม่อยู่ปราศจากสติ.
บทว่า นิปกา ความว่า ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน.
บทว่า สีลสํวุตา ความว่า สังวร คือปิดกั้นไว้ด้วยศีล.
บทว่า เต เว กาเลน ปจฺจนฺติ ความว่า ภิกษุเหล่านั้นแล ย่อมรู้ (เหตุที่ดับทุกข์) ตามกาลที่เหมาะสม.
บทว่า ยตฺถทุกฺขํ นิรุชฺฌติ มีอธิบายว่า ภิกษุเหล่านั้น ย่อมรู้ฐานะเป็นที่ดับวัฏทุกข์ทั้งสิ้น คืออมตมหานิพพาน.
ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสอนุตริยะ ๖ คละกันไปฉะนี้แล.
จบอนุตตริยสูตรที่ ๑๐
ฏีกาอนุตตริยสูตร ที่ ๑๐
(ฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย)
อนุตตริยสูตรที่ ๑๐ มีอธิบาย ดังนี้
ข้อความว่า นิหีนํ ทัสสนะนี้ เป็นกิจที่เลว ได้แก่ เป็นกิจที่ต่ำต้อย หรือ ที่หม่นหมอง ฯ
ข้อความว่า คามวาสิกานํ ของชาวบ้าน ได้แก่ ของคนเขลา คำว่า โปถุชฺชนิกํ มีคำจำกัดความ ว่า การเห็นนี้ ของเหล่าปุถุชน ฉะนั้น จึงเรียกการเห็นนั้นว่า โปถุชชนิกะ เพราะเหตุนั้น ในอรรถกถา ท่านจึงใช้ข้อความว่าปุถุชฺชนานํ สนฺตกํ การเห็นที่เป็นของมีอยู่แห่งปุถุชน. มีคำที่ท่านอธิบายไว้ว่า การเห็นเป็นต้นเป็นของมีอยู่ของเหล่าปุถุชนนั้น เพราะพวกเขาใช้เป็นประจำ ฯ (หมายเหตุ ท่านใช้ศัพท์ว่าเสวิตพฺพ แปลโดยคำศัพท์ ได้แก่ เสพ ซึ่งในหลักฐานที่อื่น อธิบายคำว่า เสวิตพฺพ ว่าวลญฺเชตพฺพ ใช้สอย บ้าง อนุยุญชิตพฺพ ประกอบหรือทำบ่อยๆ บ้าง นอกจากนี้ ในภาษาไทยตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้คำจำกัดความว่า คบ เช่น ซ่องเสพ ดังนั้น ในที่นี้เพื่อจะชี้ชัดลงไปว่า ทัสสนะเช่นนั้น เป็นกิจที่พวกปุถุชนใช้สอยหรือทำอยู่บ่อยๆ จึงใช้คำแปลว่า ทำเป็นประจำ ซึ่งก็ตรงกับคำว่า เสพ ในภาษาไทยนั่นเอง- Spob)
ข้อความว่า อนริยํ ไม่ประเสริฐ หมายถึง ปราศจากโทษก็หามิได้ ฯ แท้จริงแล้ว ความหมายว่าไม่มีโทษ เป็นความหมายของความประเสริฐ (อริยะ) ฯ เพราะฉะนั้น ในอรรถกถา จึงมีข้อความว่า น อุตฺตมํ น ปริสุทฺธํ ไม่สูงสุด ไม่บริสุทธิ์ ฯ
หรืออีกนัยหนึ่ง ที่ว่า อนริยะ ไม่ประเสริฐ ก็คือ เป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าทั้งหลายไม่ใช้เป็นประจำ ฯ
ข้อความว่า อนตฺถสํหิตํ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ หมายความว่า ไม่ประกอบด้วยประโยชน์มากประการ เช่น ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์และสัมปรายิกัตถประโยชน์ ฯ
อนึ่ง สิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ที่เห็นได้อย่างนั้น ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ในอรรถกถาจึงอธิบายข้อความนี้ว่า น อตฺถสนฺนิสฺสิตํ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ฯ
น วฏฺเฏ นิพฺพินฺทนตฺถาย การเห็นเป็นต้นอย่างนั้น ไม่เป็นไปประโยชน์แก่ความเบื่อหน่ายในวัฏฏะ เพราะไม่มีสัจจะสี่เป็นกัมมัฏฐาน (กัมมัฏฐาน ในที่นี้หมายถึงเป็นการภาวนา คือการเจริญสติปัฏฐาน อันเป็นบุพพภาคของแทงตลอดสัจจะ ๔ - spob) ฯ
อนึ่ง ถ้าไม่มีการเบื่อหน่ายในวัฏฏะ ก็จะไม่มีวิราคะเป็นต้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า น วิราคาย ไม่เป็นไปเพื่อวิราคะ เป็นต้น
คำว่า อนุตตริยะ ก็คือ ยอดเยี่ยม เพราะฉะนั้น พระอรรถกถาจารย์จึงอธิบายคำนี้ว่าเอตํ อนุตฺตรํ ไม่มีสิ่งที่อื่นที่เยี่ยมกว่า ฯ
สฺมึ วิภัตติ ที่อยู่ในบทพระบาลีว่า หตฺถิสฺมึ (หตฺถิ + สฺมึ) ใช้ในอรรถว่า นิมิต (ซึ่งมีความหมายเท่ากับว่า เป็นเหตุ จึงต้องแปล หตฺถิสฺมึ ในพระบาลีว่า เพราะช้าง) เพราะฉะนั้นท่านจึงแก้บทว่า หตฺถิสฺมึ ว่า หตฺถินิมิตฺตํ สิกฺขิตพฺพํ ศึกษาหัตถิศิลปะที่มีช้างเป็นนิมิตที่จะต้องศึกษา (คือมีช้างเป็นเหตุให้ศึกษา)
คำว่า หตฺถี หมายถึง หตฺถิสิปฺปํ ศิลปะว่าด้วยช้าง ก็เพราะมีช้างเป็นเนื้อเรื่องให้ศึกษาและต้องอาศัยช้าง จึงเป็นเหตุให้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า หตฺถิสฺมิมฺปิ สิกฺขติ ย่อมศึกษาแม้เพราะช้าง ฯ เพราะฉะนั้น จึงควรทราบความหมายในคำนี้อย่างนี้ว่าศึกษาในศิลปะว่าด้วยช้าง ฯ
(หมายเหตุ ในพระบาลีท่านแปลบทว่า หตฺถิสฺมิมฺปิ สิกฺขติ ว่า ย่อมศึกษาศิลปะเกี่ยวกับช้างบ้าง นั้น เพราะเป็นการแปลแบบรวบรัดให้ได้ใจความ แต่ในฏีกา ท่านมุ่งจะอธิบายเกี่ยวกับคำศัพท์ ดังนั้น ในที่นี้จึงแปลแบบนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับวิธีการอธิบายของท่าน – spob)
แม้ในข้อความที่เหลือในสิกขานุตตริยะ ก็เป็นแบบนี้ทั้งสิ้น ฯ
ข้อความในพระบาลีที่ว่า ปาริจริเย เป็นการใช้ไม่ตรงลิงค์และวิภัตติ ดังนั้น พระอรรถ-กถาจารย์จึงอธิบายว่า ปาริจริยาย ปจฺจุปฏฺฐิตา บำรุงด้วยการปรนนิบัติ ฯ
ข้อความที่เหลือในพระสูตรและอรรถกถานี้ เข้าใจได้ง่ายแล้ว ฯ
จบ อนุตตริยสูตร ที่ ๑๐
ในอังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ฯ
(หมายเหตุ ฏีกาอนุตตริยสูตร ที่ ๑๐ นี้ ข้าพเจ้า Spob แปลจาก คัมภีร์สารัตถมัญชุสาอังคุตรฏีกา ตติยภาค หน้า ๑๒๘ ฉบับมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย)
นอกจากนี้
ในอังุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ก็ปรากฏพระสูตรชื่อนี้เหมือนกัน คือ อนุตตริยสูตร แต่มีเนื้อความที่สังเขป ในที่นี้จะไม่นำเนื้อความพระสูตรและอรรถกถามาไว้ เพราะมีเนื้อความซ้ำกับในสูตรที่ ๑๐ ของฉักกนิบาตนี้. แต่เนื้อความในฏีกา กลับมีเนื้อความที่ขยายความเพิ่มเติมจากฉักกนิบาตอยู่บ้าง จึงนำเฉพาะข้อความในฏีกามาลงไว้ เพื่อจะได้เป็นประโยชน์สืบไป
ฏีกาอนุตตริยสูตรที่ ๘
(อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต)
ในอนุตตริยสูตรที่ ๘ นี้มีคำอธิบายดังนี้ ฯ
คำว่า อนุตตระ มีคำจำกัดความว่า ไม่มี สิ่งที่ยอดเยี่ยม หรือ พิเศษสุดของการเห็นเป็นต้นเหล่านี้ ฯ อนุตตระ และ อนุตตริยะ มีความหมายเท่ากัน เหมือนอย่างที่ อนันตระ และอนันตริยะ มีความหมายเท่ากัน ฉะนั้น ในอรรถกถาจึงอธิบายคำว่า อนุตตริยะ ว่า นิรุตฺตรานิไม่มีสิ่งอื่นที่เยี่ยมกว่า ฯ
การเห็นพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่า ทัสสนานุตริยะ เพราะนำผลอันพิเศษมาให้ ฯ ในทัสสนานุตริยะที่เหลือก็มีนัยนี้ ฯ
ข้อความว่า สตฺตวิธอริยธนลาโภ การได้อริยทรัพย์ ๗ ประการ คือ การได้ทรัพย์ที่เป็นโลกุตระ ๗ ประการ มีศรัทธาเป็นต้น ฯ
ข้อความว่า สิกฺขาตฺตยสฺส ปูรณํ การบำเพ็ญสิกขา ๓ ได้แก่ การทำสิกขา ๓ มีอธิศีลสิกขาเป็นต้นให้บริบูรณ์. ในเรื่องนั้น ควรทราบว่า การทำให้สิกขาสามบริบูรณ์ ได้แก่ พระ-อเสกขบุคคล โดยตรง. แต่บุคคลนอกนี้ จับแต่กัลยาณปุถุชนไปจนถึงพระเสกขะอีก ๗ ก็ชื่อว่าทำสิกขาสาม ให้บริบูรณ์ ได้ ฯ พระอรหันต์เท่านั้น ได้ชื่อว่า ผู้มีสิกขาบริบูรณ์ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสอนุตตริยะเหล่านี้ ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ ด้วยประการดังนี้ ฯ
จบ ฏีกาอนุตตริยสูตร ที่ ๘
ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย
(หมายเหตุ ฏีกาอนุตตริยสูตรที่ ๘ นี้ ข้าพเจ้า spob แปลจาก คัมภีร์สารัตถมัญชุสาอังคุตตรฏีกา ตติยภาค หน้า ๑๐๗ ฉบับมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย)
นอกจากนี้
ในอังุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ก็ปรากฏพระสูตรชื่อนี้เหมือนกัน คือ อนุตตริยสูตร แต่มีเนื้อความที่สังเขป ในที่นี้จะไม่นำเนื้อความพระสูตรและอรรถกถามาไว้ เพราะมีเนื้อความซ้ำกับในสูตรที่ ๑๐ ของฉักกนิบาตนี้. แต่เนื้อความในฏีกา กลับมีเนื้อความที่ขยายความเพิ่มเติมจากฉักกนิบาตอยู่บ้าง จึงนำเฉพาะข้อความในฏีกามาลงไว้ เพื่อจะได้เป็นประโยชน์สืบไป
ฏีกา อนุตตริยสูตรที่ ๘
(อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต)
ในอนุตตริยสูตรที่ ๘ นี้มีคำอธิบายดังนี้ ฯ
คำว่า อนุตตระ มีคำจำกัดความว่า ไม่มี สิ่งที่ยอดเยี่ยม หรือ พิเศษสุดของการเห็นเป็นต้นเหล่านี้ ฯ อนุตตระ และ อนุตตริยะ มีความหมายเท่ากัน เหมือนอย่างที่ อนันตระ และอนันตริยะ มีความหมายเท่ากัน ฉะนั้น ในอรรถกถาจึงอธิบายคำว่า อนุตตริยะ ว่า นิรุตฺตรานิไม่มีสิ่งอื่นที่เยี่ยมกว่า ฯ
การเห็นพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่า ทัสสนานุตริยะ เพราะนำผลอันพิเศษมาให้ ฯ ในทัสสนานุตริยะที่เหลือก็มีนัยนี้ ฯ
ข้อความว่า สตฺตวิธอริยธนลาโภ การได้อริยทรัพย์ ๗ ประการ คือ การได้ทรัพย์ที่เป็นโลกุตระ ๗ ประการ มีศรัทธาเป็นต้น ฯ
ข้อความว่า สิกฺขาตฺตยสฺส ปูรณํ การบำเพ็ญสิกขา ๓ ได้แก่ การทำสิกขา ๓ มีอธิศีล-สิกขาเป็นต้นให้บริบูรณ์. ในเรื่องนั้น ควรทราบว่า การทำให้สิกขาสามบริบูรณ์ ได้แก่ พระ-อเสกขบุคคล โดยตรง. ด้วยว่า บุคคลทั้งหลาย เริ่มแต่กัลยาณปุถุชนไป จนถึงพระเสขะ ๗ ชื่อว่า กำลังทำสิกขาสาม ให้บริบูรณ์ ฯ พระอรหันต์ เป็นผู้ชื่อว่า มีสิกขาบริบูรณ์ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสอนุตตริยะเหล่านี้ ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ ด้วยประการดังนี้ ฯ
จบ ฏีกาอนุตตริยสูตร ที่ ๘
ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย
(หมายเหตุ ฏีกาอนุตตริยสูตรที่ ๘ นี้ ข้าพเจ้า spob แปลจาก คัมภีร์สารัตถมัญชุสาอังคุตตรฏีกา ตติยภาค หน้า ๑๐๗ ฉบับมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย)
ขออนุโมทนาคุณ spob เป็นอย่างมากครับ ที่กรุณานำข้อความอันมีประโยชน์ เพื่อการศึกษา
พระธรรมให้เข้าใจละเอียดยิ่งขึ้น
นอกจากนี้
ในอังุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ก็ปรากฏพระสูตรชื่อนี้เหมือนกัน คือ อนุตตริยสูตร แต่มีเนื้อความที่สังเขป ในที่นี้จะไม่นำเนื้อความพระสูตรและอรรถกถามาไว้ เพราะมีเนื้อความซ้ำกับในสูตรที่ ๑๐ ของฉักกนิบาตนี้. แต่เนื้อความในฏีกา กลับมีเนื้อความที่ขยายความเพิ่มเติมจากฉักกนิบาตอยู่บ้าง จึงนำเฉพาะข้อความในฏีกามาลงไว้ เพื่อจะได้เป็นประโยชน์สืบไป
ฏีกาอนุตตริยสูตรที่ ๘
(อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต)
ในอนุตตริยสูตรที่ ๘ นี้มีคำอธิบายดังนี้ ฯ
คำว่า อนุตตระ มีคำจำกัดความว่า ไม่มี สิ่งที่ยอดเยี่ยม หรือ พิเศษสุดของการเห็นเป็นต้นเหล่านี้ ฯ อนุตตระ และ อนุตตริยะ มีความหมายเท่ากัน เหมือนอย่างที่ อนันตระ และอนันตริยะ มีความหมายเท่ากัน ฉะนั้น ในอรรถกถาจึงอธิบายคำว่า อนุตตริยะ ว่า นิรุตฺตรานิไม่มีสิ่งอื่นที่เยี่ยมกว่า ฯ
การเห็นพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่า ทัสสนานุตริยะ เพราะนำผลอันพิเศษมาให้ ฯ ในทัสสนานุตริยะที่เหลือก็มีนัยนี้ ฯ
ข้อความว่า สตฺตวิธอริยธนลาโภ การได้อริยทรัพย์ ๗ ประการ คือ การได้ทรัพย์ที่เป็นโลกุตระ ๗ ประการ มีศรัทธาเป็นต้น ฯ
ข้อความว่า สิกฺขาตฺตยสฺส ปูรณํ การบำเพ็ญสิกขา ๓ ได้แก่ การทำสิกขา ๓ มีอธิศีลสิกขาเป็นต้นให้บริบูรณ์. ในเรื่องนั้น ควรทราบว่า การทำให้สิกขาสามบริบูรณ์ ได้แก่ พระ-อเสกขบุคคล โดยตรง. แต่บุคคลนอกนี้ จับแต่กัลยาณปุถุชนไปจนถึงพระเสกขะอีก ๗ ก็ชื่อว่าทำสิกขาสาม ให้บริบูรณ์ ได้ ฯ พระอรหันต์เท่านั้น ได้ชื่อว่า ผู้มีสิกขาบริบูรณ์ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสอนุตตริยะเหล่านี้ ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ ด้วยประการดังนี้ ฯ
จบ ฏีกาอนุตตริยสูตร ที่ ๘
ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย
(หมายเหตุ ฏีกาอนุตตริยสูตรที่ ๘ นี้ ข้าพเจ้า spob แปลจาก คัมภีร์สารัตถมัญชุสาอังคุตตรฏีกา ตติยภาค หน้า ๑๐๗ ฉบับมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย)
เรียน ท่าน spob ผมเป็นอุบาสก มิได้ศึกษาบาลีไวยยากรณ์ แต่ผมได้ฟังว่า ปณามคาถาของคัมภีร์ ปทรูปสิทธิ,อภิธานนัปปทีปิกา,วุตโตทัย และสุโพธาลังการ 4 คัมภีร์นี้ ไพเราะทั้งอรรถและพยัญชนะ ผมได้ทราบว่า ท่านแปล คัมภีร์สารัตถมัญชุสา ได้ จึงอนุมานว่า ท่านอาจมีคัมภีร์เหล่านี้ อยู่ใกล้มือ หากไม่เป็นการลำบาก ขอท่านได้โปรดแสดง ปณามคาถาเหล่านั้น พร้อมด้วยคำแปล โดยอรรถ เพื่อเจริญศรัทธาปสาทแก่ผมด้วย ขอบคุณครับ