พระราหู

 
ภัทรภร
วันที่  12 ธ.ค. 2548
หมายเลข  584
อ่าน  8,029

การกราบไหว้พระราหูมีผลต่อชีวิตอย่างไร พระราหูเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาพุทธหรือไม่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 12 ธ.ค. 2548

อสุรินทราหูเป็นเทพบุตรองค์หนึ่งเป็นผู้มีอัตตภาพใหญ่โตมาก มีปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ไม่ใช่บุคคลที่มีความสำคัญอะไร ไม่มีหลักฐานในพระไตรปิฎกและอรรถกถา แสดงว่าการกราบไหว้พระราหูมีผลอย่างไร ในสมัยครั้งพุทธกาลพุทธบริษัทกราบไหว้บูชาพระรัตนตรัยซึ่งเป็นสิ่งสูงสุด การบูชาพระรัตนตรัยด้วยการประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ย่อมพ้นจากทุกข์ แม้อสุรินทราหูก็กราบไหว้พระรัตนตรัย

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
study
วันที่ 12 ธ.ค. 2548

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 44

๕. บัญญัตติสูตร

ว่าด้วยอัครบัญญัติ ๔

[๑๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อัครบัญญัติ (บัญญัติกันว่าเยี่ยมยอด) ๔ นี้ อัครบัญญัติ ๔ คืออะไร คือ ที่เยี่ยมยอดทางอัตภาพ (ตัวใหญ่ที่สุด) ได้แก่อสุรินทราหู ที่เยี่ยมยอดทางบริโภคกาม ได้แก่ พระเจ้ามันธาตุ ที่เยี่ยมยอดทางเป็นเจ้าเป็นใหญ่ ได้แก่มารผู้มีบาป พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ปราชญ์กล่าวว่า รวมทั้งสมณพราหมณ์ ภิกษุทั้งหลาย นี้แลอัครบัญญัติ ๔

ราหูเป็นเยี่ยมทางอัตภาพ พระเจ้ามันธาตุเป็นเยี่ยมทางบริโภคกาม มารผู้รุ่งเรื่องด้วยฤทธิ์ด้วยยศ เป็นเยี่ยมในทางเป็นใหญ่ พระพุทธเจ้า ปราชญ์กล่าวว่าเป็นเยี่ยมยอดแห่งสัตว์โลกทั้งเทวดา ทั้งเบื้องสูง ท่ามกลาง เบื้องต่ำ ทุกภูมิโลก

จบบัญญัตติสูตรที่ ๕

อรรถกถาบัญญัตติสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปัญญัติสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อคฺคปญฺญตฺติโย ได้แก่ การบัญญัติสูงสุด.

บทว่า อตฺตภาวีนํ ได้แก่ มีอัตภาพทั้งหลาย.

บทว่า ยทิทํ ราหุ อสุรินฺโท ได้แก่ อสุรินทราหูนี้ ชื่อว่าเป็นยอด ได้ยินว่า ในข้อนี้ อสุรินทราหูสูง ๔,๘๐๐ โยชน์ ที่ระหว่างแขนของเขา ๑,๒๐๐ โยชน์ ฝ่ามือและฝ่าเท้าหนา ๓๐๐ โยชน์ ข้อนิ้วมือ ๕๐ โยชน์ ที่ระหว่างคิ้วของเขา ๕๐ โยชน์ หน้าผาก ๓๐๐ โยชน์ ศีรษะ ๙๐๐ โยชน์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
study
วันที่ 12 ธ.ค. 2548

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ หน้าที่ 27

ยังมีเรื่องแม้อื่นอีก ได้ยินว่า ท้าวอสุรินทรราหูสูงได้ ๔,๘๐๐ โยชน์. ระหว่างแขนของเขาวัดได้ ๑,๒๐๐ โยชน์ ระหว่างนมวัดได้ ๖๐๐ โยชน์ พื้นมือและพื้นเท้าหนาได้ ๓๐๐ โยชน์ ข้อนิ้วยาวได้ ๕๐ โยชน์ ระหว่างคิ้วกว้าง ๕๐ โยชน์. หน้ายาว ๒๐๐ โยชน์ ลึกได้ ๓๐๐ โยชน์ มีปริมณฑลได้ ๓๐๐ โยชน์ คอยาวได้ ๓๐๐ โยชน์ หน้าผากยาวได้ ๓๐๐ โยชน์ ศีรษะยาวได้ ๙๐๐ โยชน์. เขาคิดว่า เราสูงมาก จักไม่สามารถที่จะน้อมตัวลงแลดูพระศาสดาได้ ดังนี้ จึงไม่มาเฝ้า

วันหนึ่งเขาได้ฟังพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงมาด้วยคิดว่า เราจักมองดูโดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบอัชฌาสัยของเขาแล้วทรงดำริว่า เราจักแสดงด้วยอิริยาบถไหน ในบรรดาอิริยาบถทั้งสี่ ทรงดำริว่า ธรรมดาคนยืน แม้จะต่ำก็ปรากฏเหมือนคนสูง แต่เราจักนอนแสดงตนแก่เขา ดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า อานนท์ เธอจงตั้งเตียงในบริเวณคันธกุฏี แล้วทรงสำเร็จสีหไสยาสน์บนเตียงนั้น.

ท่านอสุรินทรราหูมาแล้วชูคอขึ้นมองดูพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับนอนอยู่ราวกะว่าพระจันทร์เต็มดวงในท่ามกลางท้องฟ้า และเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อสุรินทะ นี้อะไร จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์มิได้มาเฝ้าด้วยคิดว่า เราจักไม่สามารถที่จะโน้มตัวลงแลดูได้ ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อสุรินทะ เรามิได้ก้มหน้าบำเพ็ญบารมีมา เราให้ทานทำให้เลิศทั้งนั้น ดังนี้. วันนั้น อสุรินทรราหู ได้ถึงสรณะ. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงน่าดูน่าชมมิใช่น้อย ด้วยประการดังนี้

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
natre
วันที่ 6 เม.ย. 2556

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ