กลาป

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 พ.ย. 2550
หมายเลข  5688
อ่าน  8,504

กลาป

กลุ่ม ก้อน คณะ หมายถึง กลุ่มของรูปซึ่งประชุมรวมกัน เป็นส่วนที่เล็กที่สุดของรูปธรรมซึ่งเป็นสภาพที่ไม่รู้อารมณ์ ส่วนละเอียดของรูปธรรมนี้อย่างน้อยที่สุดมี ๘ รูปได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา เรียกกลุ่มนี้ว่า อวินิโภครูป (รูปที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้) หรือสุทธัฏฐกกลาป (กลุ่มของรูปที่มี ๘ รูปล้วน)

กลาปหรือกลุ่มของรูปไม่ได้มีเพียง ๘ รูปเท่านั้น บางกลาปมี ๙ รูป บางกลาปมี ๑๐ รูป บางกลาปมี ๑๑, ๑๒, ๑๓ รูป ขึ้นอยู่กับกลุ่มของรูปนั้นเกิดจากสมุฏฐานใด เช่น จักขุทสกกลาป เป็นกลุ่มของรูปซึ่งเกิดจากกรรม (กัมมสมุฏฐาน) มี ๑๐ รูป คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา ชีวิตรูป และจักขุปสาทรูป หรือ วจีวิญญัติ สัททลหุตาทิเตรสกลาปเป็นกลุ่มของรูปที่เกิดจากจิต (จิตตสมุฏฐาน) มี ๑๓ รูป คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา วจีวิญญัติ สัททรูป ลหุตารูป มุฑุตารูป และกัมมัญญตารูป เป็นต้น


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 พ.ย. 2550

รูปเป็นปรมัตถธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ รูปปรมัตถ์เป็นสังขารธรรม มีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้น รูปๆ หนึ่งอาศัยรูปอื่นเกิดขึ้น ฉะนั้น จะมีรูปเกิดขึ้นเพียงรูปเดียวไม่ได้ ต้องมีรูปที่เกิดพร้อมกันและอาศัยกันเกิดขึ้นหลายรูปรวมกันเป็น ๑ กลุ่มเล็กๆ ซึ่งแยกออกจากกันไม่ได้เลย ภาษาบาลี เรียกว่า ๑ กลาป

รูปเป็นสภาพธรรมที่เล็กละเอียดมาก เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา รูปกลาปหนึ่งเกิดขึ้นจะดับไปเมื่อจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วมากเพราะจิตที่เห็นและจิตที่ได้ยินขณะนี้ ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก เพราะจิตที่เห็นและจิตที่ได้ยินขณะนี้ ซึ่งปรากฏเสมือนว่าพร้อมกันนั้นก็เกิดดับห่างไกลกันเกินกว่า ๑๗ ขณะจิต ฉะนั้น รูปที่เกิดพร้อมกับจิตที่เห็นก็ดับไปก่อนที่จิตได้ยินจะเกิดขึ้น

รูปแต่ละรูปเล็กละเอียดมาก ซึ่งเมื่อแตกย่อยรูปที่เกิดดับรวมกันอยู่ออกจนละเอียดยิบ จนแยกต่อไปไม่ได้อีกแล้วนั้น ในกลุ่มของรูป (กลาปหนึ่ง) ที่เล็กที่สุดที่แยกอีกไม่ได้เลยนั้นก็มีรูปรวมกันอย่างน้อยที่สุด ๘ รูป เรียกว่า อวินิพโภครูป ๘ คือ
มหาภูตรูป (รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน) ๔ ได้แก่

ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) เป็นรูปที่อ่อนหรือแข็ง ๑ รูป

อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) เป็นรูปที่เอิบอาบหรือเกาะกุม ๑ รูป

เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) เป็นรูปที่ร้อนหรือเย็น ๑ รูป

วาโยธาตุ (ธาตุลม) เป็นรูปที่ไหวหรือตึง ๑ รูป

มหาภูตรูป ๔ นี้ต้องอาศัยกันเกิดขึ้น จึงแยกกันไม่ได้เลย และมหาภูตรูป ๔ นี้เป็นเป็นปัจจัยโดยเป็นที่อาศัยเกิดของรูปอีก ๔ รูปที่เกิดร่วมกับมหาภูตรูปในกลาปเดียวกัน คือ

วัณโณ (แสงสี) เป็นรูปที่ปรากฏทางตา ๑ รูป

คันโธ (กลิ่น) เป็นรูปที่ปรากฏทางจมูก ๑ รูป

รโส (รส) เป็นรูปที่ปรากฏทางลิ้น ๑ รูป

โอชา (อาหาร) เป็นรูปที่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป ๑ รูป

รูป ๘ นี้แยกกันไม่ได้เลย เป็นกลุ่มของรูปที่เล็กที่สุดที่เกิดพร้อมกันและดับพร้อมกันอย่างรวดเร็ว จะมีแต่มหาภูตรูป ๔ โดยไม่มี อุปาทายรูป (รูปที่อาศัยมหาภูตรูปเกิด) ๔ รูปนี้ไม่ได้เลย มหาภูตรูป ๔ เป็นปัจจัยโดยเป็นที่อาศัยของอุปาทายรูปที่เกิดร่วมกันในกลาปเดียวกัน แต่แม้ว่าอุปทายรูปจะเกิดพร้อมกับมหาภูตรูปในกลาปเดียวกัน แต่อุปทายรูปก็ไม่ได้เป็นปัจจัยให้มหาภูตรูปเกิด

ฉะนั้น มหาภูตรูป ๔ จึงเกิดพร้อมกับอุปาทายรูป โดยมหาภูตรูปเป็นปัจจัย คือเป็นที่อาศัยของอุปาทายรูป และอุปาทายรูปเกิดพร้อมกับมหาภูตรูปโดยอาศัยมหาภูตรูป แต่ไม่ได้เป็นปัจจัยให้มหาภูตรูปเกิด

จากหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป หน้า ๗-๘

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 12 พ.ค. 2558
ขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
นิคม
วันที่ 29 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peem
วันที่ 14 ก.พ. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 28 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ