แด่ผู้มีทุกข์ ๒๑ - ปริเทวะเป็นทุกข์
โทสมูลจิตนั้น เมื่อมีกำลังแรงขึ้น ก็ทำให้เกิด ปริเทวะ
ข้อความใน สัมโมหวิโนทนี ข้อ ๑๙๕ แสดงความหมายของปริเทวะว่า ...
ที่ชื่อว่า อาเทวะ เหตุร่ำไห้ ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุครวญ คือร้องไห้ อ้างถึงๆ อย่างนี้ว่า ธิดาของฉัน บุตรของฉัน ดังนี้ ของคนทั้งหลาย ที่ชื่อว่า ปริเทวะ เหตุคร่ำครวญ ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุครวญ ประกาศคุณของธิดาและบุตรนั้นๆ บทละสองๆ อื่นจาก ๒ บทนั้น
ชื่อว่า เพ้อ การเพ้ออย่างผิดรูป ด้วยอำนาจการพูดครึ่งๆ กลางๆ และพูดอย่างอื่น เป็นต้น เหตุนั้นจึงชื่อว่า วิปฺปลาป การเพ้อผิดๆ
บทว่า ลาลโป แปลว่า การพูดซ้ำๆ ซากๆ อาการแห่งการพูดซ้ำซากชื่อว่า ลาลปฺปนา ปริเทวะ นั้นมีการพูดซ้ำซาก เป็นลักษณะมีการประกาศคุณและโทษ เป็นรสะมีความหมุนไปพร้อม เป็นปัจจุปัฏฐาน
โทสมูลจิตเป็นเหตุให้เสียใจ ร้องไห้ คร่ำครวญ บ่น เพ้อต่างๆ จริงอยู่ ผู้ที่กำลังคร่ำครวญ ย่อมเอากำปั้นทุบลำตัวของตนได้ เอามือสองมือตีอก ขยี้อกได้ เอาหัวชนฝาได้ เพราะเหตุนั้น จึงเกิดทุกข์ทางกายอย่างรุนแรงขึ้นแก่ผู้นั้น เขาย่อมคิดเป็นต้นว่า ญาติของเราเท่านี้ได้ถึงความสิ้นไป เสื่อมไป ตั้งอยู่ไม่ได้อย่างยิ่งแล้ว เพราะเหตุนั้นจึงเกิดโทมนัสอย่างรุนแรงขึ้นแก่เขา พึงทราบปริเทวะว่าเป็นทุกข์ เพราะเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์ แม้ทั้งสองนี้ ด้วยประการฉะนี้
เมื่อเสียใจร้องไห้คร่ำครวญ จะมีทุกข์ทางกายบ้างไหม ถ้ายังไม่เคยโศกเศร้าเสียใจถึงอย่างนั้น ก็จะไม่ทราบว่าจะทำให้เกิดทุกข์ทางกายได้อย่างไรบ้าง แต่ผู้ที่ร้องไห้คร่ำครวญมากๆ ย่อมจะรู้ว่า จะมีทุกข์กายอย่างไรบ้าง ซึ่งข้อความต่อไปมีว่า
บุคคลผู้ถูกศร คือความโศก กำจัดวิเศษแล้ว คือถูกความโศกกำจัดยิ่งแล้ว คร่ำครวญอยู่ย่อมประสบทันทีซึ่งทุกข์ใดอันเกิดแต่ความแห้งที่คอ ริมฝีปาก และพื้นเพดานที่ทนไม่ได้อย่างเหลือประมาณยิ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัส ปริเทวะ ความคร่ำครวญ ว่าเป็นทุกข์ โดยทุกข์นั้นแล
ขอเชิญคลิกอ่านตอนต่อไป ...