สังคหสูตร - วาจาสูตร - o๘ ธ.ค. ๒๕๕o

 
บ้านธัมมะ
วันที่  3 ธ.ค. 2550
หมายเลข  5740
อ่าน  4,744

สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๘ ธ.ค. ๒๕๕๐ เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น.

๒. สังคหสูตร

ว่าด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๑๑๗


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ธ.ค. 2550

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๑๑๗

๒. สังคหสูตร

ว่าด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการ

[๓๒]ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังคหวัตถุ (ธรรมเป็นเครื่องสงเคราะห์) ๔ ประการนี้ สังคหวัตถุ ๔ ประการ คืออะไร คือ

ทาน (การให้ปัน) ๑เปยยวัชชะ (เจรจาไพเราะ) ๑ อัตถจริยา (บำเพ็ญประโยชน์ต่อกัน) ๑สมานัตตตา (ความวางตนสม่ำเสมอ) ๑ นี้แล ภิกษุทั้งหลาย สังคหวัตถุ ๔ ประการ.

นิคมคาถา

การให้ปัน ๑ เจรจาไพเราะ ๑บำเพ็ญประโยชน์ ๑ ความวางตนสม่ำเสมอในธรรมนั้นๆ ตามควร ๑ เหล่านี้แลเป็นธรรมเครื่องสงเคราะห์ในโลก เหมือนสลัก (ที่หัวเพลา) คุมรถที่แล่นไปอยู่ฉะนั้น ถ้าธรรมเครื่องสงเคราะห์เหล่านี้ไม่มีไซร้ มารดาหรือบิดาก็จะไม่พึงได้รับความนับถือหรือบูชา เพราะเหตุแห่งบุตร ก็เพราะเหตุที่บัณฑิตทั้งหลายยังเหลียวแลธรรม เครื่องสงเคราะห์เหล่านี้อยู่ เพราะเหตุนั้นบัณฑิตเหล่านั้น จึงได้ถึงความเป็นใหญ่ และเป็นที่น่าสรรเสริญ.

จบสังคหสูตรที่ ๒

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ธ.ค. 2550

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๑๑๘

อรรถกถาสังคหสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสังคหสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า สงฺคหวตฺถูนิ คือเหตุแห่งการสงเคราะห์กัน.
ในบทว่า ทานญฺจ เป็นอาทิ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้. ก็บุคคลบางต้นควรรับสงเคราะห์ด้วยทานอย่างเดียว ก็พึงให้ทานอย่างเดียวแก่เขา.
บทว่า เปยฺยวชฺชํ คือพูดคำน่ารัก. จริงอยู่ บุคคลบางคนพูดว่าผู้นี้ให้สิ่งที่ควรให้ แต่ด้วยคำๆ เดียว เขาก็พูดลบหลู่หมดทำให้เสียหาย เขาให้ทำไม ดังนี้. บางคนพูดว่า ผู้นี้ไม่ให้ทานก็จริง ถึงดังนั้นเขาก็พูดได้ระรื่นเหมือนเอาน้ำมันทา. ผู้เช่นนั้นจะให้ก็ตามไม่ให้ก็ตามแต่ถ้อยคำของเขา ย่อมมีค่านับพัน. บุคคลเห็นปานนี้ย่อมไม่หวังการให้ ย่อมหวังแต่ถ้อยคำที่น่ารักอย่างเดียว ควรกล่าวแต่คำที่น่ารักแก่เขาเท่านั้น.
บทว่า อตฺถจริยา คือพูดแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์และทำความเจริญ.จริงอยู่ บางคนมิใช่หวังแต่ทานการให้ มิใช่หวังแต่ปิยวาจา ถ้อยคำที่น่ารัก หากหวังแต่การพูดที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลการพูดที่ทำความเจริญแก่ตนถ่ายเดียว. พึงกล่าวแต่เรื่องบำเพ็ญประโยชน์แก่บุคคลผู้เห็นปานนั้นอย่างนี้ว่า ท่านควรทำกิจนี้ ไม่ควรทำกิจนี้ บุคคลเช่นนี้ควรคบ เช่นนี้ไม่ควรคบ.
บทว่า สมานตฺตตา คือ ความเป็นผู้มีสุขมีทุกข์เสมอกัน. จริงอยู่บุคคลบางคน ย่อมไม่หวังสังคหวัตถุมีทานเป็นต้น แม้แต่อย่างหนึ่งหากหวังความร่วมสุขร่วมทุกข์อย่างนี้ คือ นั่งบนอาสนะเดียวกัน นอนบนเตียงเดียวกันบริโภคร่วมกัน. ถ้าเขาเป็นคฤหัสถ์ย่อมเสมอกันโดยชาติ บรรพชิตย่อมเสมอกันโดยศีล ความวางตนสม่ำเสมอนี้ ควรทำแก่บุคคลนั้น.
บทว่า ตตฺถ ตตฺถ ยถารหํ ความว่า ความวางตนสม่ำเสมอในธรรมนั้นๆ ตามสมควร.
บทว่า รถสฺสาณีว ยายโต ความว่า สังคหธรรมเหล่านี้ ย่อมยึดเหนี่ยวโลกไว้ได้ เหมือนสลัก (ที่หัวเพลา) ย่อมยึดรถที่แล่นไปอยู่คือย่อมยึดยาน (คือรถ) ไว้ได้ฉะนั้น.
บทว่า น มาตา ปุตฺตการณา ความว่า ถ้ามารดาไม่พึงทำการสงเคราะห์เหล่านั้นแก่บุตรไซร้ ท่านก็ไม่พึงได้รับความนับถีอ หรือบูชาเพราะบุตรเป็นเหตุ.
บทว่า สงฺคหา เอเต เป็นปฐมาวิภัติใช้ในอรรถทุติยาวิภัติ อนึ่ง ปาฐะว่าสงฺคเห เอเต ก็มี.
บทว่า สมเวกฺขนฺติ คือ ย่อมพิจารณาเห็นโดยชอบ.
บทว่า ปาสํสา จภวนฺติ คือ ย่อมเป็นผู้ควรสรรเสริญ.

จบอรรถกถาสังคหสูตรที่ ๒

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ธ.ค. 2550

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๔๓๙

๘. วาจาสูตร *

ว่าด้วยองค์แห่งวาจาสุภาษิต ๕ ประการ

[๑๙๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการเป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต และเป็นวาจาไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน องค์ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ

วาจานั้นย่อมเป็นวาจาที่กล่าวถูกกาล ๑

เป็นวาจาที่กล่าวเป็นสัจ ๑

เป็นวาจาที่กล่าวอ่อนหวาน ๑

เป็นวาจาที่กล่าวประกอบด้วยประโยชน์ ๑

เป็นวาจาที่กล่าวด้วยเมตตาจิต ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการนี้แลเป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต และเป็นวาจาไม่มีโทษวิญญูชนไม่ติเตียน.

จบวาจาสูตรที่ ๘

( * สูตรที่ ๘-๙ อรรถกถาว่าง่ายทั้งนั้น.)

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
spob
วันที่ 5 ธ.ค. 2550

ฏีกาสังคหสูตร

สังคหสูตรที่ ๒ มีอรรถาธิบาย ดังนี้ ฯ

ข้อความว่า พึงให้ทานนั่นแหละแก่เขา หมายความว่า พึงถวายเครื่องใช้สอยของบรรพชิต มีบาตรและจีวรเป็นต้น แก่บรรพชิต ฯ สำหรับคฤหัสถ์ พึงให้เครื่องใช้สอยของคฤหัสถ์มีผ้า อาวุธ ยาน ที่นอนเป็นต้น ฯ ข้อความว่า ให้เสียหายหมด ได้แก่ ทำอุปการะทั้งหมด ให้เสียหายหมด ฯ ข้อความว่า พูดลบหลู่ให้เสียหาย ได้แก่ ตั้งอยู่ในความเป็นผู้ลบหลู่ ฯ ข้อความว่า เหมือนเอาน้ำมันทา ได้แก่ เหมือนกับทาด้วยน้ำมันร้อยทะนาน ฯ ข้อความว่า พูดแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์และทำความเจริญ ได้แก่ กถานำประโยชน์เกื้อกูลมาให้ ฯ ก็คำว่า กถา นี้ในอรรถกถานั้น เป็นเพียง นิทัสสนะ, แม้การทำทางกาย ที่นำประโยชน์เกื้อกูลมาให้แก่คนอื่น ก็ชื่อว่า อัตถจริยา ฯ แต่ในอรรถกถา ท่านกล่าวอัตถจริยาก็ด้วยเป็นการทำทางวาจาฯ ข้อความว่า มีตนเสมอกัน ได้แก่ ความเหมือนกันกับตน คือ การวางตนไว้ในฐานะที่เท่าเทียมกัน, ก็การตั้งตนไว้ในฐานะที่เท่าเทียมกันต่อบุคคลนั้น นั้น ได้แก่ ความเป็นอยู่ร่วมกันเพราะมุ่งสร้างความเหมือนกันกับตน ฯ ความเป็นอยู่ร่วมกันกับตน ด้วยทุกข์นั้น ย่อมมี ทั้งในสุขที่เกิดแก่ตน และในทุกข์ที่เกิดแก่เขา เพราะฉะนั้น ในอรรถกถาจึงมีข้อความว่า ความมีสุขและทุกข์เสมอเหมือนกัน. เมื่อจะแสดงความข้อนี้ว่า อนึ่ง ความมีสุขและทุกข์เสมอเหมือนกัน จะเป็นอันปรากฏชัด ด้วยการนั่งเป็นต้นด้วยกัน ท่านจึงกล่าวว่า ในที่นั่งเดียวกัน ดังนี้เป็นต้นไว้.

ในคฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งสองพวกเหล่านั้น คนมีชาติกำเนิดต่ำแต่มีโภคะมาก เป็นผู้สงเคราะห์ได้ยาก ฯ เพราะใครๆ ไม่อาจจะเป็นอยู่ร่วมกันกับเขา ได้ เพราะชาติกำเนิดต่ำ. เมื่อบุคคลไม่ใช้สอยกับเขาอย่างนั้น เขาจะโกรธ เพราะเป็นผู้สูงด้วยโภคะ. เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้สงเคราะห์ได้ยาก,

แม้คนมีโภคะน้อย แม้สูงด้วยชาติ ก็สงเคราะห์ได้ยากเช่นกัน. เพราะ ย่อมประสงค์แต่จะเป็นอยู่ร่วมกันกับผู้มีโภคะสมบูรณ์ ด้วยคิดว่า เรามีชาติกำเนิดสูง, เมื่อไม่มีใคร ทำการเป็นอยู่อย่างนั้นให้ จะโกรธ. คนต่ำด้วยเหตุทั้งสอง สงเคราะห์ได้ง่าย เพราะไม่ปรารถนาจะเป็นอยู่ร่วมกันกับคนอื่นๆ นอกนี้ เพราะมีชาติต่ำ, เขาจะไม่โกรธ หากไม่มีใครจะทำอย่างนั้น เพราะเป็นผู้ต่ำเพราะโภคะ. แม้ผู้ที่เสมอกันด้วยเหตุทั้งสอง ก็สงเคราะห์ง่ายเหมือนกันทีเดียว. เพราะปรารถนาการเป็นอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น ซึ่งมีความเท่าเทียมกันนั่นเทียวและเพราะถึงจะไม่มีใครทำให้ ไม่มีความโกรธแบบนั้น. ภิกษุผู้ทุศีล ก็สงเคราะห์ยาก, เพราะไม่มีภิกษุรูปอื่นๆ จะเป็นอยู่ร่วมกันกับเธอได้. เมื่อไม่มีใครเป็นอยู่กับเธอๆ ก็โกรธ. แต่ภิกษุผู้มีศีล เป็นผู้สงเคราะห์ได้ง่าย. เพราะแม้จะไม่มีใครถวายปัจจัยอะไรๆ หรือการสงเคราะห์ให้ เธอก็ไม่โกรธ, จะแลดูเพื่อนสพรหมจารีย์อื่นๆ ผู้ไม่เป็นอยู่ร่วมกับตน ด้วยจิตอกุศล ก็หามิได้ เพราะเป็นผู้รักศีล. เพราะเหตุนั้นนั่นเอง แม้การเป็นอยู่ กับภิกษุผู้มีศีลนี้ ก็ทำได้ง่าย, ฯ

ดังนั้น หากเขาเป็นคฤหัสถ์ ย่อมเป็นผู้เสมอกันด้วยเหตุทั้งสอง (ด้วยชาติและโภคะ) ถ้าเป็นบรรพชิต ก็จะเป็นผู้มีศีลที่เสมอกัน. พึงสงเคราะห์ (ยึดเหนี่ยว) กันได้ด้วยความเป็นผู้สม่ำเสมอกันอย่างนี้ เพราะเหตุนั้น พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวว่า โส สเจ ฯปฯ กาตพฺพา ถ้าเขาเป็นคฤหัสถ์ย่อมเสมอกันโดยชาติ บรรพชิตย่อมเสมอกันโดยศีล ความวางตนสม่ำเสมอนี้ ควรทำแก่บุคคลนั้น

ข้อความที่เหลือเข้าใจง่ายทั้งนั้น

จบ ฏีกาสังคหสูตร

หมายเหตุ ฏีกาสังคหสูตรนี้ แปลจากคัมภีร์สารัตถมัญชุสา อังคุตรฏีกา จตุกนิบาตวัณณนาทุติยภาค ฉบับมหาจฬา ฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
spob
วันที่ 5 ธ.ค. 2550

เนื่องจาก วาจาสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต นี้ อรรถกถาท่านไม่ได้แสดงอรรถาธิบายไว้ แต่ในคัมภีร์อังคุตรฏีกา ซึ่งเป็นฏีกาของสูตรนี้ ได้แสดงไว้ ข้าพเจ้าจึงได้นำมาแปลลงประกอบไว้ด้วย เพื่อเป็นแนวทางศึกษาเนื้อความของพระสูตรนี้ได้อย่างถูกต้อง สืบไปขออนุโมทนา ฯ

ฏีกาวาจาสูตร

วาจาสูตรที่ ๘ มีอรรถาธิบาย ดังนี้ ฯ ข้อความว่า ด้วยองค์ทั้งหลาย ได้แก่ ด้วยเหตุ ฯ ก็ เหตุ ชื่อว่า องค์ เพราะมีความหมายว่า เป็นสิ่งอันเขารู้ได้โดยความเป็นเหตุ ฯ คำว่า องค์ มีความหมายว่า เป็นเหตุ ฯ (หมายความว่า องค์ ๕ เหล่านี้ เป็นเหตุให้วาจาเป็นสุภาษิต - Spob) พระบาลีว่า ปญฺจหิ องค์ ๕ ประการ เป็นปัญจมีวิภัตติ ใช้ในความหมายว่า เป็นเหตุ (คือให้แปลว่า เพราะองค์ ๕ ประการ ดังนั้น ถ้าจะแปลข้อความในพระบาลีนี้ให้ตรงกับที่พระ-ฏีกาจารย์แนะนำ ควรแปลว่า วาจา เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต และเป็นวาจาไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน ซึ่งเป็นไปแล้ว เพราะองค์ ๕ ประการ, องค์ ๕ ประการเป็นไฉน?- spob)


ข้อความว่า สมนฺนาคตา ประกอบพร้อม แปลตรงตัวว่า มาตามพร้อม หมายความว่าเป็นไป หรือ ประกอบ


ข้อความว่า วาจา ได้แก่ วาจาที่ใช้สนทนา ฯ อนึ่ง คำว่า วาจา ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงวาจา, วิญญัติ ที่แสดงว่าเป็นวาจา , วิรัติ ที่แสดงว่าเป็นวาจา, เจตนาที่แสดงว่าเป็น วาจา ที่มาในปกรณ์ต่างๆ ดังนี้ คือ - ที่แสดงว่า วาจา ตรงๆ ในธัมมสังคณี ว่า "วาจา คิรา พฺยปฺปโถ วาจาที่พูดวาจาที่เปล่ง คำเป็นที่มา" และในทีฆนิกายว่า "เนลา กณฺณสุขา วาจาอันหาโทษมิได้สบายหู" - ที่แสดงวิญญัติว่าเป็น วาจา ในอัฏฐสาลี อรรถกถาธัมมสังคณี ว่า วาจาย เจกตํ กมฺมํ ถ้ากรรม อันบุคคลทำแล้ว ด้วยวาจา

- ที่แสดงวิรติว่าเป็น วาจา ในธัมมสังคณีว่า ยา จตูหิ วจีทุจฺจริเตหิ อารติ ฯปฯ เอวํ วุจฺจติ สมฺมาวาจาฯ ความงดเว้นจากวจีทุจริต ๔ ฯลฯ ที่เรียกว่า สัมมาวาจา - ที่แสดงเจตนาว่าเป็น วาจา ในธัมมสังคณีว่า ผรุสวาจา ภิกฺขเว อาเสวิตา ภาวิตา พหุลีกตา นิรยสํวตฺตนิกา โหติ ภิกษุทั้งหลาย วาจาหยาบอันบุคคลส้องเสพ เจริญทำให้มากแล้ว ย่อมยังนรกให้เป็นไปพร้อม ฯ

เพราะเหตุไร? เพราะไม่เป็นภาษิต (วาจาที่ใช้สนทนา) ฯ เพราะตรัสไว้ว่า เป็นสุภาษิต วาจาที่สนทนากันดี, เป็นทุพภาษิต วาจาที่สนทนากันไม่ดี

ข้อความว่า สุภาษิต ได้แก่ ภาษิตแล้วด้วยดี ด้วยคำว่า สุภาษิต นี้ แสดงความที่สุภาษิตนั้นนำประโยชน์มาให้ ฯ

ข้อความว่า ไม่มีโทษ ได้แก่ เว้นจากโทษมีราคะเป็นต้น ฯ ด้วยคำนี้ แสดงความหมดจดแห่งเหตุ และความไม่มีโทษที่เป็นไปโดยนัยว่าถึงอคติ เป็นต้น แห่งวาจานั้น ฯ (หมายเหตุ – ในอรรถกถาสุภาษิตสูตร สคาถวรรค สังยุตตนิกาย แสดงว่า วจีสุจริต ๔ มีเจตนาเป็นเครื่องเว้นจากมุสาวาทเป็นต้น เป็นเหตุแห่งวาจาสุภาษิต) เพราะว่า เมื่อบุคคลผู้กล่าววาจา ซึ่งพ้นจากราคะโทสะเป็นต้น การถึงความลำเอียง ชื่อว่า ถูกยกไว้เสียไกลทีเดียว เพราะละเว้นจากการถูกทำให้พอใจ ดังนี้แล ฯ


ข้อความว่า วิญญูชนไม่ติเตียน หมายความว่า พ้นจากคำตำหนิ ฯ ด้วยคำนี้ แสดงอาการทั้งปวงสมบูรณ์ ฯ เพราะเมื่ออาการทั้งปวงสมบูรณ์ วาจาจึงเป็นคำที่วิญญูชนไม่ติเตียน ฯวิญญูชน ได้แก่ บัณฑิต ฯ ด้วยคำนี้ แสดงว่า คนพาลไม่เป็นประมาณในการตำหนิและสรรเสริญ ฯ พระผู้มีพระภาค เมื่อทรงแสดงองค์เหล่านั้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการนี้แล โดยประจักษ์ (โดยแยกยะให้ปรากฏ) จึงทรงย้ำวาจานั้น ฯ อนึ่ง ทรงปฏิเสธ วาจามีการกล่าวคำเท็จเป็นต้น ทั้งที่ประกอบด้วยองค์ประกอบมีปฏิญญา (คำรับรอง) เป็นต้น, ด้วยบทต่างๆ มีคำนามเป็นต้น, ด้วยบทที่มีลิงค์, วจนะ, วิภัตติ,กาล, และการกะ ที่ถึงพร้อม นั้น ซึ่งชนเหล่าอื่น สำคัญ ว่าเป็น สุภาษิต, ฯ

ด้วยว่า วาจา แม้ประกอบด้วยองค์ประกอบเป็นต้น เห็นปานนั้น นับเป็นวาจาที่เป็นทุ-พภาษิตแท้ เพราะไม่นำประโยชน์มาให้ทั้งแก่ตนและผู้อื่น ฯ

แต่ หากแม้ว่าวาจาที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ประการเหล่านี้ แม้นับเนื่องอยู่ในภาษาของชนชาวมิลักขะ หรือแม้นับเนื่องอยู่กับเพลงขับของหญิงชาวสีหฬผู้ถือหม้อน้ำ ก็ตาม, วาจาแม้เช่นนั้น เป็นสุภาษิตแท้ เพราะนำสุขทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระมาให้ ฯ จริงอย่างนั้น ภิกษุผู้เจริญวิปัสสนา จำนวน ๖๐ รูป กำลังเดินทาง ได้ยินหญิงชาวสีหลซึ่งเฝ้าข้างกล้าริมทางร้องเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชาติชราและมรณะ ด้วยภาษาสีหลนั่นเทียวแล้วบรรลุพระอรหัตต์ ถึงภิกษุ ผู้เจริญวิปัสสนา นามว่า ติสสะ ก็เช่นกัน เดินไปตามทางใกล้สระปทุม ได้ยินเด็กหญิงที่หักดอกปทุมในสระร้องเพลงนี้ว่า

ดอกบัวแดง บานแต่เช้าเทียว ถูกแสงอาทิตย์ทำลายไป,

สัตว์ต่างๆ ก็เหมือนกัน ถึงความเป็นมนุษย์แล้ว

ถูกกำลังแห่งชราย่ำยีเสียได้ ฯ

ดังนี้ แล้วบรรลุพระอรหัตต์ แม้ในกาลที่เว้นว่างจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุรุษคนหนึ่ง กลับจากป่าพร้อมด้วยบุตร ๗ คน ได้ยินสตรีคนหนึ่ง กำลังใช้สากตำข้าวไปพลางร้องเพลงนี้ว่า


สรีระนี้ อาศัยหนังอันเหี่ยวแห้ง ถูกชราย่ำยี,

สรีระนี้ เป็นเหยื่อของมัจจุ ย่อมแตกไปเพราะความตาย ฯ

สรีระนี้เป็นที่ที่อยู่ของหมู่หนอน, เต็มไปด้วยซากศพต่างๆ

สรีระนี้เป็นที่เก็บของสกปรก, สรีระนี้เสมอด้วยท่อนแห่งไม้นั้น ฯ


ดังนี้แล้ว พิจารณาอยู่ ก็บรรลุพระปัจเจกพุทธเจ้าพร้อมกับบุตรทั้งหลาย ฯ


วาจาที่ประกอบด้วยองค์ห้าประการ ถึงแม้จะเป็นวาจาที่นับเนื่องในภาษามิลักขุ์ หรือแม้ที่นับเนื่องอยู่กับเพลงขับของนางเด็กหญิงผู้นำหม้อ , พึงทราบว่า วาจาแม้เช่นนั้น ก็เป็นสุภาษิตฯ สุภาษิตเท่านั้น ไม่มีโทษ และไม่เป็นที่ติเตียนแห่งกุลบุตร ผู้วิญญูชน ประสงค์แต่ประโยชน์มุ่งหวังแต่เนื้อความ, มิใช่แก่ผู้มุ่งหวังพยัญชนะ ฯ

จบ ฏีกาวาจาสูตร

หมายเหตุ ฏีกาวาจาสูตรนี้ ข้าพเจ้า Spob แปลจากคัมภีร์สารัตถมัญชุสาอังคุตรฏีกา ตติยภาคฉบับมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย หน้า ๘๘ - ๘๙

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
study
วันที่ 6 ธ.ค. 2550

ขออนุโมทนา คุณ Spob ที่นำข้อความในฎีกามาลงเพื่อการศึกษาที่ละเอียดยิ่งขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 6 ธ.ค. 2550

สาธุ สาธุ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
swanjariya
วันที่ 10 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ