สติ กับ สมาธิ
สติ กับ สมาธิ ต่างกันตรงไหนครับ จะสังเกตอย่างไร
สติเป็นธรรมที่ระลึก ไม่หลงลืม เกิดกับโสภณจิต (จิตที่ดีงามเท่านั้น) สมาธิเป็นธรรมที่ตั้งมั่น เกิดกับจิตทุกชาติ (กุศล อกุศล วิบาก กิริยา)
พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ 366
[๓๘] สัมมาสติ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน
สติ ความตามระลึก ความหวนระลึก สติ กิริยาที่ระลึก ความทรงจำความไม่เลื่อนลอย ความไม่ลืม สติ สตินทรีย์ สติพละ ความระลึกชอบในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า สัมมาสติมีในสมัยนั้น
[๓๙] สัมมาสมาธิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน
ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่ส่ายไปแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบสมาธินทรีย์ สมาธิพละ ความตั้งใจชอบ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า สัมมาสมาธิมีในสมัยนั้น
สมาธิเป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ซึ่งได้แก่ เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เมื่อจิตฝักใฝ่มีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกก็ปรากฏเป็นสมาธิ คือตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเพียงอารมณ์เดียว เอกัคคตาเจตสิกที่กิดกับอกุศลจิตเป็นมิจฉาสมาธิ เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตเป็นสัมมาสมาธิ
จะรู้ได้อย่างไรว่ามีสติ
ในขณะที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม เช่น รู้ว่าความแข็งเป็นรูปธรรมอย่างหนึ่ง การเห็นเป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง ก็รู้ได้ว่าขณะนั้นมีสติ ข้อสำคัญก็คือ รู้ว่าขณะหลงลืมสติและขณะมีสตินั้นต่างกัน เช่น ขณะที่เดินหรือรับประทานอาหารนั้น บางครั้งก็หลงลืมสติ และบางขณะก็มีสติ ซึ่งก็จะรู้ความต่างกันได้ด้วยตัวเอง สติอาจจะเกิดขึ้นบ้างหลังจากที่หลงลืมสติไปมาก สภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นเป็นสติ ไม่ใช่ตัวตน เราบังคับให้สติเกิดไม่ได้ เพราะสติเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งไม่ใช่ตัวตน สติจะเกิดได้ก็เมื่อมีเหตุปัจจัย