กัมมวัฏฏ์
กัมมวัฏฏ์
กัมมะ (การกระทำคือเจตนาเจตสิก) + วัฏฏะ (การวนเวียน หมุนเวียน)
สภาพที่หมุนเวียนคือกรรม หมายถึง เจตนาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิต ๑๒ ดวงและโลกียกุศล ๑๗ ดวง ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้เกิดการวนเวียนคือทำให้เกิดวิบากจิต วิบากเจตสิก และกัมมชรูป เป็นภพชาติและสังสารวัฏฏ์ต่อๆ ไป
สังสารวัฏฏ์ มี ๓ อย่าง คือ กิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์
กิเลสวัฏฏ์ เกิดขึ้นวนเวียนทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และสั่งสมสันดานสืบต่อเป็นเหตุให้กระทำกัมมวัฏฏ์ คือกุศลกรรมและอกุศลกรรม ทางกาย วาจา ใจ
กัมมวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิด วิปากวัฏฏ์ และเมื่อวิบากจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นทางกายนั้นก็ไม่ปราศจากกิเลสวัฏฏ์อีก เพราะยังมีความยินดียินร้ายในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อมีกิเลสก็เป็นเหตุให้กระทำกรรมที่เป็นอกุศลกรรมบ้างกุศลกรรมบ้าง อกุศลกรรมและกุศลกรรมนั้นก็เป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบากจิตและกุศลวิบากจิตไม่รู้จบ ตราบใดที่ปัญญาไม่ได้อบรมจนเจริญคมกล้า สามารถประจักษ์แจ้งอริยสัจจธรรมสังสารวัฏฏ์ทั้ง ๓ คือ กิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ และวิปากวัฏฏ์ ก็จะต้องเกิดขึ้นวนเวียนไปเรื่อยๆ
ปฏิจจสมุปปาท คือ ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นนั้นก็เป็นกิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ และวิปากวัฏฏ์ คืออวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร (กิเลสวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดกัมมวัฏฏ์) สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ (กัมมวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดวิปากวัฏฏ์) .......
จากหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป หน้าที่ ๕๘