อาวรณสูตร - นิวรณ์ ๕ อย่าง - ๑๕ ธ.ค. ๒๕๕o

 
บ้านธัมมะ
วันที่  9 ธ.ค. 2550
หมายเลข  5792
อ่าน  3,338

สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๑๕ ธ.ค. ๒๕๕๐ เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น.

อาวรณสูตร

ว่าด้วยนิวรณ์ ๕ อย่าง

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๑๒๓


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2550

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๑๒๓อาวรณสูตรว่าด้วยนิวรณ์ ๕ อย่าง

[๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระ-ผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ทุรพล ๕ ประการเป็นไฉน คือ นิวรณ์เครื่องกางกั้นคือ กามฉันทะ ๑ นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ พยาบาท ๑ นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ ถีนมิทธะ ๑ นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ อุทธัจจกุกกุจะ ๑ นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ วิจิกิจฉา ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้แล ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ทุรพล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นไม่ละนิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ อันครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทุรพลแล้ว จักรู้จักประโยชน์ของตน ประโยชน์ของผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ สามารถกระทำความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ด้วยปัญญาที่ไม่มีกำลัง ทุรพล ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขา ไปสู่ที่ไกล มีกระแสเชี่ยว พัดสิ่งที่จะพัดไปได้ บุรุษพึงเปิดปากเหมืองแห่งแม่น้ำนั้นทั้งสองข้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ กระแสน้ำในท่ามกลางแห่งแม่น้ำนั้น ก็ซัด ส่าย ไหลผิดทาง ไม่พึงไหลไปสู่ที่ไกล ไม่มีกระแสเชี่ยว ไม่พัดสิ่งที่พอจะพัดไปได้ ฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ไม่ละนิวรณ์ เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ อันครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทุรพลแล้ว จักรู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักทำให้แจ้ง ซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ สามารถกระทำความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ด้วยปัญญาอันไม่มีกำลัง ทุรพลข้อนั้นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นละนิวรณ์ เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้อันครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทุรพลแล้ว จักรู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ สามารถกระทำความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วยปัญญาอันมีกำลัง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ เปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขาไปสู่ที่ไกล พัดสิ่งที่พอจะพัดไปได้ บุรุษพึงปิดปากเหมืองแห่งแม่น้ำนั้นทั้งสองข้าง เมื่อเป็นเช่นนี้กระแสน้ำในท่ามกลางแม่น้ำนั้น ก็จักไม่มี ไม่ส่าย ไหลไม่ผิดทาง พึงไหลไปสู่ที่ไกลได้ มีกระแสเชี่ยว และพัดในสิ่งที่พอพัดไปได้ ฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ละนิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ อันครอบงำจิตทำปัญญาให้ทุรพลแล้ว จักรู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ สามารถกระทำความเป็นอริยะยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วยปัญญาอันมีกำลัง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้.

จบอาวรณสูตรที่ ๑

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 ธ.ค. 2550

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๑๒๓

ทุติยปัณณาสก์ นีวรณวรรควรรณนาที่ ๑

อรรถถกถาอาวรณสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในอาวรณสูตรที่ ๑ แห่งทุติยปัณณาสก์ ดังต่อไปนี้:-
กิเลสทั้งหลายชื่อว่า อาวรณะ เพราะอำนาจปิดกั้น. ที่ชื่อว่า นิวารณะ

เพราะมีอำนาจกางกั้น.
บทว่า เจตโส อชฺฌารุหา แปลว่า อันท่วมทับจิต กิเลสชื่อว่า ทำให้ปัญญาหดถอยกำลัง เพราะกระทำวิปัสสนาปัญญาและมรรคปัญญาให้เสื่อมกำลัง ด้วยอรรถว่ากางกั้นมิให้เกิดขึ้น. อีกประการหนึ่งชื่อว่า ทำปัญญาให้หดถอยกำลัง เพราะปัญญาที่คลุกเคล้าด้วยกิเลสเหล่านี้ เกิดขึ้น กิเลสเหล่านั้นทำปัญญานั้นเสื่อมกำลัง ดังนี้ก็มี.
บทว่า อพลาย ความว่า ชื่อว่าปราศจากกำลัง เพราะถูกนิวรณ์ ๕ รึงรัดไว้.
บทว่า อุตฺตรึวา มนุสฺสธมฺมา อลมริยญาณทสฺสนวิเสสํ ความว่า ซึ่งญาณทัสสนะวิเศษที่ สามารถกระทำความเป็นพระอริยเจ้าให้ได้ยิ่งไปกว่ามนุษยธรรมกล่าว คือ กุศลกรรมบถ ๑๐ อย่าง.
บทว่า หารหาริณี คือ สามารถจะพัดพาสิ่งที่พอจะพัดพาไปได้.
บทว่า นงฺคลมุขานิ แปลว่า ปากเหมือง เพราะชนทั้งหลายเรียกปากเหมืองเหล่านั้นว่า นังคลมุขานิ เพราะเหตุที่เขาเอาไถขุด ไถลงไปทำให้เป็นเหมือนรอยไถไว้.
ในบทว่า เอวเมว โข นี้ วิปัสสนาญาณพึงเห็นเป็นเหมือนกระแสน้ำ เวลาที่ภิกษุละเลยสังวรในทวารทั้ง ๖ พึงเห็นเหมือนเวลาเปิดปากเหมืองทั้งสองข้าง เวลาที่ภิกษุถูกนิวรณ์ทั้ง ๕ รึงรัดไว้ พึงเห็นเหมือนเวลาที่เมื่อเขาตอกหลักตันไม้กลางแม่น้ำแล้ว ทำทำนบกั้นด้วยใบไม้แห้ง หญ้าและดินเหนียว น้ำก็ซัดซ่ายสร่านไป เวลาที่ภิกษุไม่สามารถจะกำจัดอกุศลทั้งปวงด้วยวิปัสสนาญาณแล้วบรรลุถึงสาคร คือ ทางนิพพานได้ พึงทราบเหมือนเวลาที่เมื่อเขาทำทำนบกั้นไว้อย่างนี้ น้ำที่หมดกำลังเชี่ยวไม่สามารถจะพัดพาเอาหญ้าและใบไม้แห้งเป็นต้นไปถึงทะเลได้ ในธรรมฝ่ายดีพึงประกอบความเข้าโดยตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว ในสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ทั้งวัฏฏะและวิวัฏฏะ.

จบอรรถกถาอาวรณสูตรที่ ๑

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
spob
วันที่ 10 ธ.ค. 2550

ฏีกาอาวรณสูตร

ในอาวรณสูตรที่ ๑ ทุติยปัณณาสก์ มีอรรถาธิบาย ดังต่อไปนี้ ฯ

อาวรณะ คือ ธรรมปิดกั้น, นิวรณ์ คือ ธรรมกางกั้น ฯ ในสองคำนี้ มีความหมาย (ที่ต่างกัน) ดังนี้ - อาวรณะ หมายถึง ปิดกั้นความเกิดของกุศลธรรมครั้งแรก ฯ - นิวรณ์ หมายถึง ห้ามทั้งหมดไม่เหลือ เพราะเหตุนั้น ควรทราบคำอธิบายของข้อความในอรรถกถา ดังนี้ -:

ที่ว่า อำนาจปิดกั้น หมายถึง อำนาจในการห้ามการเกิดขึ้นของกุศล โดยครั้งแรกฯ

ที่ว่า มีอำนาจกางกั้น หมายถึง ด้วยอำนาจห้ามการเกิดขึ้นของกุศล โดยไม่มีส่วนเหลือ ฯ


ข้อความในอรรถกถาว่า ปญญาย ทุพฺพลีกรณา ทำปัญญาให้ทุรพล หมายความว่า ก็เพราะเหตุที่ นิวรณ์ ๕ เมื่อเกิด ชื่อว่า ไม่ให้ปัญญาทั้งโลกียะและโลกุตระ ที่ยังไม่เกิดให้เกิด, ทั้งยังเข้าไปตัดให้สมาบัติ ๘ หรือ อภิญญา ๕ ที่เกิดขึ้นแล้ว ตกไป ฯ ก็การเข้าไปตัดและการให้ตกไปในที่นี้ ได้แก่ การไม่ให้โอกาสเกิดขึ้นแห่งปัญญาเหล่านั้นนั่นเอง ฯ เพราะเหตุนี้ นีวรณธรรม (ธรรมเป็นตัวกางกั้น) ซึ่งเป็นเหตุไม่เกิดแห่งมหัค-คตปัญญาและอนุตตรปัญญา อีกทั้งแห่งกามปัญญาบางประเภท ยังได้ชื่อว่า ทำลายความสามารถของปัญญานอกนี้ทีเดียว เพราะฉะนั้น ท่านจึงระบุว่า นิวรณ์ ทำให้ปัญญาทุรพล

มนุสสธรรม ได้แก่ ธรรมที่มนุษย์ทั้งหลาย สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ ตามปกติ ถึงจะเว้นการใส่ใจด้วยภาวนา ก็ตาม ฯ

อีกประการหนึ่ง มนุสสธรรม คือ ธรรมที่นำภาวะคือความเป็นมนุษย์มาให้ ซึ่งได้แก่ - กามกุศล ที่ไม่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นไปแม้ในคราวที่ยังไม่มีพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติ, - กุศล ที่ตรัสไว้หมายถึงพรหมจรรย์ ในพระบาลีอาทิตตชาตกอัฏฐกนิบาต นี้ว่า"หีเนน พฺรหฺมจริเยน ขตฺติเย อุปปชฺชติ ความว่า บุคคล ย่อมเกิดในสกุลกษัตริย์เพราะพรหมจรรย์ อย่างต่ำ "

ข้อความว่า อลมริยญาณทสฺสวิเสโส ญาณทัสสนะวิเศษอันสามารถกระทำความเป็นอริยะ นี้ มีอธิบายคำศัพท์ไปตามลำดับ ดังนี้

คำว่า อลมริยะ สามารถทำความเป็นอริยะ แยกออกเป็น อลํ สามารถกระทำ +อริยาย ให้เป็นพระอริยะ หมายความว่า เหมาะสมเพื่อความเป็นพระอริยะได้ ฯ คำว่า ญาณทัสสนะ ความรู้ความเห็น นั่นเอง ชื่อว่า ญาณทัสสนะอันวิเศษ. ญาณทัสสนะอันวิเศษนั้นด้วย สามารถกระทำความเป็นพระอริยะด้วย เพราะเหตุนั้น ชื่อว่า อลมริยญาณทัสสนวิเสสะ ญาณทัสสนะวิเศษ อันสามารถกระทำความเป็นอริยะ .

ญาณทัสนะ นั้น มี ๖ ประการ ได้แก่ ๑) ทิพพจักษุ ๒) วิปัสสนา ๓) มรรค

๔) ผล ๕) ปัจจเวกขณญาณ ๖) สัพพัญญุตญาณ


ทิพพจักษุ ชื่อว่า ญาณทัสสนะ ในคำ นี้ว่า อปฺปมตฺโต สมาโน ญาณทสฺสนํ อาราเธติ เป็นผู้ไม่ประมาทยังทิพพจักษุให้สำเร็จ. (มหาสาโรปมสูตร มัชฌิมนิกาย มูล-ปัณณาสก์ ข้อ ๓๔๘ ฉบับสยามรัฐ) วิปัสสนาญาณ ชื่อว่า ญาณทัสสนะ ในคำว่า ญาณทสฺสนาย จิตฺตํ อภินีหรติ อภินนฺนาเมตํ แปลว่า ย่อมนำไป ย่อมน้อมไปซึ่งจิต เพื่อวิปัสสนาญาณ. (สามัญผลสูตรทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ข้อ ๑๓๑ ฉบับสยามรัฐ)

มรรค ชื่อว่า ญาณทัสสนะ ในคำนี้ว่า อภพฺพา เต ญาณทสฺสนาย อนุตฺตรายสมฺโพธาย แปลว่า บุคคลเหล่านั้น ไม่ควรเพื่อมรรค เพื่อการตรัสรู้อย่างยอดเยี่ยม. (สาตถสูตร อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ข้อ ๑๙๖ ฉบับสยามรัฐ)

ผล ชื่อว่า ญาณทัสสสะ ในคำนี้ว่า อยมญฺโญ อุตฺตริมนุสฺสธมฺมา อลมริยญาณทสฺสนวิเสโส อธิคโต ผาสุวิหาโร แปลว่า ได้บรรลุความรู้ความเห็นอย่างวิเศษ สามารถเป็นพระอริยะ อันเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุก อื่นจากอุตตริมนุสสธรรมนี้. (จูฬโคสิงคาลสูตรมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ข้อ ๓๖๕ ฉบับสยามรัฐ) ปัจจเวกขณญาณชื่อว่า ญาณทัสสนะ ในคำนี้ว่า ญาณญฺจ ปน เม ทสฺสนํ อุทปาทิ อกุปฺปา เม วิมุตฺติ อยมนฺติมา ชาติ นตฺถิ ทานิ ปุนพฺภโว แปลว่า ก็แหละ ความรู้ความเห็นได้เกิดขึ้นแก่เราว่า วิมุตติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้ เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ ภพใหม่ไม่มี. (ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ข้อ ๑๖๗๐ ฉบับสยามรัฐ) สัพพัญญุตญาณ ชื่อว่า ญาณทัสสนะ ในคำนี้ว่า ญาณญฺจ ปน เม ทสฺสนํ อุทปาทิ สตฺตาหกาลกโต อาฬาโร กาลาโม แปลว่า ก็แหละ ความรู้ความเห็นได้เกิดแก่เราว่าอาฬารดาบสกาลามโคตร ได้ตายมา ๗ วันแล้ว. (ปาสราสิสูตร มัชฌิมนิกาย มูล-ปัณณาสก์ ข้อ ๓๒๔ ฉบับสยามรัฐ) ส่วนในพระสูตรนี้ ประสงค์เอาโลกุตรธรรม ฯ ก็ในเรื่องญาณทัสสนะนี้ -

ทิพพจักษุ ชื่อว่า ญาณทัสสนะ เพราะย่อมรู้และย่อมเห็นรูปายตนะ เหมือนอย่างที่จักษุวิญญาณรู้อยู่ เห็นอยู่ ซึ่งรูปายตนะ ฯ

วิปัสสนา ชื่อว่า ญาณทัสสนะ เพราะย่อมรู้และย่อมเห็น ซึ่งอุปจาระแห่ง สัมมสนะและพระไตรลักษณ์แห่งธรรม ตามอาการอย่างนั้น ฯ มรรค ชื่อว่า ญาณทัสสนะ เพราะ ย่อมรู้และย่อมเห็น พระนิพพาน หรือ สัจจะทั้งสี่ โดยแทงตลอดอย่างไม่ลุ่มหลง ฯ ผล ชื่อว่า ญาณทัสสนะ นั้น ควรนำมาประกอบโดยเกี่ยวกับเป็นพระนิพพานนั่นแหละ ฯ

ปัจจเวกขณะ ชื่อว่า ญาณทัสสนะ เพราะมีความหมายว่า เป็นเครื่องส่องสภาวะที่มรรคบรรลุแล้ว โดยประการทั้งปวง ฯ พระสัพพัญญุตญาณ ชื่อว่า ญาณทัสสนะ เพราะเป็นอนาวรณญาณ (ญาณไม่มีอะไรกางกั้น) และเพราะเป็นสมันตจักษุ ฯ คำว่า พฺยาทิณฺณกาโล แก้เป็น ปริยาทินฺนกาโล แปลว่า กาลที่น้ำถูกซัดไป เหมือนกัน

จบ ฏีกาอาวรณสูตร

อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต

หมายเหตุ ฏีกาอาวรณสูตรนี้ ข้าพเจ้า Spob แปลจาก คัมภีร์สารัตถมัญชุสา อังคุตรฏีกาตติยภาค หน้า ๒๗ – ๒๘ ฉบับมหาจุฬา ฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
study
วันที่ 10 ธ.ค. 2550

ขออนุโมทนา คุณ Spob ที่มีวิริยะอุตสาหะในการแปลข้อความจากฎีกาและนำมาลง

ในกระดานสนทนานี้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาที่ละเอียดต่อไป

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
panee.r
วันที่ 11 ธ.ค. 2550

พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคท่านสอนให้ละเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์

ผู้อื่น หรือเพื่อทำให้รู้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะ แต่เการจะละนิวรณ์ทั้ง ๕ นั้น

ต้องเริ่มศึกษาให้เข้าใจความจริงว่า นิวรณ์แต่ละชนิดนั้นเป็น ธรรม ไม่ใช่

ใครเลย มีปัจจัยก็เกิดและดับทันที ซึ่งต้องทำความเข้าใจลักษณะของนิวรณ์

แต่ละชนิดเพื่อปัญญาจะได้เจริญขึ้นจนกว่าจะละได้ในวันหนึ่งข้างหน้าแต่หวัง

ไม่ได้ว่าจะเป็นวันไหน

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 11 ธ.ค. 2550

ขออนุโมทนาคุณ spob เป็นอย่างมากครับ ฎีกาที่แปลมาเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ความเข้าใจได้มากยิ่งขึ้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Buppha
วันที่ 11 ธ.ค. 2550

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Black-Garuda
วันที่ 14 ธ.ค. 2550

ขอให้การสนทนาธรรมทุกครั้ง มีผู้ฟังปฏิบัติได้ตามความจริง เพื่อบรรลุเป้าหมายนะครับ

สาธุ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ