กามจิต หรือ กามาวจรจิต

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 พ.ย. 2550
หมายเลข  5719
อ่าน  14,548

กามจิต หรือ กามาวจรจิต

กาม (ความใคร่ วัตถุที่เป็นที่ตั้งของความใคร่) + จิตต (จิต)

จิตที่ยังเป็นไปในกาม หมายถึง จิตที่ยังข้องในกาม คือมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ หรือเป็นจิตที่เกิดในกามภูมิ ๑๑ เป็นส่วนมาก ได้แก่ กามาวจรจิต ๕๔ คือ อกุศลจิต ๑๒ อเหตุกจิต ๑๘ มหากุศลจิต ๘ มหาวิบาก ๘ มหากิริยา ๘


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 พ.ย. 2550

คำว่า กามอารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่เป็นกามหรือปริตตารมณ์ อารมณ์ที่เล็กน้อยสภาพธรรมของกามอารมณ์ ได้แก่ กามาวจรจิต ๕๔ เจตสิกที่ประกอบ รูป ๒๘ ทั้งหมดเป็นปรมัตถธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 พ.ย. 2550

....กามาวจรจิต คือ จิตขั้นกามที่ท่องเที่ยวไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นจิตที่ยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นจิตที่ไม่พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

บางท่านก็บอกว่าทำบุญแล้วอยากจะเกิดในสวรรค์ สวรรค์ก็ไม่พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ แต่เป็นกามอารมณ์ที่ประณีตกว่ากามอารมณ์ในโลกมนุษย์ ฉะนั้น ตั้งแต่เกิดจนตาย ขณะใดที่จิตสงบไม่ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ คือไม่เป็นฌานจิต และไม่เป็นโลกุตตรจิต ขณะนั้นก็เป็นกามาวจรจิต ขณะหลับและตื่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึกต่างๆ นั้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเลย แต่เป็นจิตขั้นกาม คือ กามาวจรจิต ทั้งสิ้น

ผู้ที่ไม่ใช่พระอนาคามีพระและอรหันต์นั้น ยังมีความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะแสดงว่าความพอใจในกามอารมณ์ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นละได้ยากเพียงใดและถึงแม้ว่าจะอบรมเจริญความสงบถึงขั้นฌานจิต และเกิดในพรหมโลก ก็ยังละความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไม่ได้เป็นสมุจเฉท เมื่อยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคลก็ยังต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้คือเป็นผู้ยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ ทางตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉะนั้น จึงไม่ควรประมาทกิเลสและจะต้องเข้าใจสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงตามเหตุผล จึงจะสามารถอบรมเจริญปัญญาที่ดับกิเลสได้จริงๆ เป็นสมุจเฉท

บทว่า กามาวจร ได้แก่ จิตอันนับเนื่องในกามาวจรธรรม ข้อความในอัฏฐสาลินี แสดงว่า ภูมิของกามาวจรธรรมนั้น เบื้องต่ำตั้งแต่อเวจีนรกขึ้นมา เบื้องบนตั้งแต่เทวดาชั้นปรนิมมิตตวสวัตตีลงมา ภูมิเหล่านี้เป็นภูมิของกามอารมณ์ทั้งหมด ส่วนคำว่า“วัตถุกาม” นั้นมีความหมายกว้างกว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดทั้งสิ้นเมื่อเป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจก็เป็นวัตตถุกาม เมื่อเกิดเป็นพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิ รูปพรหมภูมินั้นก็เป็นวัตถุกาม คือ เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจของรูปพรหมบุคคลนั้น ผู้ที่เกิดในอรูปพรหมภูมิ อรูปพรหมก็เป็นวัตถุกาม คือ เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจของอรูปพรหมบุคคลนั้นได้ โลภเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่ยินดีพอใจ ติดข้องในอารมณ์ทุกอย่างนอกจาก โลกุตตรธรรม เท่านั้น ฉะนั้นนอกจากโลกุตตรธรรมแล้วธรรมอื่นๆ จึงเป็นวัตถุกาม คือเป็นที่ตั้ง เป็นที่ยินดีพอใจของโลภะได้

ความหมายของกามาวจรจิตนัยที่ ๑ คือ เป็นจิตขั้นกามไม่พ้นไปจากกาม

นัยที่ ๒ เป็นจิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในกามภูมิ คือ อบายภูมิ ๔ มนุสสภูมิ ๑ และสวรรค์ ๖ ชั้น

นัยที่ ๓ ชื่อว่า กามาวจรจิต เพราะว่าย่อมท่องเที่ยวไป ด้วยสามารถแห่งการกระทำให้เป็นอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ย่อมท่องเที่ยวไปในจิตนั้นๆ ด้วยสามารถแห่งการกระทำให้เป็นอารมณ์ แม้เพราะเหตุนั้นๆ ชื่อว่า กามาวจร ถ้าจะให้เข้าใจง่าย ก็คือ จิตใดก็ตามที่เกี่ยวเนื่องเป็นไปในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ เป็นอารมณ์ จิตนั้นเป็นกามาวจร

ถาม พระอรหันต์มีกามาวจรจิตไหม

ตอบ มีเมื่อพระอรหันต์เห็นรูปารมณ์ที่ปรากฏทางตา รูปารมณ์ที่เป็นกามอารมณ์ จิตเห็นจึงเป็นกามาวจรจิต ไม่ว่าจะเป็นจิตของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก หรือจิตของบุคคลใดขณะใดๆ ก็ตามที่มีกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ จิตนั้นเป็นกามาวจรจิต

นัยที่ ๔ อีกอย่างหนึ่งจิตใดย่อมยังปฏิสนธิให้ท่องเที่ยวไปในกาม กล่าวคือ กามภพ (อบายภูมิ ๔ มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖) เหตุนั้น จิตนั้นชื่อว่า กามาวจร ทุกท่านที่ อยู่ในโลกมนุษย์นี้เพราะกามาวจรจิตทำให้กามปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในภูมิมนุษย์ ซึ่งเป็นกามภูมิ ผู้ที่เจริญสมถภาวนาจนจิตสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิเป็นรูปฌานจิตหรืออรูปฌานจิต ถ้าฌานจิตไม่เสื่อม และฌานจิตเกิดก่อนจุติจิต ฌานกุศลจิตนั้นไม่เป็นปัจจัยให้เกิดในโลกนี้ แต่เป็นปัจจัยให้เกิดในรูปพรหมภูมิหรือในอรูปพรหมภูมิตามขั้นของฌานนั้นๆ การเกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกามาวจรกุศล คือ ทาน ศีล การอบรมเจริญสมถภาวนา การอบรมเจริญสติปัฏฐานซึ่งยังไม่พ้นไปจากกาม ฉะนั้น จึงทำให้ปฏิสนธิในกามภูมิ

จากหนังสือปรมัตถธรรมสังเขปหน้า ๗๒-๗๓

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 27 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Sea
วันที่ 20 พ.ย. 2564

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เฉลิมพร
วันที่ 13 เม.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ