แด่ผู้มีทุกข์ ๒๕ - ทุกข์เพราะประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก
ต่อไปก็เป็นชีวิตประจำวัน คือ การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ที่ทำให้เกิดโทมนัสหรือทุกข์ขึ้น มีข้อความอธิบายว่า ...
อัปปิยสัมปโยคคือ บทว่า "ที่เขาไม่ต้องการ" คือ โดยอรรถว่า ที่เขาไม่แสวงหา
เวลาที่ท่านผู้ฟังได้อะไรที่ท่านไม่ต้องการ ก็หมายความว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งซึ่งท่านไม่ได้แสวงหา
บทว่า ที่เขาไม่ต้องการนี้ เป็นชื่อของอารมณ์ที่ไม่น่าพึงใจทั้งหลาย อันเขาไม่พึงแสวงหา ธรรมมีรูปเป็นต้นเหล่าใด ไม่ก้าวไป คือไม่ก้าวไปในใจ เหตุนั้นธรรมมีรูปเป็นต้นเหล่านั้น จึงชื่อว่า อกนฺตา ไม่ก้าวไปในใจ (อยู่ข้างนอก คือเห็นก็ผ่านไป ไม่ได้สนใจ ไม่ได้ใส่ใจ ไม่ได้ติดใจ ไม่ได้ต้องการ ไม่ได้แสวงหา)
ธรรมเหล่าใด ย่อมไม่เอิบอาบในใจ หรือย่อมไม่ยังใจให้เจริญ เหตุนั้น ธรรมเหล่านั้น จึงชื่อว่า อมนาปา ไม่เอิบอาบใจหรือผู้ไม่ให้ใจเจริญ คือไม่น่าพึงใจ
ชื่อว่า "สงฺคติ" การไปพร้อม "สมาคโม" ความมาพร้อม ภาวะที่ร่วมกันในการยืนและนั่ง เป็นต้น ชื่อว่า "สโมธานํ" การประชุม การทำกิจทั้งปวงร่วมกัน ชื่อว่า "มิสฺสีภาโว" ความเป็นผู้ปะปน
อัปปิยสัมปโยค ทุกข์นั้นมีการประชุมสิ่งที่เขาไม่ปรารถนา เป็นลักษณะ มีการทำความกระทบจิตใจด้วยอาการต่างๆ เป็นรสะ มีภาวะที่ไร้ประโยชน์ เป็นปัจจุปัฏฐาน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นทุกข์ เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์แม้ทั้งสองอย่างแก่ผู้ที่ประจวบแล้วกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก (ลองพิจารณาว่า สิ่งที่ไม่เป็นที่รักในชีวิตของทุกๆ ท่านคืออะไรบ้าง) จริงอยู่ วัตถุที่เขาไม่ปรารถนาแล้ว (หมายถึงสิ่งของ) ถึงการประชุมเข้าแล้วย่อมให้เกิดทุกข์แม้ทางกาย โดยการเจาะ การตัด และการผ่า เป็นต้น แม้ทางใจ โดยนัยอันเกิดแต่ความหวาดกลัวขึ้นได้
สิ่งที่ไม่ปรารถนาทางกาย คือไม่ปรารถนาที่จะให้รูปซึ่งเป็นอันตรายกระทบร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นมีด เป็นปืน เป็นวัตถุใดๆ ก็ตาม ซึ่งจะทำให้ร่างกายปวดเจ็บ เป็นทุกข์ทรมาน นั่นคือ วัตถุที่ไม่น่าปรารถนา แม้ทางใจก็มีทุกข์ เวลาประจวบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจก็ทำให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นได้
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงตรัสไว้ ดังนี้ว่า ...
เพราะเห็นสัตว์อันไม่เป็นที่รักทีเดียว จึงมีทุกข์ที่ใจก่อน และมีทุกข์อันเกิดแต่ความพยายามของสัตว์อันไม่เป็นที่รักนั้นที่กาย เหตุใด เพราะเหตุนั้นพึงทราบความสมาคมกับสัตว์อันไม่เป็นที่รักนั้นว่า อันพระพุทธเจ้า ตรัสว่าเป็นทุกข์ เพราะเป็นวัตถุที่ตั้งแม้แห่งทุกข์ทั้งสอง ในโลกนี้
ท่านคงจะเคยมีคนที่ท่านไม่ชอบ ซึ่งแม้เพียงเห็นก็ไม่สบายใจแล้ว ไม่อยากเห็น บางทีถ้าทราบว่าคนนั้นจะไปที่ไหน ท่านก็ไม่ไป เพราะว่าไม่ต้องการที่จะพบเห็นคนที่ท่านไม่พอใจ นั่นคือ การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก และถ้าไม่ชอบมากกว่านั้นอีกคือ โจรผู้ร้ายต่างๆ ซึ่งไม่มีใครชอบเลย เวลาเห็นขโมย โจร นอกจากไม่พอใจแล้ว ก็ยังถึงกับหวาดกลัวด้วย ขณะที่กำลังหวาดกลัวนั้นก็เป็นทุกข์ เมื่อเห็นผู้ไม่เป็นที่รักนั้นเพียงเห็นก็เป็นทุกข์ และเห็นกันต่อไปนานๆ ก็อาจจะเกิดทุกข์มากกว่านั้นอีกคือ ทะเลาะกัน ตีกัน วิวาทกัน ทำร้ายกัน ฆ่ากันก็ได้ ฉะนั้น ทุกข์ซึ่งเกิดจากการประสบกับสิ่งหรือผู้ไม่เป็นที่รัก ย่อมมีตั้งแต่เล็กๆ น้อยๆ จนกระทั่งถึงกับทำให้เกิดภัยอันตรายขึ้นได้
ขอเชิญคลิกอ่านตอนต่อไป ...