กพฬีการาหาร
กพฬีการาหาร
กพฬี (กวฬิง = คำข้าว) + การ (กระทำ) + อาหาร (นำมาซึ่งผล)
อาหารอันบุคคลกระทำให้เป็นคำแล้วกลืนกิน หมายถึง โภชนาหาร คือ ข้าว น้ำ และของที่รับประทานได้ทุกชนิดที่ทำให้ผู้ที่ดื่มกินแล้ว สามารถดำรงชีวิตสืบต่อไปได้ แต่เมื่อกล่าวถึงสภาวธรรมในอาหารที่กลืนกินเข้าไปนั้น มีสภาวรูป ๘ รูป คือดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา โอชารูป รูปเดียวเท่านั้นที่เป็นอาหารปัจจัย นำมาซึ่งผล คืออาหารชรูป เมื่อเข้าไปอยู่ในร่างกายของสัตว์แล้ว ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตและมีกำลังแข็งแรง ฉะนั้น สภาพธรรมของ กพฬีการาหาร ก็คือโอชารูป
อาหารรูป คือ รูปที่เป็นอาหาร ได้แก่ โอชารูปสามารถเป็นปัจจัยให้นำมาซึ่งผลคือกลุ่มของรูปอื่นๆ
อาหารชรูป คือ รูปที่เกิดจากอาหาร ได้แก่ กลุ่มของรูปที่เกิดจากโอชารูปเมื่อเข้าไปอยู่ในร่างกายของสัตว์แล้ว
[เล่มที่ 16] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 270
สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิติกา
สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ดำรงอยู่ด้วยอาหาร
คำว่า สพฺเพ สตฺตา หมายถึงสัตว์ทั้งปวงในภพทั้งปวง เช่นในกามภพ เป็นต้น ในสัญญีภพ เป็นต้น และในเอกโวการภพเป็นนั้น
คำว่า อาหารฎฐิติกา มีบทนิยามว่า สัตว์เหล่านั้นดำรงอยู่ได้เพราะอาหารดังนั้น จึงชื่อว่า อาหารฏฺฐิติกา ผู้ดำรงอยู่ได้เพราะอาหาร อาหารย่อมเป็นเหตุแห่งการดำรงอยู่ได้แห่งสรรพสัตว์ ด้วยประการดังนี้ พระเถระแสดงความหมายว่า"ท่านทั้งหลาย ธรรมหนึ่ง คือสัตว์ทั้งหลายดำรงอยู่ได้เพราะอาหารนี้ พระศาสดาของเราทั้งหลาย ทรงทราบตามความเป็นจริงแล้วได้ตรัสได้เป็นอันถูกต้อง" ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ คำที่ตรัสไว้ว่า "เทพจำพวกอสัญญสัตตะ เป็นอเหตุกะ ไม่มีอาหาร ไม่มีผัสสะ" ดังนี้เป็นต้นจะมิเป็นอันคลาดเคลื่อนไปละหรือไม่คลาดเคลื่อนทั้งนี้เพราะเทพพวกนั้นก็มีฌานเป็นอาหาร ถึงอย่างนั้นก็เถอะแม้คำที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันว่าอาหารเพื่อความดำรงอยู่ของสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาแล้ว หรือเพื่อการตามประคับประคองพวกสัมภเวสีทั้งหลาย มีอยู่ ๔อย่าง ๔ อย่างอะไรข้าง ๑.กพฬิงการาหาร จะหยาบก็ตามละเอียดก็ตาม ๒.ผัสสาหาร ๓.มโนสัญเจตนาหาร ๔.วิญญาณาหาร" ดังนี้ ก็คลาดเคลื่อน แม้คำนี้ก็ไม่คลาดเคลื่อน เพราะว่าในพระสูตรนั้น ตรัสธรรมทั้งหลายที่มีลักษณะเป็นอาหารโดยตรงนั่นแลว่า"อาหาร"
แต่ในที่นี้ตรัสเรียกปัจจัยโดยอ้อมว่า"อาหาร" จริงอยู่ ปัจจัยควรจะได้แก่ธรรมทั้งปวง และปัจจัยนั้นยังผลใดๆ ให้เกิดก็ย่อมชื่อว่านำมาซึ่งผลนั้นๆ เพราะฉะนั้นจึงเรียกได้ว่า อาหารด้วยเหตุนั้นแล จึงตรัสไว้ว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้อวิชชา เราก็กล่าวว่ามีอาหารมิใช่ไม่มีอาหาร ดูก่อนภิกษุทั้งหลายก็อะไรเล่าเป็นอาหารของอวิชชา ควรจะกล่าว นิวรณ์๕ เป็นอาหารของอวิชชา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้นิวรณ์๕ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิใช่ไม่มีอาหาร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่าเป็นอาหารของนิวรณ์๕ ควรจะกล่าวว่า อโยนิโสมนสิการ เป็นอาหารของนิวรณ์๕" ดังนี้ อาหาร คือปัจจัยนี้ประสงค์เอาในพระสูตรนี้ ก็เมื่อถือเอาปัจจัยเป็นอาหารอย่างหนึ่งแล้ว ก็ย่อมเป็นอันถือเอาทั้งหมด ทั้งอาหารโดยอ้อมทั้งอาหารโดยตรงในอสัญญภพนั้นย่อมได้ปัจจัยอาหาร ท่านกล่าวคำนี้ไว้แล้วมิใช่หรือว่า "ปัจจัยคืออาหาร" เพราะฉะนั้น สัตว์เหล่านั้นเกิดในนรกด้วยกรรมใด กรรมนั้นนั่นเองจัดว่าเป็นอาหาร เพราะเป็นปัจจัยแห่งความดำรงอยู่ของสัตว์เหล่านั้น ดังที่ตรัสมุ่งหมายถึงไว้ว่า"จะยังไม่สิ้นชีวิตตราบเท่าที่บาปกรรมอันนั้น ยังไม่หมดสิ้น" และในที่นี้ไม่ควรจะต้องโต้เถียงกัน ด้วยเรื่องกพฬิงการาหาร เพราะแม้แต่น้ำลายที่เกิดในปากก็ยังให้สำเร็จกิจในเชิงอาหารแก่สัตว์เหล่านั้นได้.จริงอยู่ น้ำลายนั้น ในนรกนับว่าเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ในสวรรค์นับว่าเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา จัดว่าเป็นปัจจัยได้
ดังนั้น ในกามภพโดยตรงมีอาหาร๔ อย่างในรูปภพและอรูปภพ ยกเว้นอสัญญสัตตะ ที่เหลือนอกนั้นมีอาหาร๓ อย่างสำหรับอสัญญสัตตะ และเทพอื่นๆ (นอกจากที่กล่าวแล้ว) มีอาหารคือปัจจัยอาหารด้วยประการดังนี้.
พระเถระกล่าวปัญหาข้อหนึ่งว่า สัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้เพราะอาหารด้วยอาหาร ตามที่แสดงมานี้แล้วได้แก้ไขปัญหาข้อที่๒ ว่า"สัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้เพราะสังขาร" ดังนี้ โดยมิได้กำหนด
[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ 49อาหารวรรคที่ ๒
๑. อาหารสูตร ว่าด้วยอาหาร ๔ อย่าง
[๒๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ เหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดมาแล้วหรือเพื่ออนุเคราะห์หมู่สัตว์ผู้แสวงหาที่ เกิดอาหาร ๔ เป็นไฉน คือ
[๑] กวฬีการาหาร หยาบหรือละเอียด
[๒] ผัสสาหาร
[๓] มโนสัญเจตนาหาร
[๔] วิญญาณาหาร
อาหาร ๔ เหล่านี้แลย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์หมู่สัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด.
[๒๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อาหาร ๔ เหล่านี้ มีอะไรเป็นเหตุมีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิดอาหาร ๔ เหล่านี้ มีตัณหาเป็นเหตุ มีตัณหาเป็นที่ตั้งขึ้น มีตัณหาเป็นกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด มีตัณหานี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด ตัณหามีเวทนาเป็นเหตุ มีเวทนาเป็นที่ตั้งขึ้น มีเวทนาเป็นกำเนิด มีเวทนาเป็นแดนเกิด ก็เวทนานี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เวทนามีผัสสะเป็นเหตุ มีผัสสะเป็นที่ตั้งขึ้น มีผัสสะเป็นกำเนิด
...โปรดศึกษาต่อโดยตรง [เล่มที่ 26] เล่ม ๒๖ พร้อมทั้งอรรถกถา...