ใบลานเปล่า [เรื่องพระโปฐิลเถระ]

 
ไตรสรณคมน์
วันที่  16 ธ.ค. 2550
หมายเลข  5885
อ่าน  6,116

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 118

๕. เรื่องพระโปฐิลเถระ [๒๐๘]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระเถระ นามว่าโปฐิละ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า " โยคา เว " เป็นต้น.

รู้มากแต่เอาตัวไม่รอด

ดังได้สดับมา พระโปฐิละนั้นเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎกในศาสนาของ พระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ บอกธรรมแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป. พระศาสดา ทรงดำริว่า " ภิกษุนี้ ย่อมไม่มีแม้ความคิดว่า ' เราจักทำการสลัดออก จากทุกข์แก่ตน; เราจักยังเธอให้สังเวช."

จำเดิมแต่นั้นมา พระองค์ย่อมตรัสกะพระเถระนั้น ในเวลาที่พระเถระมาสู่ที่บำรุงของพระองค์ว่า " มาเถิด คุณใบลานเปล่า, นั่งเถิด คุณ ใบลานเปล่า, ไปเถิด คุณใบลานเปล่า, แม้ในเวลาที่พระเถระลุกไป ก็ ตรัสว่า " คุณใบลานเปล่า ไปแล้ว." พระโปฐิละนั้นคิดว่า " เราย่อม ทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถา, บอกธรรมแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ถึง ๑๘ คณะใหญ่, ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น พระศาสดายังตรัสเรียกเราเนืองๆ ว่า ' คุณใบลานเปล่า ' พระศาสดาตรัสเรียกเราอย่างนี้ เพราะความไม่มี คุณวิเศษ มีฌานเป็นต้นแน่แท้." ท่านมีความสังเวชเกิดขึ้นแล้ว จึงคิดว่า " บัดนี้ เราจักเข้าไปสู่ป่าแล้วทำสมณธรรม" จัดแจงบาตรและจีวรเอง ทีเดียว ได้ออกไปพร้อมด้วยภิกษุผู้เรียนธรรม แล้วออกไปภายหลังภิกษุ ทั้งหมดในเวลาใกล้รุ่ง. พวกภิกษุนั่งสาธยายอยู่ในบริเวณ ไม่ได้กำหนด ท่านว่า " อาจารย์." พระเถระไปสิ้นสองพันโยชน์แล้ว, เข้าไปหาภิกษุ ๓๐ รูป ผู้อยู่ในอาวาสราวป่าแห่งหนึ่ง ไหว้พระสังฆเถระแล้ว

กล่าวว่า " ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของกระผม." พระสังฆเถระ. " ผู้มีอายุ ท่านเป็นพระธรรมกถึก, สิ่งอะไรชื่อว่า อันพวกเราพึงทราบได้ ก็เพราะอาศัยท่าน, เหตุไฉนท่านจึงพูดอย่างนี้?" พระโปฐิละ. ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงอย่าทำอย่างนี้, ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของกระผม.

วิธีขจัดมานะของพระโปฐิละ

ก็พระเถระเหล่านั้นทั้งหมด ล้วนเป็นพระขีณาสพทั้งนั้น. ลำดับนั้น พระมหาเถระ ส่งพระโปฐิละนั้นไปสู่สำนักพระอนุเถระ ด้วยคิดว่า " ภิกษุนี้มีมานะ เพราะอาศัยการเรียนแท้." แม้พระอนุเถระนั้นก็กล่าว กะพระโปฐิละนั้น อย่างนั้นเหมือนกัน. ถึงพระเถระทั้งหมด เมื่อส่ง ท่านไปโดยทำนองนี้ ก็ส่งไปสู่สำนักของสามเณรผู้มีอายุ ๗ ขวบ ผู้ใหม่ กว่าสามเณรทั้งหมด ซึ่งนั่งทำกรรมคือการเย็บผ้าอยู่ในที่พักกลางวัน. พระเถระทั้งหลายนำมานะของท่านออกได้ ด้วยอุบายอย่างนี้.

พระโปฐิละหมดมานะ

พระโปฐิละนั้น มีมานะอันพระเถระทั้งหลายนำออกแล้ว จึงประคองอัญชลีในสำนักของสามเณรแล้วกล่าวว่า " ท่านสัตบุรุษ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของผม." สามเณร. ตายจริง ท่านอาจารย์ ท่านพูดอะไรนั่น, ท่านเป็น คนแก่ เป็นพหูสูต, เหตุอะไรๆ พึงเป็นกิจอันผมควรรู้ในสำนักของท่าน พระโปฐิละ. ท่านสัตบุรุษ ท่านอย่าทำอย่างนี้, ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของผมให้ได้.

สามเณร. ท่านขอรับ หากท่านจักเป็นผู้อดทนต่อโอวาทได้ไซร้, ผมจักเป็นที่พึ่งของท่าน.

พระโปฐิละ. ผมเป็นได้ ท่านสัตบุรุษ, เมื่อท่านกล่าวว่า ' จงเข้า ไปสู่ไฟ,' ผมจักเข้าไปแม้สู่ไฟได้ทีเดียว.

พระโปฐิละปฏิบัติตามคำสั่งสอนของสามเณร

ลำดับนั้น สามเณรจึงแสดงสระๆ หนึ่งในที่ไม่ไกล แล้วกล่าวกะ ท่านว่า " ท่านขอรับ ท่านนุ่งห่มตามเดิมนั่นแหละ จงลงไปสู่สระนี้." จริงอยู่ สามเณรนั้น แม้รู้ความที่จีวรสองชั้นซึ่งมีราคามาก อันพระเถระ นั้นนุ่งห่มแล้ว เมื่อจะทดลองว่า " พระเถระจักเป็นผู้อดทนต่อโอวาทได้ หรือไม่" จึงกล่าวอย่างนั้น. แม้พระเถระก็ลงไปด้วยคำๆ เดียวเท่านั้น. ลำดับนั้น ในเวลาที่ชายจีวรเปียก สามเณรจึงกล่าวกะท่านว่า " มาเถิด ท่านขอรับ" แล้วกล่าวกะท่านผู้มายืนอยู่ด้วยคำๆ เดียวเท่านั้นว่า " ท่าน ผู้เจริญ ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง มีช่องอยู่ ๖ ช่อง, ในช่องเหล่านั้น เหี้ย เข้าไปภายในโดยช่องๆ หนึ่ง บุคคลประสงค์จะจับมัน จึงอุดช่องทั้ง ๕ นอกนี้ ทำลายช่องที่ ๖ แล้ว จึงจับเอาโดยช่องที่มันเข้าไปนั่นเอง; บรรดา ทวารทั้งหก แม้ท่านจงปิดทวารทั้ง ๕ อย่างนั้นแล้ว จงเริ่มตั้งกรรมนี้ไว้ ในมโนทวาร." ด้วยนัยมีประมาณเท่านี้ ความแจ่มแจ้งได้มีแก่ภิกษุผู้ เป็นพหูสูต ดุจการลุกโพลงขึ้นแห่งดวงประทีปฉะนั้น. พระโปฐิละนั้น กล่าวว่า " ท่านสัตบุรุษ คำมีประมาณเท่านี้แหละพอละ" แล้วจึงหยั่งลง ในกรชกาย๒ ปรารภสมณะธรรม.

ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งปัญญา

พระศาสดาประทับนั่งในที่สุดประมาณ ๑๒๐ โยชน์เทียว ทอด พระเนตรดูภิกษุนั้นแล้วดำริว่า " ภิกษุนั้นเป็นผู้มีปัญญา (กว้างขวาง) ดุจแผ่นดิน ด้วยประการใดแล; การที่เธอตั้งตนไว้ด้วยประการนั้นนั่นแล ย่อมสมควร." แล้วทรงเปล่งพระรัศมีไป ประหนึ่งตรัสอยู่กับภิกษุนั้น

ตรัสพระคาถานี้ว่า :-

๕. โยคา เว ชายตี ภูริ อโยคา ภูริสงฺขโย

เอตํ เทฺวธา ปถํ ญตฺวา ภวาย วิภวาย จ

ตถตฺตานํ นิเวเสยฺย ยถา ภูริ ปวฑฺฒติ.

" ปัญญาย่อมเกิดเพราะการประกอบแล, ความ สิ้นไปแห่งปัญญาเพราะการไม่ประกอบ, บัณฑิตรู้ ทาง ๒ แพร่ง แห่งความเจริญและความเสื่อมนั่น แล้ว พึงตั้งตนไว้โดยประการที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้."


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 16 ธ.ค. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนรัย

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 213

"หากว่า นรชนกล่าวพระพุทธพจน์อันมีประ โยชน์เกื้อกูลแม้มาก (แต่) เป็นผู้ประมาทแล้ว ไม่ทำ (ตาม) พระพุทธพจน์นั้นไซร้, เขาย่อม ไม่เป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล๒ เหมือนคนเลี้ยงโค นับโคทั้งหลายของชนเหล่าอื่น ย่อมเป็นผู้ไม่มี ส่วนแห่งปัญจโครสฉะนั้น, หากว่า นรชนกล่าว พระพุทธพจน์อันมีประโยชน์เกื้อกูล แม้น้อย (แต่) เป็นผู้มีปกติประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ไซร้, เขาละราคะ โทสะ และโมหะแล้ว รู้ชอบ มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว หมดความยึดถือในโลกนี้หรือ ในโลกหน้า, เขาย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล." อบรมเจริญกุศลทุกประการนะ มีเมตตาและขันติ เป็นต้น และการเจริญสติปัฏฐานย่อมเป็นการเป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมย่อมถึงฝั่งได้

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
devout
วันที่ 16 ธ.ค. 2550

สอนคนอื่นอย่างใดควรทำตนอย่างนั้น ฝึกตนเองได้แล้ว ค่อยฝึกคนอื่น เพราะตนเอง ... ฝึกได้แสนยาก

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 16 ธ.ค. 2550

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 70

วาจาสุภาษิตย่อมมีผลแก่ผู้ปฏิบัติ

พระศาสดา ทรงสดับถ้อยคำของพระเถระแล้ว ตรัสว่า "อานนท์ ธรรมดาธรรมที่เรา (ผู้ตถาคต) กล่าวแล้ว ย่อมไม่มีผลแก่ผู้ไม่ฟัง ไม่เรียน ไม่ท่อง ไม่แสดง โดยเคารพ ดุจว่าดอกไม้สมบูรณ์ด้วยสี (แต่) ไม่มีกลิ่น (หอม) ฉะนั้น. แต่ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก แก่ผู้ทำกิจทั้งหลายมีการฟังโดยเคารพเป็นต้น " ดังนี้แล้ว ได้ตรัสสอง พระคาถาเหล่านี้ว่า :-

"ดอกไม้งามมีสี (แต่) ไม่มีกลิ่น (หอม) แม้ฉันใด, วาจาสุภาษิตก็ฉันนั้น ย่อมไม่มีผล แก่ผู้ไม่ทำอยู่; (ส่วน) ดอกไม้งาม มีสีพร้อมด้วย กลิ่น (หอม) แม้ฉันใด, วาจาสุภาษิตก็ฉันนั้น ย่อมมีผลแก่ผู้ทำดีอยู่."

ทุกอย่างค่อยๆ อบรมได้ครับ ขณะที่ค่อยๆ เข้าใจธรรมทีละเล็กทีละน้อย ก็จะเป็นสังขาร ขันธ์ปรุงแต่งให้โสภณธรรมฝ่ายดีมากขึ้น เป็นคนมีเมตตา มากขึ้น อดทนมากขึ้นและ ก็พร้อมๆ กับเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นพระธรรม ขณะที่เข้าใจก็เป็นการปฏิบัติธรรมสมควร แก่ธรรมระดับหนึ่ง จึงเห็นประโยชน์ในการฟังพระธรรมครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านที่สนใจในพระธรรม และช่วยกันเผยแพร่พระธรรมที่ถูกต้องครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ... เพื่อนในพระธรรม

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
suwit02
วันที่ 18 ม.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 27 ก.ย. 2552

ชื่อปิดบังสิ่งทั้งปวง

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Sam
วันที่ 28 ก.ย. 2552

พระผู้มีพระภาคทรงเรียกท่านพระโปฐิละด้วยคำว่า "ใบลานเปล่า" ด้วยพระ กรุณาคุณที่จะให้ท่านพระโปฐิละได้บรรลุถึงแก่นแห่งธรรม และด้วยพระปัญญาคุณที่ ทราบว่า กิจใดควรทำเพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สาวก มิได้มีเจตาอันเป็นอกุศล เจือปนในการกล่าวเช่นนั้นเลยครับ และในทีสุด ท่านพระพระโปฐิละได้บรรลุเป็น พระอรหันต์ผู้มีปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน จึงนับได้ว่า การสะสมสุตตะของท่าน พระโปฐิละนี้ ไม่ไร้ประโยชน์ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
พุทธรักษา
วันที่ 28 ก.ย. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ